ข่าว

 2ปีสทนช.กับเป้าหมายบริหารจัดการน้ำยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 2ปีสทนช.กับการเติบโตที่ท้าทาย สู่เป้าหมายบริหารจัดการน้ำยั่งยืน

           เดินทางมาครบ 2 ปีแล้วในวันนี้(25 ต.ค.)สำหรับหน่วยงานนโยบายบริหารจัดการน้ำของประเทศ"สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติหรือสทนช."ที่จัดตั้งขึ้น ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 46/2560 ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศทั้งระบบมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว ลดความซ้ำซ้อน โดยจะทำหน้าที่ในการบูรณาการงาน ข้อมูล แผนงาน โครงการ งบประมาณ ตลอดจนการติดตามประเมินผล และการควบคุมการปฏิบัติงาน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน 

 2ปีสทนช.กับเป้าหมายบริหารจัดการน้ำยั่งยืน      ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช.

 

      “ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สทนช.ได้ดำเนินงานตามภารกิจด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาและวางรากฐานงานด้าน “ น้ำ ” ของประเทศอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนในทุกมิติ โดยได้มีการน้อมนำศาสตร์พระราชา ตลอดจนแนวทางตามพระราชดำริที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการการดำเนินงานของหน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับและทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกันเพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริงและขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเต็มประสิทธิภาพ”

         ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช.เผยถึงผลการดำเนินงานตามภารกิจของสทนช.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ตามมติคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 โดยได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ประกอบด้วย

 2ปีสทนช.กับเป้าหมายบริหารจัดการน้ำยั่งยืน

        แผนแม่บทด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อให้ทุกหมู่บ้านและชุนชนเมืองมีน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภคครบทุกหมู่บ้านภายในปี 2573 โดยขณะนี้ได้จัดทำประปาหมู่บ้านแล้วเสร็จ 7,320 หมู่บ้าน ที่เหลืออีก 170 หมู่บ้าน จะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2562 เพิ่มเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน 1,837 หมู่บ้าน จากเป้าหมาย 14,534 หมู่บ้าน ส่วนการขยายเขตประปาเมืองดำเนินการไปแล้ว 453 แห่ง จากเป้าหมาย 10,070 แห่ง

        แผนแม่บทด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ในปี 2562 ได้มีการก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ ในเขตชลประทานเพิ่มขึ้น 166 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ทำให้มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 150,793 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝนเพิ่มขึ้น 233 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 22,920 ไร่

       แผนแม่บทด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ในปี 2562 ได้มีการปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 8 แห่ง เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำภายในประเทศ 12 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง แผนแม่บทด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 100 แห่ง คงเหลือ 641 แห่ง

    แผนแม่บทด้านที่ 5การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน ในปัจจุบันได้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่าต้นทุนที่เสื่อมโทรมคิดเป็นพื้นที่ 60,000 ไร่ จากเป้าหมาย 3.52 ล้านไร่และแผนแม่บทด้านที่ 6 การบริหารจัดการ ในปัจจุบันได้ออกกฎหมายที่สำคัญมาแล้วหลายฉบับ สำหรับใช้กำหนดขอบเขตการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2561 พร้อมทั้งได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และการจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ(ใหม่) สำเร็จ

       เลขาธิการสทนช.เผยต่อว่านอกจากนี้ สทนช.ยังได้ผลักดันพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ. ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศ โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ในการบูรณาการเกี่ยวกับการจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และสิทธิในน้ำเพื่อการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างมีความเป็นเอกภาพ ประสานสอดคล้องกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน 

      ในขณะที่งานด้านนวัตกรรมและองค์ความรู้ 2 ปีที่ผ่านมา สทนช. ได้ขยายความร่วมมือด้านการต่างประเทศ พร้อมจัดทำฐานข้อมูลแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับชุมชนเพื่อแสวงหาบริบทการพัฒนาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานของไทยให้กับต่างประเทศ และเป็นตัวแทนรัฐบาลไทย เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลและลงนามบันทึกความร่วมมือในเวทีนานาชาติ

       “การทำงานของ สทนช. ได้ตั้งปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อนำพาประเทศไปสู่การมีภูมิคุ้มกันและความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยยึดมั่นในประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด” ดร.สมเกียรติกล่าวย้ำในหลักการทำงานที่สทนช.ยึดมั่นตลอด 2 ปีที่ผ่านมาและตลอดไป  

 

  สทนช.เดินหน้าร่วมมือกับต่างชาติด้านน้ำ 

         สทนช.เดินหน้าขยายความร่วมมือกับต่างประเทศ พร้อมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางความร่วมมือ (Hub) ของแม่น้ำโขง

     ดร.สมเกียรติิ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีในการก่อตั้ง สทนช. ที่ผ่านมา สทนช.ได้ขยายความร่วมมือด้านการต่างประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานของไทยให้กับต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา สทนช.ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทย เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลและลงนามบันทึกความร่วมมือในเวทีนานาชาติ อาทิ การลงนามบันทึกความเข้าใจกับประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 2561 ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องน้ำและมีการติดต่อสัมพันธ์กับไทยมาโดยตลอด

       นอกจากนี้รัฐบาลฮังการีได้ร่วมหารือกับ สทนช. ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางน้ำของภูมิภาค โดยได้แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำดานูบร่วมกับ 10 ชาติสมาชิกของฮังการี ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับความร่วมมือในการบริหารลุ่มน้ำโขงระหว่างไทยกับ 5 ชาติสมาชิก ตลอดจนได้นำความรู้การบริหารจัดการน้ำเสียที่นำบางส่วนมาบำบัดแล้วใช้ต่อ และสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้ มาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการน้ำเสียของไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

       ส่วนภูมิภาคเอเชีย สทนช. ยังมีบทบาทสำคัญในเวทีสภาน้ำเอเชีย (Asia Water Council) ซึ่งเป็นองค์กรระดับภูมิภาคของสภาน้ำโลก (World Water Council) มีสมาชิก 130 องค์กรทั่วโลกโดย AWC เป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมด้านน้ำ โดยมี เลขาธิการ สทนช. เป็นกรรมการ AWC ระหว่างปี 2559 - 2561 และปัจจุบันทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้ AWC

       นอกจากนี้ สทนช. เข้าไปมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย 6 ชาติสมาชิก ไดแก่ จีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยมีรัฐมนตรีที่กำกับดูแล สทนช. เป็นประธาน เลขาธิการ สทนช. เป็นรองประธาน และให้ สทนช. ทำหน้าที่สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ