ข่าว

 รัฐเร่งแผนพัฒนา"แหล่งน้ำต้นทุน" รับพื้นที่อีอีซี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 รัฐเร่งแผนพัฒนา"แหล่งน้ำต้นทุน" รับพื้นที่ระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก           

         จากผลการศึกษาพบว่าในปี 2570 จังหวัดในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี(EEC:Eastern Economic Corridor)นั้นมีความต้องการน้ำสูงถึง 2,888 ล้านลบ.ม. ในขณะพื้นที่ทั้งภาคตะวันออกต้องการน้ำ 5,481 ล้านลบ.ม. และในปี 2580 ภาคตะวันออกต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้นรวมกัน 5,775 ล้านลบ.ม. ในขณะที่จังหวัดในพื้นที่อีอีซี(EEC) ประกอบด้วยฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มเป็น 3,089 ล้านลบ.ม. จะเห็นว่าจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมีความต้องการใช้น้ำมากกว่าครึ่งของความต้องการใช้น้ำทั้งภาครวมกัน

 รัฐเร่งแผนพัฒนา"แหล่งน้ำต้นทุน" รับพื้นที่อีอีซี  ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ (ขวาสุด) เลขาธิการสทนช.

 

          ด้วยเหตุนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)จึงเร่งจัดทำแผนแม่บทพัฒนาทรัพยากรน้ำเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนปัจจัยสำคัญ บรรเทาปัญหาด้านน้ำและช่วยเสริมสร้างรากฐานการพัฒนาประเทศ ทั้งในพื้นที่อีอีซี รวมถึงภาคตะวันออกทั้งหมด ครอบคลุมทั้ง 4 ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาป และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่ต่างเชื่อมโยงถึงกันให้สมดุลและเกิดประโยชน์มากที่สุด ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงการจัดการคุณภาพน้ำ และสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมด้วย  

          "นับจากวันนี้ไปอีก 20 ปีข้างหน้าพื้นที่อีอีซี(EEC)จะเกิดการขยายตัวทั้งภาคการผลิต เกษตรและอุตสาหกรรม ประชากรจะเพิ่มจาก 4 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 6 ล้านคน ความต้องการใช้น้ำภาคอุปโภคบริโภคมีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึงร้อยละ 56 รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 43 และภาคเกษตรกรรมร้อยละ 17 รวมเป็นปริมาณความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 670 ล้านลบ.ม.ต่อปี"

         ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยระบุว่า เมื่อปี 2560 พื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายกและสระแก้ว มีการใช้น้ำบาดาลและน้ำผิวดินเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และท่องเที่ยว รวมทั้งสิ้น 4,167 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เฉพาะในเขตจ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกใช้น้ำรวมกัน 2,419 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 58 ของความต้องการใช้น้ำภาคตะวันอออก

         เลขาฯ สทนช. กล่าวต่อไปว่าสำหรับเป้าประสงค์ของแผนแม่บทการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ภาคตะวันออก นอกจากที่กล่าวแล้ว ยังต้องให้เกิดการพัฒนาแหล่งน้ำบนดินและใต้ดิน เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งเก็บน้ำและระบบกระจายน้ำของเดิม เพื่อเตรียมความพร้อมด้านน้ำให้พื้นที่ทั้งหมดสามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้ทั้งอุตสาหกรรม เกษตรและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สทนช.ได้นำแผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่คาดว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติในช่วงระยะเวลาอีก 20 ปีข้างหน้า มาให้ภาคประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนพิจารณาหาข้อเสนอแนะเพิ่มเติมก่อนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ประกาศเป็นแผนแม่บทเพื่อเป็นแนวทางบริหารจัดการน้ำในทิศทางเดียวกันต่อไป

          “แผนการพัฒนามีทั้งสิ้น 30 โครงการ แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกตั้งแต่ปี 2563-2570 ประกอบด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 9 แห่ง ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำเดิมเพื่อเพิ่มความจุ 6 แห่ง ปรับปรุงระบบเครือข่ายน้ำเดิม 2 ระบบ ก่อสร้างระบบเครือข่ายน้ำใหม่ 2 ระบบ ก่อสร้างระบบสูบกลับ 2 ระบบ ขุดลอกคลองในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองพระองค์ไชยยานุชิต พัฒนาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากบางพลวงให้เป็นแก้มลิง จัดหาพื้นที่ขุดบ่อเก็บน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และสระเอกชนในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองทับมา ทั้งหมดจะได้น้ำต้นทุน 704.8 ล้านลบ.ม."

          สำหรับช่วงที่สอง ตั้งแต่ปี 2571-2580 นั้น มีการก่อสร้างระบบสูบกลับ 2 ระบบ สร้างอุโมงค์ส่งน้ำอ่างเก็บน้ำพระสะทึง-อ่างเก็บน้ำคลองสียัด และก่อสร้างระบบเครือข่ายน้ำวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ กับระบบเครือข่ายน้ำอ่างเก็บน้ำคลองโพล้-อ่างฯ ประแสร์ ได้น้ำต้นทุนทั้งสิ้นรวม 166 ล้านลบ.ม. รวมปริมาณน้ำต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2563-2580 ประมาณ 870.8 ล้านลบ.ม. นอกจากนี้ยังจะได้เสนอนวัตกรรมผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้อีก 50-75 ล้านลบ.ม. ทั้งหมดจะดำเนินการโดยผ่านหน่วยงานของกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และอิสต์ วอเตอร์(East Water) 

         นอกจากแผนเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน สทนช. ยังมีแผนจัดการความต้องการใช้น้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ส่งเสริมมาตรการ 3Rs ( Reduce:ลดการใช้ , Reuse:ใช้ซ้ำ , Recycle:นำกลับมาใช้ใหม่ ) ปรับปรุงท่อส่งจ่ายน้ำระบบประปาลดปริมาณการสูญเสีย มาตรการบังคับให้ภาคอุตสาหกรรมต้องมีบ่อสำรองน้ำไว้สำหรับฤดูแล้ง หรือใช้น้ำที่ผ่านการบำบัดไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ทบทวนพืชที่ปลูกให้สอดคล้องกับสภาพดินและศักยภาพน้ำต้นทุน ส่งเสริมเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและประหยัดทรัพยากร เป็นต้น เหล่านี้จะช่วยประหยัดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ชะลอการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่ม ลดปริมาณน้ำเสีย ได้เป็นอย่างดี

        “แผนดังกล่าวจะใช้เป็นกรอบที่จะบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกภาคส่วน ทั้งเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายที่กำกับดูแลปริมาณน้ำต้นทุน รวมถึงเครือข่ายที่ดูแลเรื่องความต้องการใช้น้ำ จะได้ยึดแผนนี้เป็นแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำภาพรวมทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เพื่อสนับสนุนให้ปัจจัยพื้นฐานนี้มีความมั่นคง เป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศต่อไป” ดร.สมเกียรติ กล่าวย้ำทิ้งท้าย

 

สทนช.ถกแผนป้องภัยแล้งมอบเจ้าภาพหลักรายพื้นที่

          การประชุมร่วมระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ 25 หน่วยงานเพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2562/63 ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีข้อสรุปที่สำคัญ 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการจัดสรรน้ำและระบายน้ำของแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งสทนช.ได้ติดตามแผนการจัดสรรน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ พบว่ามีการจัดสรรน้ำเกินแผนแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่มอก เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนกระเสียว 

 รัฐเร่งแผนพัฒนา"แหล่งน้ำต้นทุน" รับพื้นที่อีอีซี

         ที่ประชุมจึงได้เน้นย้ำกรมชลประทาน (ชป.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควบคุมการจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่ ตามปริมาณน้ำที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยขอให้จังหวัด กำกับ ดูแลพร้อมสร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาการสูบน้ำไว้ใช้ระหว่างการส่งน้ำ ทั้งนี้ หากมีเหตุจำเป็นที่ต้องมีการจัดสรรน้ำมากกว่าแผน ต้องมีการรายงานให้ สทนช.ทราบก่อนด้วย เพื่อพิจารณาความเหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้ในการจัดสรรน้ำตลอดฤดูแล้งนี้และต้นฤดูฝนปี'63

         2.การกำหนดเจ้าภาพหลักในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่เป้าหมายเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งเบื้องต้นที่ประชุมได้มอบหมายให้การประปานครหลวง (กปน.) พิจารณาการใช้น้ำจากฝั่งตะวันตกมาทดแทนการใช้น้ำจากฝั่งตะวันออกให้มากขึ้น พร้อมทั้งดำเนินการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อสำรองน้ำเพิ่มเติม ขณะที่พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคในเขตการประปาภูมิภาค (กปภ.) 48 สาขา 64 อำเภอ 26 จังหวัด ที่มีการสำรวจไว้เดิม และอีก 13 แห่งของ กปภ.ริมแม่น้ำโขง ใน 7 จังหวัด 19 อำเภอ ได้มอบหมายกรมทรัพยากรน้ำบาดาลพิจารณาสนับสนุนการดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล 13 แห่ง รวมถึงมอบกรมชลประทานจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม 19 แห่ง ส่วนอีก 29 แห่งที่เหลือให้ กปภ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับนอกพื้นที่บริการ กปภ. ที่มีความเสี่ยง 38 จังหวัด

      โดยเฉพาะประปาชุมชนและประปาหมู่บ้าน ซึ่งมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทุกปี หากพื้นที่ใดมีความเสี่ยงขาดน้ำต้องประสานกับกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดลจัดหาแหล่งน้ำผิวดิน และน้ำบาดาล เป็นแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำรวมถึงพิจารณาหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่การเกษตรที่เป็นไม้ผล พืชต่อเนื่อง ขณะเดียวกันสทนช.ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุขสำรวจพื้นที่ให้บริการต่างๆ โดยประสานกับหน่วยบริการจ่ายน้ำ เพื่อให้ได้ข้อมูลโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีความเสี่ยงขาดน้ำในฤดูแล้ง 38 จังหวัด เพื่อวางมาตรการป้องกันโดยเร่งด่วนด้วย

   และ3.การพิจารณาพื้นที่นำร่องในการกำหนดเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำสำหรับหน่วยงานเก็บกักน้ำหลากเพื่อดำเนินการในฤดูฝนหน้าโดยที่ประชุมมอบหมายให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง และทุ่งบางระกำ โดยเพิ่มเติมโครงการนำร่องพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด และบางพลวง จ.ปราจีนบุรี พร้อมทั้งให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง พิจารณาแนวทางการจ่ายค่าชดเชยตามมติครม. 3 กันยายน 2562 ที่ผ่านมาด้วย

       ทั้งนี้ สทนช.ได้สรุปผลการประชุมเพื่อนำเสนอต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมทำหนังสือถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องรับทราบมติที่ประชุมข้างต้น เพื่อให้เกิดผลที่ชัดเจนในทางปฏิบัติในการดำเนินการเชิงป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2563 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ