ข่าว

 ชาวนาเฮ!รับเงินส่วนต่างโครงการ"ประกันรายได้"ข้าวครบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ชาวนาเฮ!รับเงินส่วนต่างโครงการ"ประกันรายได้"ข้าวครบ 

           เริ่มทยอยจ่ายเงินกันไปแล้วสำหรับโครงการประกันรายได้พืชผลทางการเกษตรของรัฐบาล ที่มีต้นตอแนวคิดมาจากพรรคประชาธิปัตย์ โครงการนี้มุ่งเป้าใน 5 พืชเศรษฐกิจหลัก ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน 

 ชาวนาเฮ!รับเงินส่วนต่างโครงการ"ประกันรายได้"ข้าวครบ

              จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 

         “ปาล์มน้ำมัน” นั้นเริ่มจ่ายเป็นพืชแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม และทยอยจ่ายทุก 45 วัน จากนั้นก็มาถึงคิว “ข้าว” เริ่มคิกออฟเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา และยางพาราจะเริ่มจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรก 15 ธันวาคม ส่วนมันสำปะหลังและข้าวโพดรัฐบาลจะทยอยดำเนินการในระยะต่อไป 

          ในส่วนการประกันรายได้ข้าวนั้นได้มีการกำหนดข้าวเปลือกไว้ 5 ชนิด คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเจ้า(ข้าวกข.) ข้าวหอมปทุมธานี1 และข้าวเหนียว โดยข้าวเปลือกหอมมะลิรับประกันที่ตันละ 15,000 บาท  ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน, ข้าวเปลือกเจ้าหรือข้าวกข. 10,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ชาวนาที่ยังตกสำรวจขอให้รีบไปขึ้นทะเบียนตรวจสอบสิทธิที่สำนักงานเกษตรอำเภอและเปิดบัญชีกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อใช้สิทธิรับเงินประกันรายได้งวดต่อไปในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 

             โดยงวดแรกนั้นจ่ายให้กษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสำหรับผู้ที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ซึ่งจ่ายชดเชยรายได้ให้แก่ข้าวเปลือก 2 ชนิด คือ ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 2,469.64 บาท และข้าวเปลือกหอมปทุมธานีตันละ 783.45 บาท ส่วนอีก 3 ชนิด คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ และข้าวเปลือกเหนียว ไม่ชดเชย เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าเพดานของราคาประกัน ซึ่งในงวดแรกมีชาวนาที่ได้รับส่วนต่างราคากว่า 349,000 ครัวเรือน รวมเงินทั้งสิ้น 9,400 ล้านบาท 

           “พี่น้องชาวนาจะได้เงิน 2 กระเป๋า คือเงินจากการขายข้าวและเงินส่วนต่างหากราคาในตลาดไม่ถึงที่ประกันรายได้ไว้ และสำหรับชาวนาที่น้ำท่วมเจอภัยพิบัติก็ได้จะรับเงินชดเชยจากรัฐบาลตามสิทธิคู่กันไปด้วย”

             คำยืนยันของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวนาในระหว่างเป็นประธานกดปุ่มคิกออฟจ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวนา งวดแรก ณ หอประชุมเทศบาลตำบลหลักชัย อ.ลาดบัวหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา   

              สหกรณ์การเกษตรบรรพตพิสัย หมู่ 2 ต.ท่างิ้ว อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ปัจจบุันมีสมาชิกกว่า 2,000 ราย ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาปลูกข้าว ทำไร่ข้าวโพดและมันสำปะหลัง ส่วนใหญ่ได้เข้าร่วมโครงการประกันรายได้ และขณะนี้สมาชิกของสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการทุกราย ได้รับเงินส่วนต่างงวดแรกทั้งหมดแล้ว

              “สหกรณ์เรามีสมาชิกทั้งหมด 2,000 กว่าคน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา บางรายก็ทำนาปี  ส่วนพื้นที่ไหนอยู่ในเขตชลประทานก็ทำนาปรังด้วย นอกนั้นก็ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำไร่มันสำปะหลัง สมาชิกส่วนใหญ่เข้าร่วมโครงการประกันรายได้ ซึ่งขณะนี้ก็ได้รับเงินส่วนต่างจากโครงการทั้งหมดแล้ว และส่วนใหญ่จะได้รับสิทธิ์สูงสุดตามเกณฑ์ที่กำหนด”  

            นิภา ไพโรจน์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบรรพตพิสัย เผยกับ “คม ชัด ลึก” ถึงผลสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ของสมาชิก ซึ่งในพื้นที่บรรพตพิสัยส่วนใหญ่จะปลูกข้าวหอมปทุม 1 นอกนั้นเป็นข้าวพันธุ์กข.ทั่วไป แต่การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้คนที่ปลูกข้าวหอมปทุมกลับได้ส่วนต่างน้อยกว่าข้าวพันธุ์กข.  ซึ่งก็เป็นไปตามราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงจากคณะอนุกรรมการกลางเป็นผู้กำหนด

            “ข้าวหอมปทุมที่ขายอยู่ในตลาดตอนนี้อยู่ที่ 7,000 บาทต่อตันเท่านั้นเอง ปีนี้หอมปทุมราคาตกต่ำมากสู้ข้าวขาวไม่ได้” นิภาเผย พร้อมยอมรับว่าเกษตรกรมีความพึงพอใจอย่างมากกับโครงการประกัยรายได้ของรัฐบาล เพราะทำให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นจากส่วนต่างของราคาขายในท้องตลาด แต่สิ่งที่เป็นห่วงกังวลในอนาคตในแง่เสถียรภาพทางการเงินของประเทศหากรัฐบาลมีโครงการแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไปด้วย

           ขณะที่  ลุงเล็ก เลี้ยงจำปา ชาวนาใน ต.คลองพระอุดม อ.ลาดบัวหลวง จ.ปทุมธานี กล่าวกับ"คมชัดลึก"ถึงความรู้สึกดีใจไม่ต่างจากชาวนาใน อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ที่รัฐบาลมีโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยชาวนาให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แม้จำนวนเงินจะไม่มากนัก แต่ก็สามารถเยียวยาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ โดยเฉพาะต้นทุนการปลูกข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีจากปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้น ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา และค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว 

              “ที่นาผมมีอยู่ 30 ไร่เศษ ข้าวที่ปลูกทั้งหมดเป็นพันธุ์กข.57 และกข.61 ได้เงินส่วนต่างจากการเข้าร่วมโครงการมา 5 หมื่นบาท ก็ช่วยเยียวยาได้ระดับหนึ่ง ไม่งั้นแย่แน่ๆ เพราะปีนี้ราคาข้าวถูกมาก ข้าวที่ส่งโรงสีตอนนี้ราคาอยู่ที่ 7,000-8,000 บาท หลังหักค่าความชื้นเหลือประมาณ ุ6,500-7,600 บาทต่อตันเท่านั้นเอง ขณะที่ต้นทุนทำนาปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 5,000 กว่าบาทต่อไร่” ลุงเล็กเผย พร้อมยืนยันว่า

              จะไม่ยอมเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นอย่างแน่นอน เนื่องจากรักในอาชีพทำนาและยึดอาชีพนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ที่สำคัญมีโรงสีรับซื้อแน่นอน ส่วนพืชอื่นยังไม่แน่ใจในเรื่องตลาดรองรับที่ชัดเจน    

            “ข้าวของผมจะส่งให้แก่โรงสีที่ จ.ปทุมธานี แล้วก็เป็นตัวแทนรับซื้อข้าวจากชาวนาส่งโรงสีด้วย ก็พูดคุยกับเจ้าของโรงสีทุกวัน ซึ่งเขาเป็นประธานชมรมโรงสี จ.ปทุมธานีด้วย แกก็บอกกับผมนะว่าตอนนี้ข้าวขาดตลาดนะ แต่ทำไมราคายังไม่ขึ้น จึงอยากฝากไปยังรัฐบาลให้เข้ามาดูกลไกตลาดในส่วนนี้ด้วย” ลุงเล็กกล่าวย้ำทิ้งท้าย

              ทั้งนี้ จากข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตรได้รายงานผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีตามรายแปลงในฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 ณ วันที่ 22 กันยายน 2562 มีจำนวน 4.22 ล้านครัวเรือน 7.976 ล้านแปลง รวมพื้นที่ 57.6 ล้านไร่ ขณะที่แผนการผลิตข้าวปีการผลิต 2562/2563 ตั้งไว้ที่ 72.0866 ล้านไร่ ผลผลิต 34.6213 ล้านตันข้าวเปลือก แยกไว้เป็นข้าวรอบที่ 1 พื้นที่ 58.9 ล้านไร่ ผลผลิต 25.4 ล้านตันข้าวเปลือก และข้าวรอบที่ 2 พื้นที่ 13.8 ล้านไร่ ผลผลิต 9.14 ล้านตันข้าวเปลือก

 

              สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้ เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2562/63 รอบที่ 1 กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2562 (ยกเว้นภาคใต้ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน – 28 กุมภาพันธ์ 2563) และต้องแจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยว เพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้รับสิทธิชดเชย โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำแนกตามช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวและคำนวณปริมาณผลผลิต โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวแต่ละชนิดคูณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ เป็นปริมาณผลผลิตที่ต้องชดเชย แต่ต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ข้างต้น ส่งให้ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นข้อมูลในการจ่ายเงิน จากนั้น ธ.ก.ส.จะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบจากคณะอนุกรรมการฯ 

 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-จุรินทร์ เคาะประกันรายได้มันสำปะหลัง 2.5 บาทต่อ กก.
-จาก"ประกันรายได้"สู่"ปลูกพืชร่วมยาง"ทางรอดเกษตรกร
-ชาวสวนมันสำปะหลังเฮลั่น "จุรินทร์" เร่งช่วยประกัน
-ธ.ก.ส. ดีเดย์จ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ