ข่าว

ผวา สิงห์บุรีจระเข้หลุด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผวา สิงห์บุรี จระเข้หลุด กรมประมง ส่งทีมไกรทองจากนครสวรรค์ จับตัวได้ทันควัน รองอธิบดีผวากำชับเพิ่มมาตรการพิเศษ 19 จว.

 

12 กันยายน 2562 รองอธิบดีกรมประมง ผวากำชับเพิ่มมาตรการพิเศษ 19 จว.ประสบอุทกภัย ห้ามจระเข้หลุด ย้ำเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง 284ฟาร์ม  รีบลงตรวจสอบฟาร์มจระเข้ จ.อุบลราชธานี กำลังน้ำท่วมวิกฤติ ระบุทั่วประเทศเลี้ยงจระเข้ 76 จว.1,067ฟาร์ม”

 

  

 

 

นายถาวร ทันใจ ผู้อำนวยการกองตรวจการประมง กรมประมง เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากประมงจังหวัดสิงห์บุรี มีชาวบ้านหมู่ 2 ตำบลพักทัน อำเภอบางระจัน พบจระเข้ตัวใหญ่ในบึงหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลพักทัน ขณะทาง อบต.กำลังลอกวัชพืชในแหล่งน้ำดังกล่าววันที่ 9 ก.ย.ชาวบ้านหวั่นวิตกมากเกรงจะได้รับอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็ก กรมประมงจึงเร่งส่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการไกรทองจากจังหวัดนครสวรรค์ไปตรวจสอบและจับได้ตอนประมาณ 02.30 น.วันที่ 10 กันยายน จระเข้ที่จับได้เป็นเพศผู้ขนาด 2.50 เมตร มีสภาพสมบูรณ์ ประมงจังหวัดสิงห์บุรีได้ทำหนังสือส่งไปเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์ และรายงานให้กรมทราบแล้ว

 

นายถาวร กล่าวว่า จระเข้ตัวนี้หลุดออกมาจากฟาร์ม แต่ไม่มีผู้ใดรับเป็นเจ้าของ เนื่องจากเกรงจะมีความผิด จระเข้เป็นสัตว์ควบคุมผู้เพาะเลี้ยงต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมง ซึ่งจะต้องป้องกันไม่ให้หลุดออกมาจากสถานที่เพาะเลี้ยง ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.ประมง สำหรับเรื่องที่เป็นห่วงมากขณะนี้ คือ พื้นที่ที่เกิดอุทกภัยส่วนใหญ่มีฟาร์มเลี้ยงจระเข้ หากทางฟาร์มไม่เสริมคันบ่อไม่ใช้ตะแกรงปิดปากบ่อ และไม่ปิดทางระบายน้ำอาจทำให้มีจระเข้หลุดรอดออกมาได้

 

สำหรับการเฝ้าระวังและให้ฟาร์มจระเข้เตรียมพร้อมทำมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม รวมถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการไกรทองเมื่อเกิดอุทกภัยจึงกำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ให้ประมงจังหวัดทุกจังหวัดหมั่นไปตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของบ่อเลี้ยงทุกฟาร์ม พร้อมส่งหนังสือเตือนและคำแนะนำในการเฝ้าระวังไม่ให้จระเข้หลุด 

 

ผวา สิงห์บุรีจระเข้หลุด


สำหรับการทำงานของชุดปฏิบัติการไกรทองจะมีเจ้าหน้าที่ 5-6 คน โดยได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีคล้องจับ รวบตัว มัดปาก โดยต้องระวังไม่ให้ถูกหางฟาด เนื่องจากหากเป็นจระเข้ตัวใหญ่จะมีแรงมากทำให้บาดเจ็บได้ รวมทั้งหากจระเข้งับโดยธรรมชาติแล้วมันจะสะบัด ทำให้เกิดบาดแผลฉกรรจ์ เจ้าหน้าที่ยังต้องประเมินสถานการณ์ก่อนเข้าจับ เช่น หากจับเวลากลางวันจระเข้จะตื่นตัวต้องระมัดระวังกว่าตอนกลางคืน

 

ซึ่งจระเข้มองเห็นไม่ชัด ฝึกการดูพฤติกรรมว่าดุมากน้อยแค่ไหน หากเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์จะดุมากขึ้น ขอให้ประชาชนอย่าหวาดวิตก หากพบเห็นจระเข้ในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่าจับเองให้แจ้งเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น เพื่อประสานมายังประมงจังหวัดทันทีจะได้ส่งชุดปฏิบัติการไกรทองเข้าไปจับ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดต่อประชาชน ปีนี้กรมประมงอบรมเจ้าหน้าที่เป็นชุดปฏิบัติการไกรทอง 30 คน ซึ่งจะปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่อบรมปีก่อนรวม 80 นาย เครือข่ายไกรทองเตรียมพร้อมเฝ้าค้นหาและจับจระเข้หากได้รับแจ้งพบจระเข้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ


       

ด้านนายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีตรวจเยี่ยมฟาร์มไชยยนต์ หาทรัพย์ ฟาร์มเลี้ยงจระเข้รายใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงของบ่อเพาะเลี้ยงให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมประมงกำหนดไว้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน ตลอดจนได้มอบสิ่งของพร้อมพบปะพูดคุยเพื่อเป็นกำลังใจให้กับประชาชนผู้ประสบภัย 

 

ผวา สิงห์บุรีจระเข้หลุด

 

นายวิชาญ กล่าวว่า จากปัญหาอุทกภัยซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.จนถึงปัจจุบันและคาดการณ์ว่าจะเกิดผลกระทบยาวนานไปอีกระยะหนึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนรวมถึงเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นอย่างมาก โดยรายงานพื้นที่ความเสียหายด้านการประมงล่าสุดพบเพิ่มขึ้นเป็น 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ อุตรดิตถ์ ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย พิจิตร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ขอนแก่น นครพนม มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ และจังหวัดกระบี่พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบจากอุทกภัยประมาณ 32,241.58 ไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหายจำนวน 27,762 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 450 ล้านบาท  (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ก.ย. 62) 

 

นอกจากด้านการสำรวจความเสียหายภาคการประมงแล้ว ทางกรมประมงยังได้รับข้อร้องเรียนและสอบถามจากประชาชนเกี่ยวกับการรักษามาตรฐานความปลอดภัยกรณีที่อาจมีจระเข้หลุดรอดลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางอธิบดีกรมประมงได้คำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนจึงได้มีการสั่งการให้ทางสำนักงานประมงจังหวัดทุกจังหวัดจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกเยี่ยมเยียนให้คำแนะนำเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมให้กับฟาร์มจระเข้มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมก่อนที่จะเกิดปัญหาอุทกภัย

 

ทั้งนี้เมื่อเกิดอุทกภัยในพื้นที่ 19 จังหวัด ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่เพิ่มความระมัดระวังในการเฝ้าระวังให้มากขึ้นเข้าตรวจสอบฟาร์มต่างๆเป็นพิเศษ นอกจากนี้กรมประมงยังได้มีการจัดตั้งเครือข่ายไกรทองเพื่อเฝ้าระวังค้นหาและจับจระเข้หากได้รับแจ้งว่าพบจระเข้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเครือข่ายดังกล่าวมีทั้งหมด 8 ศูนย์ และ 43 เครือข่ายย่อยทั่วประเทศ และมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจำนวน 80 นาย ซึ่งทุกนายล้วนแต่มีความชำนาญในการจับจระเข้ในธรรมชาติและได้รับการอบรมเป็นอย่างดี  โดยศูนย์ชุดปฏิบัติการไกรทองมี 8 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง นครราชสีมา สงขลา สุราษฎร์ธานี และกระบี่
         

ผวา สิงห์บุรีจระเข้หลุด

 

ปัจจุบันในพื้นที่ 77 จังหวัดของไทยพบว่ามีผู้ประกอบการการเพาะเลี้ยงจระเข้จำนวน 76 จังหวัดมีฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้จำนวนทั้งสิ้น 1,067 ฟาร์ม โดยในพื้นที่ประสบอุทกภัย 19 จังหวัดนั้นพบว่ามีฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้รวม 284 ฟาร์ม 

 

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมฟาร์มในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้ โดยจังหวัดอุบลฯมีฟาร์มเลี้ยงจระเข้ทั้งหมดจำนวน 11 ฟาร์ม ทำเลที่ตั้งฟาร์มส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ดอนห่างไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ มีบ่อและระบบการเลี้ยงเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมประมง โดยเมื่อเกิดปัญหาอุทกภัยพบว่าผู้ประกอบการมีความสามารถในการเฝ้าระวังป้องกันจระเข้หลุดรอดลงแหล่งน้ำธรรมชาติได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย

 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากสถานการณ์น้ำในบางพื้นที่ยังน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางของประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม จึงขอฝากย้ำเตือนให้ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงจระเข้เพิ่มความระมัดระวังในการควบคุม ดูแล จระเข้ในครอบครองให้มากขึ้นเป็นพิเศษ โดยขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้ 

 

ผวา สิงห์บุรีจระเข้หลุด


 1.ตรวจสอบฟาร์มโดยเฉพาะบ่อเลี้ยงจระเข้ให้มีความแข็งแรงปลอดภัยอยู่เสมอ
 2. คัดแยกจระเข้ที่เลี้ยงในแต่ละบ่อให้มีขนาดเดียวกัน เพื่อป้องกันมิให้จระเข้ที่มีขนาดเล็กกว่าหลุดรอดลงท่อน้ำทิ้ง กรณีที่มีการทำความสะอาดบ่อเลี้ยง
 3. ปล่อยจระเข้ลงเลี้ยงในอัตราที่ไม่หนาแน่นจนเกินไป เพื่อไม่ให้จระเข้เกิดความเครียดซึ่งอาจจะทำให้จระเข้ป่วยได้ และเพื่อความสะดวกในการตรวจเช็คจำนวนจระเข้
 4.หากฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้รายใดมีความเสี่ยงต่อการหลุดรอดของจระเข้ ขอให้เจ้าของฟาร์มดำเนินการเคลื่อนย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัย และทำการแก้ไขปรับปรุงฟาร์มให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยต่อการเพาะเลี้ยง
 5.ขอให้ผู้ประกอบการติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิดพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด6. จับจระเข้ที่ได้ขนาดออกขายเพื่อลดปริมาณความหนาแน่นของจระเข้ในบ่อเลี้ยง
      
ฝากถึงพี่น้องประชาชนหากพบเห็นจระเข้ในแหล่งน้ำสาธารณะหรือแหล่งน้ำธรรมชาติโปรดแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อกรมประมง ได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 0 2562 0600 หรือหากเกษตรกรประสบปัญหาต้องการความช่วยเหลือต่างๆ สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำหรือขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ/สำนักงานประมงจังหวัด/ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงในพื้นที่ หรือกองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษกลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง กรมประมง โทรศัพท์หมายเลข  0 2558 0218 และ 0 2561 4740

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-เพจลุงตู่ ปล่อยคลิปเพลงให้กำลังใจ บิ๊กตู่ ช่วยน้ำท่วม
-เตือนชาวอุบลเตรียมรับมือน้ำก้อนใหญ่พรุ่งนี้ !!
-เจ้าของฟาร์มผงะผ่าท้องจระเข้ 4.7 เมตรเจอสิ่งปริศนา
-ยังจับไม่ได้ จระเข้ยาว 2 เมตร โผล่คลองส่งน้ำ

 

 

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ