ข่าว

ก้าวต่อไป"หญิงแกร่งแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "สารเคมีที่เราไม่เอา เราก็ไม่ให้คนอื่นเอาเข้ามาเช่นกัน ดิฉันจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป ถ้ารัฐมนตรีคนนี้ยังอยู่จำไว้เลยว่าจะดูแลเกษตรกรให้ถึงที่สุด"

              เรียบร้อยโรงเรียนภูมิใจไทยไปแล้วสำหรับการแบน 3 สารเคมีอันตรายที่ใช้ในภาคการเกษตรอันประกอบด้วย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต หลังที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป จากนี้จะไม่มี 3 สารนี้นำมาใช้ในภาคการเกษตรอีกต่อไป ส่วนที่เหลือค้างสต๊อกอยู่ก็จะต้องทำลายทิ้ง

                     ก้าวต่อไป"หญิงแกร่งแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง"

                                   มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ

     ความสำเร็จครั้งนี้ต้องยกให้หญิงแกร่งแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง“มนัญญา ไทยเศรษฐ์”รมช.เกษตรฯ โต้โผใหญ่ หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการต่อสู้เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน 

           ว่ากันว่าเมื่อครั้งเธอเข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ ถึงกับเอ่ยปากขอเสนาบดีกระทรวงพระพิรุณทรงนาค“เฉลิมชัย ศรีอ่อน”ว่าจะขอคุมกรมวิชาการเกษตรเอง เพราะเป็นหน่วยงานต้นตอที่คุมสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิดนี้

            อันที่จริงมาตรการแบน 3 สาร ไม่ใช่นโยบายพรรคภูมิใจไทย ไม่ใช่คำสั่งของหัวหน้าพรรค“อนุทิน ชาญวีระกุล”รมว.สาธาณสุขหรือมีใครชักใยอยู่เบื้องหลัง แต่เป็นแนวคิดของมนัญญาล้วน ๆ ที่มีความตั้งใจแบน 3 สารเคมีอันตรายนี้ทันที เมื่อเข้ารับตำแหน่ง หลังที่ทนเห็นสภาพคนงานไร่อ้อยของเธอและเครือข่ายไม่ไหวที่ทะยอยเสียชีวิตกันไปทีละคนสองคนอันเป็นผลมาจากโรคมะเร็งและโรคที่เป็นผลมาจากการใช้ยาฆ่าหญ้าและยาปราบศัตรูพืช 

              “ตอนนั้นก็มีหลายคนมาพูดกับดิฉันเหมือนกันว่าไม่กลัวเหรอ มันอันตรายนะ เพราะไปกระทบผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มแล้วยังเป็นสารเคมีที่เกษตรกรใช้มายาวนาน แต่ดิฉันก็ไม่สนใจก็บอกไปว่าครอบครัวดิฉันก็เป็นเกษตรกรไม่ใช่เทวดาเหิรฟ้ามาจากที่ไหน จึงเข้าใจวิถีชีวิตของเกษตรกรดี ดิฉันต้องเอาชีวิตเกษตรกรไว้ก่อน หลายปีมานี่ดิฉันเห็นคนงานไร่อ้อยของดิฉันที่จ.อุทัยฯเสียชีวิตทุกเดือน บางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว มีอีกหลายชีวิตที่เขาต้องดูแล บริษัทค้าสารเคมีก็ร่ำรวยมามากพอแล้ว มันถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง”

            บางช่วงบางตอนที่“มนัญญา ไทยเศรษฐ์”รมช.เกษตรฯกล่าวกับพี่น้องเกษตรกร เมื่อครั้งนำคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานและเป็นประธานเปิดโรงผสมปุ๋ยสั่งตัดลดต้นทุนของสหกรณ์การเกษตรตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง พร้อมย้ำถึงเหตุผลที่ต้องแบน 3 สารดังกล่าว เพราะเป็นสารเคมีอันตรายที่มีพิษร้ายแรง แต่ไม่ได้คิดแบนปุ๋ยเคมี เพราะยังเป็นสารเคมีที่มีประโยชนฺ์ต่อพืชและเกษตรกรยังจำเป็นต้องใช้ แต่ก็พยายามรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้นด้วย

            แม้ 3 สารเคมีอันตรายจะถูกห้ามใช้ไปแล้ว แต่ในความคิดมนัญญา เป็นเพียงแค่เริ่มต้น เพราะยังมีอีกหลายมาตรการที่ต้องดำเนินการระหว่างการที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 โดยในส่วนหน่วยงานรับผิดชอบกรมวิชาการเกษตรได้สั่งการให้ตรวจสอบสต๊อกของสารเคมีทั้ง 3 ชนิดแล้วจัดการนำไปทำลายทิ้ง ขณะเดียวกันก็เข้มงวดการนำเข้าพืชผักจากต่างประเทศในทุกช่องทางตามแนวชายแดน เพื่อไม่ให้ผลผลิตทางการเกษตรที่ปนเปื้อนสารเคมีเกิตมาตรฐานเข้ามาในราชอาณาจักรไทยด้วย

 

           “เมื่อเราไม่เอาสารเคมี เราก็ไม่ให้คนอื่นเอาเข้ามาเช่นกัน ต่อไปเราจะตรวจสอบให้เข้มเลย นอกจากป้องปรามไม่ให้คนอื่นนำเข้ามาแล้ว เราจะส่งออกด้วย  เพราะเป็นผลผลิตที่ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ดิฉันจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป เราต้องรักษาเกษตรกรของเรา ถ้ารัฐมนตรีคนนี้ยังอยู่จำไว้เลยว่าจะดูแลเกษตรกรให้ถึงที่สุด”

             อย่างไรก็ตามนอกจากไทยแล้วมาเลเซีียก็มีมติให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอตด้วยเช่นกัน โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 1 เดือน หลังมีการจำกัดการใช้มาระยะหนึ่ง

            สำหรับแนวทางการช่วยเกษตรกรจากนี้ไปเธอย้ำว่าจะให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ทำการสำรวจความต้องการช่วยเหลือของเกษตรกรหลังมีการแบน 3 สารเคมี เบื้องต้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ รายงานว่า เตรียมผลักดันให้สหกรณ์จัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อให้บริการสมาชิกในราคาถูก ซึ่งจะทำรายละเอียดเพื่อเสนอรมว.เกษตรฯพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป 

 ก้าวต่อไป"หญิงแกร่งแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง"

                ขณะเดียวกันมนัญญายังมีแนวคิดจัดตั้ง"ซูปเปอร์มาเก็ตสหกรณ์"ใจกลางกรุงสำหรับวางจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรเกรดพรีเมี่ยมทั่วประเทศเพื่อเป็นช่องทางการตลาดให้กับสินค้าของสหกรณ์ โดยใช้สถานที่สหกรณ์ร้านค้าพระนคร จำกัด ตรงปากซอยอารีย์ ถ.พหลโยธิน เป็นโครงการนำร่องแห่งแรก ก่อนขยายสู่จังหวัดอื่น ๆ ต่อไป

             ซึ่งในเวลา 13.30 น.วันนี้(30 ต.ค.)รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ จะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการด้วย

 

                      อย่าบังคับเกษตรกรใช้“กลูโฟซิเนต” 

          หลังจากที่มีการแบน 3 สารเคมีอันตราย โดยเฉพาะพาราควอต สารกำจัดวัชพืชที่ได้ชื่อว่า“ถูกและดี” เป็นที่นิยมของเกษตรกร มาอย่างยาวนาน มาวันนี้ชื่อของสารเคมีอย่าง“กลูโฟซิเนต”กลับถูกพูดถึงอีกครั้งที่จะนำมาใช้ทดแทนสารพาราควอต เนื่องจากเป็นสารที่ออกฤทธิ์ได้ใกล้เคียงกัน แ่ตที่เป็นปัญหาราคาแพงกว่าหลายเท่า จึงไม่เป็นที่นิยมของเกษตรกร

          “เมื่อแบนพาราควอตแล้วจะให้เกษตรกรใช้อะไร โดยเฉพาะชาวสวนปาล์ม ชาวสวนยางอย่างพวกผม มันจำเป็นต้องใช้ เพราะเป็นต้นทุนที่ถูกที่สุด ที่ในการกำจัดวัชพืช ถ้าไม่มีพาราควอตแล้วในตลาดตอนนี้ก็มีตัวเดียวที่พอจะทดแทนกันได้คือ กลูโฟซิเนต แต่ราคาสู้ไม่ไหวแพงกว่าพาราควอตเกือบ 2 เท่าและปริมาณการใช้ต่อไร่ก็มากกว่า ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเป็นเท่าตัว”

 ก้าวต่อไป"หญิงแกร่งแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง"

         มุมมองของ"ดร.เอนก ลิ่มศรีวิไล" เกษตรกรชาวสวนปาล์ม จ.กระบี่กล่าวถึงปัญหาของเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่เกิดขึ้นหลังมีการแบน 3 สารเคมีอันตรายในเวทีเสวนาทางวิชาการเรื่อง “แบน 3 สาร อะไรจะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรกรรมไทย" จัดโดยคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน วันก่อน โดยเฉพาะพาราควอตนั้นปัจจุบันยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อภาคการเกษตรไทย โดยเฉพาะสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันในภาคใต้ที่มีการใช้สารตัวนี้มาอย่างยาวนานในการกำจัดวัชพืช  

        "ขอบอกเลยว่าขณะนี้ยังไม่มีสารเคมีกำจัดวัชพืชตัวใดที่จะมาทดแทนพาราควอตได้ และข้อมูลในต่างประเทศที่ว่าแบนกันหลาย ๆ ที่ เขาไม่ได้แบนแต่เป็นการควบคุมการใช้  เพราะในการทำเกษตรอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ พาราควอตยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้"เกษตรกรชาวสวนปาล์มคนเดิมกล่าวยืนยัน 

          อย่างไรก็ตามในเวลา 10.00 น.วันนี้(30 ต.ค.)ศาลปกครองกลางกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว กรณีมีมติยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตร 3 ชนิดที่ตัวแทนเกษตรกรปลูกไม้ผลและพืชไร่ นำโดย อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสารักแม่กลองยื่นฟ้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง รมว.เกษตรและสหกรณ์  หลังศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ ส.26/2562 เมื่อวันก่อน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-"มณัญญา" บุกกรมวิชาการเกษตร ทวงถามเอกสารสต๊อกสารพิษ
-แฉ ! กระทรวงเกษตรฯยังนำเข้าพาราควอต
-เฉลิมชัย ชงแต่งตั้งซี 10 เข้าครม. 4 ตำแหน่ง
-โยกย้าย ล็อตแรก เขย่าแรงบิ๊กเกษตร

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ