ข่าว

    รมช.มนัญญา สั่งเร่งช่วยสมาชิกสหกรณ์ประสบภัยน้ำท่วม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

    รมช.มนัญญา สั่งเร่งช่วยสมาชิกสหกรณ์ประสบภัยน้ำท่วม

     รมช.มนัญญา สั่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ หามาตรการช่วยสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมพายุ "โพดุล" บรรเทาความเดือดร้อน พร้อมฟื้นฟูอาชีพให้ทันทีหลังน้ำลด ด้าน กสส.เตรียมวงเงินจากกองทุนกพส. 315 ล้านบาท ให้สมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากพายุโพดุล กู้ยืมปลอดดอกเบี้ย 1 ปี นำไปฟื้นฟูอาชีพ และขยายเวลาชำระหนี้อย่างน้อย  1 ปี ให้สหกรณ์ในพื้นที่ประสบภัย
    รมช.มนัญญา สั่งเร่งช่วยสมาชิกสหกรณ์ประสบภัยน้ำท่วม

    รมช.มนัญญา สั่งเร่งช่วยสมาชิกสหกรณ์ประสบภัยน้ำท่วม

            วันที่ 4 ก.ย.   นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า  จากสถานการณ์พายุโซนร้อนโพดุล ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงหนือ ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน  ส่งผลทำให้พื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านได้รับความเสียหาย จึงได้สั่งการให้นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ  อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เตรียมมาตรการช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยเฉพาะในส่วนของสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือจะเน้นดูแลเรื่องหนี้สินและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ ส่งผลทำให้ขาดรายได้ที่จะส่งชำระหนี้คืนสหกรณ์ ดังนั้น จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอวงเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิกในพื้นที่ประสบภัยครั้งนี้

    รมช.มนัญญา สั่งเร่งช่วยสมาชิกสหกรณ์ประสบภัยน้ำท่วม
    ทั้งนี้ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม และให้กำลังใจเกษตรกรและชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยในอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น พร้อมนำถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้งและน้ำดื่มไปมอบให้เพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้น ณ ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัย อบต.บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เบื้องต้นมีสหกรณ์การเกษตรโนนศิลา จำกัด สหกรณ์การเกษตรบ้านเเฮด จำกัดและสหกรณ์การเกษตรบ้านไผ่ จำกัด ที่ส่งข้อมูลขอความช่วยเหลือ เนื่องจากมีสมาชิก 2,620 ราย ได้รับความเดือดร้อน พื้นที่ไร่นาและเลี้ยงสัตว์ของสมาชิกสหกรณ์ทั้ง 3 แห่งเสียหายประมาณ 11,895 ไร่
 

               ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่ากรมได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ โดยได้เตรียมเงินกู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์( กพส.) จำนวน315 ล้านบาท เป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 1 ปี เพื่อให้สหกรณ์กู้ยืมและนำไปให้สมาชิกของแต่ละสหกรณ์กู้ปลอดดอกเบี้ยเช่นกันเพื่อฟื้นฟูอาชีพหลังเกิดภัยพิบัติจากพายุโพดุล  และยังได้ขยายเวลาชำระหนี้ให้สหกรณ์ ที่กู้เงินกพส.ก่อนหน้านี้ออกไปอย่างน้อย 1ปี   กรณีที่สหกรณ์นั้นมีเหตุที่จะแสดงได้ว่าได้รับผลกระทบจากพายุ จนไม่สามารถชำระหนี้ได้  
               ทั้งนี้  กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีหนังสือแจ้งเวียนไปทุกจังหวัดที่ประสบภัย เมื่อวันที่ 3 ก.ย.  2562  ถึงมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ กรมได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งสำรวจความเสียของสหกรณ์ที่รับผลกระทบจากพายุโพดุล ว่ามีสหกรณ์ใดบ้างที่รับได้รับผลกระทบ  จำนวนสมาชิกที่ประสบภัย   พื้นที่การเกษตรที่เสียหายและประเภทของพืชที่เสียหาย รวมถึงให้รายงานถึงความช่วยเหลือเบื้องต้นที่สหกรณ์จังหวัดได้ดำเนินการแล้วหรือกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการช่วยเหลือ ซึ่งเบื้องต้นมีประมาณ 20 จังหวัด  แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ อุดรธานี นครพนม ยโสธร มหาสารคาม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครราชสีมา ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก
               " ก่อนจะนำมาตรการบรรเทาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ที่ประสบภัยเข้าสู่ ครม.พิจารณา กรมฯจะหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ว่าควรจะเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ จากนั้นจะเร่งเสนอครม.ให้เร็วที่สุดเพื่อช่วยเหลือสมาชิก   ซึ่งจากการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมสมาชิกที่ประสบภัยที่จังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมาได้ถามความเห็นสมาชิกสหกรณ์พบว่าสิ่งที่ต้องการคือ  การพักชำระหนี้หรือขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 1-2 ปี” นายพิเชษฐ์กล่าว
                อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากการช่วยเหลือจากภาครัฐแล้ว กรมได้ขอความร่วมมือจากสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้พิจารณาช่วยเหลือสมาชิกของแต่ละสหกรณ์ด้วยเพราะอาจมีปัญหาเรื่องรายได้โดยการลด หรืองด การคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืม รวมทั้งขยายเวลาการชำระหนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่สมาชิก  และให้ใช้เงินจากกองทุนสาธารณประโยชน์ นำไปช่วยเหลือสมาชิกผู้ประสบภัย เช่นการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือการเยียวยาด้านอื่น
              ซึ่งจากการลงพื้นที่ถามความเห็นจากสมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่พบว่า สิ่งที่ต้องการและขอให้ช่วยเหลือ คือ การพักชำระหนี้หรือขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 1-2 ปี

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ