ข่าว

เลขาฯ  กฟก. แจงบทบาทผู้แทนเกษตรกร ดีเดย์ 16 มิ.ย. เลือกตั้ง

เลขาฯ  กฟก. แจงบทบาทผู้แทนเกษตรกร ดีเดย์ 16 มิ.ย. เลือกตั้ง

10 มิ.ย. 2562

เลขาฯ  กฟก. แจงบทบาทผู้แทนเกษตรกร ดีเดย์ 16 มิ.ย. เลือกตั้ง

 

               เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เผยที่มาการมีผู้แทนเกษตรกร  เตรียมพร้อมเลือกตั้ง 16 มิถุนายน 2562   พร้อมเชิญชวนเกษตรกรสมาชิกออกมาใช้สิทธิให้มาก

เลขาฯ  กฟก. แจงบทบาทผู้แทนเกษตรกร ดีเดย์ 16 มิ.ย. เลือกตั้ง  นายสไกร  พิมพ์บึง

 

               นายสไกร  พิมพ์บึง  รองเลขาธิการ  รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่า การมีผู้แทนเกษตรกร เป็นกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และมาตรา 13 กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีองค์ประกอบ 3 ส่วน  ได้แก่ 1 กรรมการโดยตำแหน่งที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี  เป็นประธานกรรมการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน  2.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน 11 คน และ 3. กรรมการที่เป็นผู้แทนเกษตรกรจำนวน 20 คน   ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง  ผู้แทนเกษตรกรที่ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกองค์กรเกษตรกรใน 4 ภูมิภาค จำแนกเป็นผู้แทนภาคเหนือ 5 คน ภาคกลาง 4 คน                     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  7 คน และภาคใต้ 4 คน 

            ตามคำสั่ง คสช. ที่ 26/2560 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ให้มอบหมายให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจดำเนินการตามภารกิจ 3 เรื่อง คือ 1.การแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วน 2.การแก้ปัญหาภายในสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร   และ 3.การได้มาซึ่งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร   ซึ่งผู้แทนเกษตรกรในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ  จึงจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรเพื่อเป็นกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในวันที่ 16 มิถุนายน 2562 นี้  

  

 

           

          “จึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรสมาชิกทุกท่านออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร ในวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2562 นี้กันให้มาก ๆ  โดยนำบัตรประจำตัวประชาชน  หรือใบขับขี่  หรือเอกสารที่ทางราชการออกให้ที่มีหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และรูปถ่ายที่สามารถใช้อ้างอิงได้  ยื่นแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้งเพื่อจะใช้สิทธิเลือกตั้ง   ซึ่งเกษตรกรสมาชิกสามารถลงคะแนนเลือกผู้สมัครได้ 1 คน เพื่อให้ได้ผู้แทนเกษตรกรเข้ามาเป็นปากเป็นเสียง   ร่วมเสนอความคิดเห็น มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร  ตลอดจนการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาของเกษตรกรทั้งด้านหนี้สิน  การพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกร  และให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับเกษตรกร” นายสไกร  กล่าว