ข่าว

 "บางระกำโมเดล"ต้นแบบแก้ปัญหาน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "บางระกำโมเดล"ต้นแบบแก้ปัญหาน้ำ จากเหนือตอนล่างสู่12ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา 

 

              “แต่เดิมนั้นในฤดูนาปี กว่าจะได้เริ่มทำนาก็ต้องรอน้ำฝน เดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน ถ้าเพาะปลูกไปแล้วเกิดฝนทิ้งช่วงก็เสียหายพอ ใกล้จะเก็บเกี่ยวผลผลิต ประมาณเดือนสิงหาคมหรือกันยายน น้ำหลากมาท่วมเสียหาย พอมาถึงฤดูนาปรัง เกษตรกรจะทำนาได้เฉพาะบางพื้นที่ มีที่นาอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือมีบ่อบาดาล แต่ทำนาไปแล้วก็มีความเสี่ยงน้ำมีไม่เพียงพออีกเป็นอย่างนี้มานาน พอมีโครงการบางระกำโมเดลเกิดขึ้น ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่มีอีกเลย "

 "บางระกำโมเดล"ต้นแบบแก้ปัญหาน้ำ

              สมศักดิ์ บ่องเขาย้อย กำนันต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก กล่าวถึงการดำเนินโครงการบางระกำโมเดล ในระหว่างที่ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย  ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ และ กำแพงเพชร พร้อมทั้งได้เปิดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูนาปี 2562 เป็นการเริ่มการดำเนินโครงการบางระกำโมเดล ปี 2562

               “โครงการบางระกำโมเดล” นั้น เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2560 ในช่วงที่ พล.อ.ฉัตรชัย ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้สั่งการให้กรมชลประทานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ ได้แก่ กองทัพภาคที่ 3 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 23 หน่วยงาน และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ร่วมกันวางแผนการปลูกพืชและบริหารจัดการน้ำในรูปแบบประชารัฐ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ในเรื่องของแก้มลิงมาใช้ในการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วม

                ในครั้งนั้นใช้ชื่อโครงการอย่างเป็นทางการว่า “โครงการบริหารจัดการน้ำแบบประชาชนมีส่วนร่วม พื้นที่ทุ่งหน่วงน้ำบางระกำ” หรือ “โครงการบางระกำโมเดล 60” โดยการปรับเปลี่ยนปฏิทินในการทำนาปีของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งบางระกำ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มแม่น้ำยมที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ พิษณุโลก และ สุโขทัย เป็นพื้นที่รวม 265,000 ไร่ ให้สามารถเพาะปลูกข้าว และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันก่อนฤดูน้ำหลาก เพื่อจะได้ใช้ทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวแล้วเป็นพื้นที่รับน้ำหลากจากแม่น้ำยม ตัดปริมาณน้ำส่วนเกินออกจากลำน้ำยม ทำให้น้ำไม่เอ่อท่วมเขตชุมชนและสถานที่ราชการจังหวัดสุโขทัย

                 จากความสำเร็จของการดำเนินโครงการบางระกำโมเดล 60 กรมชลประทานได้ขยายผลมาดำเนินงานโครงการในปี2561 และดำเนินการต่อเนื่องในปี 2562 โดยในปี 2561 ได้มีการขยายพื้นที่โครงการเพิ่มขึ้น จากเดิม 265,000 ไร่ เป็น 382,000 ไร่ รองรับปริมาณน้ำได้มากกว่า 550 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากเดิมรับน้ำได้เพียง 400 ล้าน ลบ.ม. ส่วนการดำเนินโครงการในปี 2562 ยังมีพื้นที่ดำเนินการเท่ากับปี 2561 เนื่องจากเต็มศักยภาพแล้ว แต่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ 

                ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวภายหลังลงพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล เป็นการปรับเปลี่ยนปฏิทินในการทำนาปีของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งบางระกำ เพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตข้าวจะเกิดความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งนอกจากจะทำให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ในส่วนของภาครัฐก็ได้รับประโยชน์ที่สามารถประหยัดงบประมาณที่จะจ่ายเงินชดเชยค่าความเสียหายจากน้ำท่วมอีกด้วย และที่สำคัญหลังจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิต ยังสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในเขตชุมชนและสถานที่ราชการของจังหวัดสุโขทัย ตลอดจนเป็นการหน่วงน้ำรอการระบายไม่ให้เกิดผลกระทบกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง อีกด้วย

                 "บางระกำโมเดลยังจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการทำอาชีพประมง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำ และการปล่อยน้ำให้ท่วมนาในช่วงนี้ จะทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีอาหารปลาที่สมบูรณ์ เพราะเมล็ดข้าวที่ล่วงหล่น หรือ เกิดขึ้นมาใหม่ จะเป็นอาหารของปลาอย่างดี ปลาจะชุกชุมมากเป็นพิเศษ สร้างรายได้เสริมจากอาชีพประมงให้กับเกษตรกร รวมทั้งน้ำที่เก็บกักไว้ยังสามารถนำมาบริหารจัดการใช้เป็นน้ำต้นทุนในการทำนาปรัง และการอุปโภคบริโภค ทั้งในเขตโครงการและลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างอีกด้วย

                    อธิบดีกรมชลประทานกล่าวอีกว่าสำหรับ"โครงการบางระกำโมเดล เกิดขึ้นเนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำยม เป็นเพียงลุ่มน้ำเดียวของลุ่มน้ำสาขาลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ในการเก็บกักน้ำ ทำให้ในช่วงฤดูน้ำหลากจะเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำยม ในเขตจังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย เป็นประจำ รวมทั้งยังส่งผลต่อเนื่องทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้น ระหว่างที่รอโครงการชลประทานขนาดใหญ่และสำคัญ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลจึงได้จัดทำโครงการบางระกำโมเดลขึ้นมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อที่จะบรรเทาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว” 

                  อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการน้ำในทุ่งบางระกำ ในปี 2562 นั้น กรมชลประทานได้วางแผนเตรียมการส่งน้ำเข้าสู่ระบบคลอง ตั้งแต่วันที่ 15-31 มีนาคม 2562 และส่งน้ำให้เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกพืชฤดูฝนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 และสิ้นสุดการส่งน้ำวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 จากนั้นตั้งแต่เดือน สิงหาคม – พฤศจิกายน 2562 จะเป็นช่วงเวลาหน่วงน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเตรียมพื้นที่รองรับปริมาณน้ำหลากจากอุทกภัยลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำสาขา รวมทั้งปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ 

                   นอกจากนี้จากความสำเร็จในการดำเนินโครงการบางระกำโมเดล ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการขยายผลมาดำเนินการในพื้นที่ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ใต้ จ.นครสวรรค์ ซึ่งประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก จ.สิงห์บุรี ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก จ.อ่างทอง ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และทุ่งรังสิตใต้ จ.ปทุมธานี รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.15 ล้านไร่ สามารถรองรับน้ำหลากได้ 1,533 ล้าน ลบ.ม. โดยจะให้เกษตรเริ่มการเพาะปลูกได้ในเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายน ก่อนที่จะใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากเช่นเดียวกับทุ่งบางระกำ จะทำให้สามารถรองรับน้ำหลากได้ถึงประมาณ 2,033 ล้าน ลบ.ม. หรือ เท่าๆกับปริมาณความจุของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์รวมกัน 

 

                                   

                           “เหนือ”ได้ฤกษ์เดินเครื่อง8โครงการปี2563

            พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวงระหว่างนำคณะลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ภัยแล้ง 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง โดยสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอย่างเร่งด่วน พร้อมเตรียมผุด 8 โครงการสำคัญในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ และ กำแพงเพชร ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร 

            ทั้งนี้จากการตรวจสอบพื้นที่ล่าสุดพบว่า จ.พิษณุโลกและสุโขทัย มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำต้นทุนในเขตการบริการของการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) และจ.นครสวรรค์ มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำต้นทุนนอกเขตการบริการของ กปภ. ในขณะที่การปลูกพืชฤดูแล้งโดยเฉพาะข้าวนาปรังในพื้นที่ 5 จังหวัดดังกล่าว ปลูกเกินแผนที่กำหนดไว้ประมาณ 300,000 ไร่ ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ปลูกข้าวตามแผนที่กำหนดไว้ และห้ามทำนาปรังรอบที่ 2 อย่างเด็ดขาด เพราะจะกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ อาจทำให้การใช้น้ำในภาคส่วนอื่นๆได้รับผลกระทบด้วย 

           ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เผยว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในทุกภาคของประเทศ รวมถึงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง โดยปี 2557 - 2561 ในพื้นที่ภาคเหนือมีการดำเนินโครงการทั้งหมด รวม 12,247 โครงการ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการการขนาดเล็กใช้งบประมาณรวม 60,648 ล้านบาท มีพื้นที่รับประโยชน์ 4.84 ล้านไร่ ส่วนในปี 2562 มีการดำเนินโครงการ ในพื้นที่ภาคเหนือ รวม 2,458 โครงการ งบประมาณรวม 14,182 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 270,065 ไร่ เพิ่มน้ำได้ 40.90 ล้าน ลบ.ม.

          นอกจากนี้ในช่วงปี 2563 – 2565 รัฐบาลมีแผนจะเร่งดำเนินการโครงการขนาดใหญ่และสำคัญ 8 โครงการในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อสร้างความยั่งยืน และ มั่นคง ได้แก่ 1.โครงการแผนหลักฟื้นฟูบึงราชนก จ.พิษณุโลก เริ่มดำเนินการปี2563 โครงการแผนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เริ่มปี2563 โครงการผันน้ำยวม-ภูมิพล เริ่มปี 2564 โครงการเขื่อนน้ำกิ จ.น่าน เริ่มปี 2564 โครงการเขื่อนน้ำกอน จ.น่าน เริ่มปี 2564 โครงการเขื่อนแม่คำมี จ.แพร่ เริ่มปี 2564 โครงการเขื่อนแม่คำ จ.เชียงราย เริ่มปี 2565 และโครงการผันน้ำกก-อิง-สิริกิติ์ เริ่มปี 2565 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ