ข่าว

 วิถีเกษตรชุมชน วิถีคนระยอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สุรัตน์ อัตตะ [email protected]

                เปิดศักราชใหม่เมืองระยองเข้าสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ 100%เพื่อก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของคนในพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาล หลังวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพวิถีเกษตรชุมชนจังหวัดระยอง ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์กรมหาชน)(สวก) สภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.)และอื่น ๆ รวม 16 หน่วยงานร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU)ความร่วมมือภายใต้โครงการเกษตรปลอดภัยเครือข่ายท่องเที่ยวเชิงสุขภาพวิถีเกษตรชุมชน จ.ระยองในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรปลอดภัยของจังหวัดสู่ตลาดโลก

 วิถีเกษตรชุมชน วิถีคนระยอง

   

          “ก่อนอื่นต้องขอแสดงความชื่นชมทุกท่านที่เอาใจใส่ในการที่จะพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อพัฒนาระบบเกษตรปลอดภัย มีการบูรณาการรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพวิถีเกษตรชุมชน โดยมีการสนับสนุนความรู้ทางวิชาการเพื่อการวิจัยและพัฒนาต้นแบบเกษตรปลอดภัยมาสู่จ.ระยอง”

           บางช่วงบางตอนที่"ดร.สาธิต ปิตุเตชะ" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจ.ระยองหลายสมัยกล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU)ความร่วมมือดังกล่าว ณ หอประชุมไพรินทร์ สถาบันวิทยสิริเมธี ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง

 วิถีเกษตรชุมชน วิถีคนระยอง

     ดร.สาธิต ปิตุเตชะ

         เขากล่าวต่อว่าโครงการนี้นอกจากเป็นการบูรณาการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกับวิถีเกษตรชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและขยายช่องทางสู่ตลาดโลกแล้วยังสอดคล้องกับการดำเนินงานของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำระดับโลกอีกด้วย ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดเพื่อรองรับการทำวิจัยและพัฒนา ต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ด้วยนวัตกรรมและเป็นหนึ่งในจุดเด่นที่สำคัญ เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจของประเทศอย่างเช่นยางพาราและสวนผลไม้

      ทั้งนี้โครงการดังกล่าวยังเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายกิจกรรมและบริการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ไปสู่กลุ่มประเทศอาเซียนหรือประชาคมโลก รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนความรู้ทางวิชาการเพื่อการวิจัยและพัฒนาต้นแบบเกษตรปลอดภัยจังหวัดระยองเพื่อการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ยั่งยืนอีกด้วย

      "จังหวัดระยองอยู่ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมีจีดีพีสู่กว่าอีสานทั้งภาค แต่ประเด็นสำคัญคือว่าเกษตรกรเป็นอาชีพหลักที่กระจายตัวอยู่กับพี่น้องคนไทย  อีกขาหนึ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แม้วันนี้ยืนยันว่าเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสที่3และ4จะชะลอตัว ตัวเลขที่ดีที่สุดในขณะนี้คือตัวเลขจากากรท่องเที่ยวทั้งไตรมาที่3และ4  ระยองนอกจากมีพื้นที่อุตสาหกรรมแล้วยังมีพื้นที่การเกษตร สวนผลไม้และการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้หลักให้กับคนระยอง"รมช.สาธารณสุขกล่าว พร้อมย้ำว่าการลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้จะต้องพัฒนาไปเป็นเอ็มโอดูหรือการลงมือทำในทันทีเพื่อจะได้เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

           สาธิตย้ำว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มในเรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืนที่แท้จริง โดยมีภาคอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยในเรื่องเทคโนโลยี ส่วนเรื่องต้นทุน ภูมิปัญญาไม่มีใครสู้เกษตรกรที่ีประกอบอาชีพนี้มานาน จึงมีความเชี่ยวชาญมากกว่าคนอื่น ๆ ในภาคปฏิบัติ วันนี้ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ภาคอุตสาหกรรมอย่างปตท.ยื่นมือเข้ามาช่วยในการใช้แก๊สแอลพีจีทำเป็นห้องเย้นขนาดใหญ่ในการฟีดหรือเก็บรักษาความสดของผลไม้ให้อยู่ได้นานเพื่อจะเก็บไว้จำหน่ายในนอกฤดูกาลผลิต

          “ฉะนั้นในภาคอุตสาหกรรมอุ้มเกษตรและอุ้มท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานรากจริง ๆ”รมช.สาธารณสุขกล่าวและว่าการทำเกษตรของเกษตรกรจะต้องทำเป็นเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง นั่นหมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าผลผลิตทางการเกษตรโดยทั่วไป

           พิกุล กิตติพล เจ้าของสวนไม้กฤษณา“หอมมีสุข”ในฐานะประธานวิสาหกิจชุมชนเครื่อข่ายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการดำเนินการโครงการนี้กล่าวว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ”ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรปลอดภัยจังหวัดระยองสู่ตลาดโลก"ในครั้งนี้จะช่วยให้วิสาหกิจชุมชนเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพวิถีเกษตรชุมชนจ.ระยองให้สามารถพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อพัฒนาระบบการเกษตรปลอดภัยร่วมกับองค์กรและหน่วยงานในภาคีเครือข่ายในการร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรของจังหวัดระยองอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างมุลค่าเพิ่มสู่ตลาดโลกในอนาคต

         “ตัวชี้วัดความสำเร้จคือการทำให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกพืชโดยไม่ใช่สารเคมีหรือใช้ให้น้อยที่สุดทำให้เกิดนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของจ.ระยอง มีการถอดบทเรียนเพื่อจัดตั้งสถาบันการจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพวิถีเกษตรชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของระยองไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในอนาคต”

        เธอยอมรับว่าหากพื้นที่โครงการอีอีซีพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบก็จะมีคนงานเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมากและพื้นที่แห่งนี้ก็จะสามารถรองรับคนกลุ่มนี้ในการท่องเที่ยวพักผ่อนในช่วงวันหยุด ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่และชาวจ.ระยองได้เป็นอย่างดี 

 วิถีเกษตรชุมชน วิถีคนระยอง

    อาจารย์ชัช พชรธรรมกุล รักษาการแทนรองอธิบการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้

    อาจารย์ชัช พชรธรรมกุล รักษาการแทนรองอธิบการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หนึ่งในเครือข่ายพันธมิตรกล่าวถึงทิศทางการบริหารจัดการด้านการเกษตรออร์แกนนิค อีโคกรีน ว่าการบริหารจัดการดังกล่าวเป็นแนวนโยบายที่มหาวิทยาลัยดำเนินการมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันและทุกคนให้การยอมรับว่าแม่โจ้เป็นมหาวิทยาลัยวิถีแห่งเกษตรอินทรีย์มีที่เดียวในประเทศไทย โดยมีสำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยบนเนื้อที่กว่า 907 ไร่เป็นต้นแบบของการทำเกษตรอินทรีย์ 100% นอกจากนี้รัฐบาลปัจจุบันยังให้ความสำคัญในเรื่องกัญชา โดยอนุญาตให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ปลูกกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยอีกด้วย

        “ใบรับรองอนุญาตการปลูกกัญชาของประเทศไทยตอนนี้ออกมา9ใบให้หน่วยงานการศึกษาและหน่วยงานราชการ แต่ 3 ใบอยู่ที่แม่โจ้นะครับ นี่คือสิ่งยืนยัน มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการในเรื่องนี้มานาน เรามีความุ่งมั่นที่จะทำระบบเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ทำให้เราก้าวมาถึงจุดนี้ได้  แต่ก็ยอมรับว่ายังเหนื่อยอีกนาน เพราะวันนี้ระบบการผลิตกับระบบเศรษฐกิจมันไม่ได้ไปด้วยกัน”อาจารย์ชัชกล่าว พร้อมย้ำว่าวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์คือเป้าหมายแรกในการถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้สู่เกษตรกร เนื่องจากมีความเข้มแข็งมากที่สุด ซึ่งทุกวันนี้เราได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูงในหลายจังหวัดภาคเหนือ

 วิถีเกษตรชุมชน วิถีคนระยอง

        "เรามีสโลแกนสั้น ๆ คือลดละเลิก เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ลดมัน ถึงระยะหนึ่งเราละได้ เราเลิกได้ ทุกวันนี้เราทำให้เห็นมาแล้วในพื้นที่ 907 ไร่ในพื้นที่สำนักฟารืมของมหาวิทยาลัย จนได้รับความเชื่อมั่นจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่าานอนุทิน ชาญวีรกุลได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและอนุญาตให้มีการปลูกกัญชาในพื้นที่แห่งนี้ด้วย"รักษาการรองอธิการบดีม.แม่โจ้กล่าวย้ำ  

     

            ด้าน  อุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) ในฐานะคนระยองโดยกำเนิด ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการนี้เผยว่าเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นมาเพื่อจะมารองรับอีอีซีโดยเฉพาะ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลให้โอกาสนักลงทุนมาเช่าพื้นที่ระยะยาว 99 ปีและบีโอไอ 15 ปีในอีอีซี แต่คนพื้นที่กลับไม่ได้ประโยชน์อะไร ดังนั้นแผนการผลิตเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จ.ระยองก็เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ  ทำให้ทั้งกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายทั้ง 64 แห่งในจ.ระยองจึงมีมติร่วมกันในการจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้นมา โดยมีกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)ให้การสนับสนุนในเชิงพื้นที่ เครือข่ายเกษตรกร ตลอดจนห้องแล็บที่ได้มาตรฐานในการสารเคมีตกค้างในผลผลิต นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์กรมหาชน)(สวก)อีกด้วย

        "พวกเราชาวระยองเคยผิดหวังจากโครงการอิสเทิร์นซีบอร์ดมาแล้ว ครั้งนั้นคนระยองไม่ได้อานิสงค์อะไรจากโครงการเลย นอกจากมลพิษจากโรงงาน พอมาอีอีซีครั้งนี้ก็เลยมาร่วมกันคิดแผนโครงการกันว่าพวกเราจะทำอะไรที่รองรับอีอีซีได้บ้าง ก็เลยนำจุดแข็งที่เรามีอยู่แล้วในเรื่องผลผลิตทางการเกษตร สวนผลไม้ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งเป็นที่ถวิลหาของคนในภาคอุตสาหกรรมมารองรับคนกลุ่มนี้ที่มีสตางค์ เชื่อว่าเขาพร้อมจ่ายเพื่อการบริโภคผลผลิตที่เป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพที่เป็นเทรนด์ของโลกในขณะนี้"อุทัยกล่าวย้ำทิ้งท้าย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ