ข่าว

 การใช้โดรน (Drone)เพื่อการเกษตร ตอนที่ 2

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน โดย - รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ

           ในครั้งที่แล้วผมได้เขียนถึงเรื่องของการนำโดรนมาใช้ในภาคการเกษตร โดยชี้ให้เห็นว่ามีเหตุผลและความจำเป็นอะไรที่เกษตรกรบางส่วนมีการนำมาใช้กัน อีกทั้งเรื่องของการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นว่าจะคุ้มค่ากับการนำมาใช้หรือไม่ รวมถึงข้อจำกัดต่างๆของการใช้โดรนที่จะเกิดขึ้นจากการใช้งาน

       

    ซึ่งเป็นข้อมูลเบื้องต้นพื้นฐานที่เกษตรกรทั่วไปควรจะรู้ เพราะข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้โดรนเพื่อการเกษตรทั่วโลกตอนนี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง และนิยมใช้กันเพิ่มมากขึ้น

            โดยในประเทศไทยเองตอนนี้ก็เริ่มมีการนำโดรนมาใช้ในงานภาคการเกษตรมากขึ้น เท่าที่ผมได้คุยกับพุทธรัตน์ ผาย้อย อดีตลูกศิษย์ผมที่ตอนนี้ได้เข้าไปคลุกคลีกับเรื่องของการใช้โดรนในภาคการเกษตรได้ให้ข้อมูลว่า ในช่วงที่โดรนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นก็มีบริษัทเคมีเกษตรหลายบริษัทได้นำเข้าโดรนจากประเทศจีนเพื่อเข้ามาทำตลาดให้กับเกษตรกรส่วนหนึ่งที่สนใจในการใช้เทคโนโลยีช่วยในการทำการเกษตร

            แต่เรื่องของราคาในภาพรวมก็ยังคงมีราคาที่สูงอยู่ ซึ่งการจะซื้อมาใช้งานคงต้องมีการเลือกให้เหมาะสมกับพืชและลักษณะพื้นที่ของเกษตรกรแต่ละราย ซึ่งส่วนใหญ่ทางบริษัทที่นำเข้ามาก็จะมีการเลือกประเภทและขนาดของโดรนไว้หลายแบบเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในหลากหลายพื้นที่

            ส่วนการใช้งานโดรนที่ได้รับความนิยมในตอนนี้ ก็เป็นโดรนที่ใช้งานในการพ่นยาและสารเคมีในการบำรุงรักษาและกำจัดศัตรูพืชเป็นหลัก เพราะเป็นงานหลักที่เกษตรกรไทยเองต้องทำเป็นกิจวัตรประจำวันเองอยู่แล้วประกอบในทุกวันนี้เรื่องของการหาแรงงานช่วยในการพ่นยาหรือสารเคมีต่างๆก็ค่อนข้างหาได้ยาก

             ถึงแม้ว่าจะหาได้ก็มีราคาค่าแรงค่อนข้างสูงเมื่อคิดเป็นการลงทุนกับรายได้ที่จะได้จากผลผลิต ดีไม่ดีหักลบกลบหนี้แล้วยังขาดทุนเสียด้วยซ้ำ และยิ่งในช่วงหลังๆกระแสเรื่องของอันตรายจากการการใช้สารเคมีที่เกิดขึ้นกับตัวเกษตรกรเอง ทำให้เกษตรกรเริ่มตระหนักและห่วงสุขภาพของตัวเองขึ้นมา จึงทำให้การใช้โดรนทำงานแทนในเรื่องของการพ่นยาและสารเคมีรวมถึงปุ๋ยเริ่มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้โดรนเริ่มขายได้จนทำให้มีการนำโดรนมาเข้าขายเพิ่มขึ้น

            คุณพุทธรัตน์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมและย้ำว่า ที่สำคัญกว่าตัวเครื่องโดรนก็คือเรื่องของตัวซอฟแวร์หรือแอพพลิเคชั่นที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของโดรนในแง่ของการบินได้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การควบคุมการพ่นสารเคมี การควบคุมการผสมสารเคมี ที่จะทำให้มีการคำนวณปริมาณของส่วนผสมให้เหมาะสมกับพืชและพื้นที่ หรือเป็นการใช้งานให้ได้ประโยชน์สูงสุดแต่ก็มีความประหยัดสูงสุดเช่นกัน รวมถึงความยืดหยุ่นและใช้งานง่ายของแอพพลิเคชั่นที่จะทำให้ผู้ใช้งานหรือเกษตรกรสามารถควบคุมการบินและสั่งการทำงานได้ง่ายที่สุด รวมถึงความปลอดภัยในการใช้งานที่ไม่อาจละเลยได้เช่นกัน

       

 

 

     ซึ่งก็โชคดีที่พวกแอพพลิเคชั่นต่างๆที่จะใช้ในการควบคุมโดรนในการบินและการทำงานในด้านการเกษตรนั้น สามารถพัฒนาและปรับปรุงได้อย่างเหมาะสมด้วยฝีมือของคนไทยเราเองด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้นแม้ว่าตัวเครื่องเราอาจต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่พวกอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมต่างๆและแอพพลิเคชั่นก็สามารถผลิตและพัฒนาด้วยฝีมือของคนไทย

           ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำในบ้านเรานั่นเอง โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทเอกชนกับสถาบันการศึกษาในการวิจัยและพัฒนาให้การใช้โดรนในภาคการเกษตรเกิดประโยชน์คุ้มค่ากับราคา การลงทุนที่เหมาะสมกับการใช้งานของเกษตรไทยให้มากที่สุด 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ