ข่าว

ตะลึง กว่า 3 พันทะเบียนสารเคมียื่นขึ้นทะเบียนมั่ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตะลึง กว่า 3 พันทะเบียนสารเคมี ยื่นขึ้นทะเบียนมั่ว ใช้เอกสารเดิมมาขึ้นใหม่ ส่งกฤษฏีกาตีความป้องผิดถึงตัวอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร

 

20 ธันวาคม 2562 เฉลิมชัย เต้นสั่งหน่วยงานตรวจแหล่งน้ำ ชี้ไม่พบสารพิษทางการเกษตร ปนเปื้อนในลำน้ำ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้รับมติกก.วัตถุอันตรายอย่างเป็นทางการแล้ว เดินหน้าปฏิบัติตามประกาศกระทรวงฯ ยันมาตรการจำกัดการใช้สาร ปลอดภัยทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภค 

 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า มาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตรตามประกาศกระทรวงฯ ไม่ได้ผล โดยระบุว่า เป็นมาตรการที่สากลปฏิบัติในการควบคุมการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่ควรจะจำกัดการใช้เฉพาะพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส แต่ควรจำกัดการใช้สารเคมีอีกหลายร้อยชนิดซึ่งมีในตลาดเนื่องจากหากใช้อย่างไม่ถูกต้องหรือใช้ในปริมาณมากเกินไปย่อมเกิดอันตรายได้ทั้งสิ้น 

 

ส่วนที่มีการกล่าวว่า พบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในแหล่งน้ำธรรมชาติ กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยหลังเกิดอุทกภัยซึ่งอยู่ระหว่างฤดูการผลิตของเกษตรกร ได้ให้ทั้งกรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดินนำน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมมาตรวจซึ่งไม่พบสารเคมีตกค้าง

 

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า มาตรการจำกัดการใช้กำหนดไว้อย่างละเอียดว่า สารเคมี 3 ชนิดใช้ได้กับพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดเท่านั้น ห้ามใช้ในพื้นที่ต้นน้ำ จำกัดปริมาณการซื้อ ผู้ขายและผู้ฉีดพ่นสารต้องได้รับการอบรมจากกรมวิชาการเกษตร ขอย้ำว่า รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ห่วงใยทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค เชื่อว่า ไม่มีใครคิดแสวงหาประโยชน์จากการไม่ยกเลิก 3 สารจึงขอให้เลิกพูดได้แล้ว หากใครคิดเช่นนั้นถือว่า ไม่ใช่คนไทยและไม่สมควรอยู่ในประเทศไทย

 

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ได้รับหนังสือรับรองมติอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้วซึ่งให้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้วัตถุอันตราย สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ยกเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยกำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563 สำหรับวัตถุอันตรายสารไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พ.ค.2561

 

รวมทั้งมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทนหรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมสำหรับวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้นำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาภายในระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันที่มีมติ

 

นายอนันต์ กล่าวว่า ได้สั่งการกรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินตามมติดังกล่าว ส่วนมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมาอย่างเคร่งครัดเนื่องจากเป็นกฎหมาย ส่วนที่มีข้อกังขาว่า เป็นมาตรการที่ไม่ได้ผลนั้น รมว. เกษตรฯ กำชับให้ดำเนินการอย่างเข้มงวดตามกฎหมายทุกข้อ ไม่มีย่อหย่อน โดยมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตรเป็นมาตรการที่นานาอารยประเทศใช้กันแล้วได้ผลดี สร้างความปลอดภัยทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภค

 

แหล่งข่าวจากกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในปี 2559 ที่มีนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ เป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ทำหนังสือที่ กษ 0927/6054 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตีความกฎหมายประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่องการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย การออกใบสำคัญ และการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2551 ซึ่งต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ว่ามิชอบด้วยกฎหมายในประเด็นสำคัญคือ


1. กรณีที่มีผู้ขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายชนิดเดียวกันจากแหล่งผลิตเดียวกันตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป ร่วมกันทำการทดลองจนได้ผลการทดลองประสิทธิภาพและพิษตกค้างแล้ว ต่อมาผู้ขอยื่นขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายรายที่ 1 ได้ใช้ผลการทดลองประสิทธิภาพและพิษตกค้างร่วมไปทำการขอขึ้นทะเบียน หากปรากฏว่าต่อมาผู้ร่วมทดลองรายที่ 2 หรือรายที่ 3 ไปยื่นคำขอขึ้นทะเบียนโดยใช้ผลการทดลองประสิทธิภาพและพิษตกค้างซึ่งได้ทำการทดลองร่วมกันดังกล่าวข้างต้นมาใช้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย

 

โดยจะถือว่าผลการทดลองดังกล่าวเป็นของผู้ร่วมทดลองในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในผลการทดลองดังกล่าวได้หรือไม่ หรือจะถือว่าเมื่อมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งนำผลการทดลองประสิทธิภาพและพิษตกค้างนั้นไปใช้แล้วบุคคลอื่นที่ร่วมกันทดลองนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าไม่สามารถนำมาใช้เพื่อประกอบการขอขึ้นทะเบียนได้อีก

 

ในส่วนการออกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นทะเบียนและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเสียก่อนโดยมาตรา 36 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 บัญญัติให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ

 

ในกรณีนี้ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจโดยเฉพาะของรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการขึ้นทะเบียนไม่สามารถมอบอำนาจให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรออกประกาศในเรื่องของการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย การออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตรได้      

 
แหล่งข่าวกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวนี้นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร คนปัจจุบัน ได้ออกร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นทะเบียน การออกใบสำคัญและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. ... เพื่อไปรับรองการจดทะเบียนย้อนหลังทั้งหมดตั้งแต่การขึ้นทะเบียน ต่ออายุ ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2551 ไม่เช่นนั้นสารเคมีที่ขึ้นทะเบียนอยู่ ณ ปัจจุบันกว่า 3,000 ทะเบียนจะเป็นโมฆะทันที ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 1,000 ทะเบียน เป็นพาราควอต และไกลโฟเซต จากเป็นสารกำจัดวัชพืชยอดฮิตของเกษตรกรไทย รวมทั้งสารทดแทนต่างๆ ก็จะต้องเซตซีโร่ใหม่ทั้งหมด


“ขณะนี้ร่างประกาศกระทรวง ฉบับใหม่ อยู่ในมือของน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ยังไม่ส่งให้รัฐมนตรีว่าการ ลงนามเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งหากเรื่องนี้กลุ่มเอ็นจีโอหรือกลุ่มที่อยากให้แบนสารเคมีอาจนำไปขยายผลเพื่อเอาผิดอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรแต่ละยุคว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และตั้งคำถามว่าทำไมไม่ทำให้ถูกต้องและการขึ้นทะเบียนสารเคมีที่ผ่านมาทำได้อย่างง่ายดาย”

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ