ข่าว

 นับถอยหลังเลือกตั้ง"ผู้แทนเกษตรกร"อาทิตย์ 16 มิ.ย.62

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 นับถอยหลังเลือกตั้ง"ผู้แทนเกษตรกร"อาทิตย์ 16 มิ.ย.62

 

           นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรปี 2562 หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามประกาศกำหนดวันเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรเข้าเป็นกรรมการในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเพื่อให้ได้ผู้แทนเกษตรกรร่วมเป็นคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค จำนวน 20 คน แบ่งเป็น ภูมิภาคที่ 1 ภาคเหนือ จำนวน 5 คน ภูมิภาคที่ 2 ภาคกลาง จำนวน 4 คน ภูมิภาคที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 7 คน และภูมิภาคที่ 4 ภาคใต้ จำนวน 4 คน ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายนที่จะถึงนี้ โดยมีเกษตรกรสมาชิกที่มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศครั้งนี้จำนวน 5.5 ล้านคน 

 นับถอยหลังเลือกตั้ง"ผู้แทนเกษตรกร"อาทิตย์ 16 มิ.ย.62

 

 “กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินตามนโยบายของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัมนาเกษตรกรเฉพาะกิจตามคำสั่งคสช.ที่ 26/2560 ลงวันที่ 18 มกราคม 2560 โดยให้ดำเนินการตามภารกิจ 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วน 2.การแก้ไขปัญหาภายในของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) และ 3.การได้มาซึ่งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูสำหรับการได้มาซึ่งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูนั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองในการจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรครั้งให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี”

 ดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนานับถอยหลังสู่การเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรปี 2562 ณ โรแรมแอมบาสเดอร์ จอมเทียน พัทยา ระหว่างวันที่ 3-4 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการสัมมนาจากทั่วประเทศ 1,600 คน 

   สำหรับการจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร 2562 ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการจัดหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศจำนวน 4,922 หน่วย คาดว่าเกษตรกรสมาชิกทั้ง 5.5 ล้านราย จะเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรในครั้งนี้อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกรตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ว่ามีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรและการฟื้นฟู กำหนดนโยบายและออกระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศในการบริหารกิจการกองทุน ออกระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินและการจัดหาผลประโยชน์ ระเบียบการรับขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนทะเบียนองค์กรเกษตรกร ระเบียบการพิจารณา แผนและโครงการฟื้นฟู การติดตามและประเมินผล ระเบียบการจ่ายเงินของกองทุนตามแผนและโครงการฟื้นฟู และการใช้คืนเงินให้แก่กองทุน พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายของกองทุน นอกจากนี้ยังกำกับดูแล ให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการบริหารและสำนักงาน รวมทั้งให้ความเห็นชอบในการกำหนดภาระผูกพันของกองทุน

“ขอเชิญชวนให้เกษตรกรสมาชิกทุกท่านออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรในวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. ณ หน่วยเลือกตั้งระดับตำบลตามที่อำเภอในพื้นที่กำหนดในครั้งนี้ เพื่อจะได้มีผู้แทนของเกษตรกรมาเป็นปากเป็นเสียง ร่วมเสนอความคิดเห็น แนวทางแก้ไขปัญหาของเกษตรกรทั้งด้านหนี้สิน การพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกร รวมถึงมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรในด้านต่างๆ ด้วย” รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว  

  สไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวว่า ปัจจุบันอนุมัติเงินช่วยเหลือองค์กรเกษตรกรและพัฒนาอาชีพในปี 2561 ทั้งการอุดหนุนและการให้กู้ยืม 10,454 โครงการ จำนวนเกษตรกร 494,897 ราย รวมเงินช่วยเหลือ 855.6 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูได้ขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกรผ่านโครงการส่งเสริมของรัฐ ธ.ก.ส. ธนาคารพาณิชย์ สหกรณ์การเกษตร รวม 520,052 ราย ยอดหนี้ 89,377 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ล้มละลาย 47 ราย มูลหนี้ 245 ล้านบาท ปัญหาหนี้ NPL จำนวน 2,376 ราย ยอดหนี้ 1,171 ล้านบาท สำหรับหนี้ชำระปกติ 258,945 ราย มูลหนี้ 36,686 ล้านบาท (ณ 28 ก.พ.2562)

โดยขณะนี้กฟก.ได้แก้ปัญหาหนี้เกษตรกรทั่วประเทศผ่านสถาบันเจ้าหน้าทั้ง ธ.ก.ส. ธนาคารพาณิชย์ สหกรณ์ นิติบุคคล ยอดรวม 29,241 ราย ยอดหนี้ 6,097 ล้านบาท และยังได้ช่วยรักษาที่ดินของเกษตรกรทั่วประเทศเพื่อโอนหลักประกันมายัง กฟก. จากเจ้าหนี้ 21,234 แปลง เนื้อที่ 154,334 ไร่ และได้โอนหลักประกันที่ชำระแล้วคืนไปยังเกษตรกรจำนวน 4,603 แปลง เนื้อที่ 36,010 ไร่ และได้ติดตามภาระหนี้คืนจากเกษตรกร 1,429 ล้านบาท   

อย่างไรก็ตามในประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาค ที่ผ่านมา ได้มีการอนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หลังปรับปรุงใน 3 มาตราตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ประกอบด้วย 1.กำหนดให้การชำระหนี้แทนเกษตรกรทั้งทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันและบุคคลค้ำประกัน ได้กำหนดวิธีการในการชำระหนี้แทนเกษตรกรกรณีบุคคลค้ำประกันให้ชัดเจน โดยให้กองทุนชำระหนี้แทนได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อให้สามารถขยายขอบเขตการชำระหนี้ให้ครอบคลุมเกษตรกรที่มีปัญหามากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีเกษตรกรทุกประเภทมาขึ้นทะเบียนกับกองทุนแล้วประมาณ 3.6 แสนราย มูลค่าหนี้ประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาท กรณีที่เป็นบุคคลค้ำประกันมีอยู่ประมาณ 2.4 แสนราย มูลค่าหนี้ 2.4 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยหนี้ประมาณ 9.6 หมื่นบาทต่อราย

2.มีการแก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร จากคราวละ 2 ปี เป็น 4 ปี ให้กรรมการชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการชุดใหม่เข้ารับหน้าที่และกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการของสำนักงานเพื่อให้ได้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรให้สำนักงานดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรครบวาระ ทั้งนี้เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการทำงานและเพื่อประหยัดงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งประมาณการไว้ว่าอยู่ที่ครั้งละ 80-90 ล้านบาท

  และ 3.แก้ไขให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีสำนักงานใหญ่ และสำนักงานสาขาจังหวัดตามความจำเป็น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ สามารถจัดหาที่ตั้งของสำนักงานได้ตามความจำเป็นมากขึ้น เนื่องจากพ.ร.บ.เดิมกำหนดไว้ว่าต้องมีที่ตั้งของสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น     

 

 โครงสร้างคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)

  คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) จำนวน 41 คน ประกอบด้วย

1.กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 10 คน ได้แก่ 1.นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ 2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ 3.ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ   4.ปลัดกระทรวงมหาดไทย  กรรมการ  5.ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ 6.ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ 7.ปลัดกระทรวงอุตสาหกรม กรรมการ 8.เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  กรรมการ 9.ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และ 10.เลขาธิการกองทุนฟื้นฟู เป็นเลขานุการ

2.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 11 คน ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการ จำนวน 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน จำนวน 6 คน

3.กรรมการผู้แทนเกษตรกรจำนวน 20 คน ได้แก่ ภาคเหนือ จำนวน 5 คน ภาคอีสาน จำนวน 7 คน ภาคกลาง จำนวน 4 คนและภาคใต้ จำนวน 4 คน 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ