ข่าว

ไอซีทีกับงานส่งเสริมการเกษตร : จากอดีตสู่ปัจจุบัน ตอนที่1

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน โดย - รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ     [email protected] 

 

               ในสัปดาห์นี้ขอหักมุมมาเล่าเรื่องเชิงวิชาการให้ฟังกันบ้าง เป็นเรื่องราวของการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอันทันสมัยที่อยู่รอบตัวเราและเราก็หลีกหนีไปไม่ได้จริงๆ ก็คือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือที่เราเข้าใจกันง่ายๆ ทุกวันนี้ก็คือดิจิทัล แต่ขอเล่าในด้านส่งเสริมการเกษตรโดยอิงข้อมูลจากการวิจัยที่ผมเคยทำมาในอดีตจนถึงปัจจุบันครับ

ไอซีทีกับงานส่งเสริมการเกษตร : จากอดีตสู่ปัจจุบัน ตอนที่1

 

            ภาพของงานส่งเสริมการเกษตรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมากเนื่องจากปัจจัยหลายประการทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ทั้งตัวเกษตรกร เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ นอกเหนือจากนี้ก็มีอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็คือเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

             โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ส่งผลให้ไอซีที หรือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ถูกนำมาใช้มากขึ้นในแทบทุกวงการ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ ธุรกิจ การศึกษา การบริหาร และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตของคนทุกเพศทุกวัย

           จากการขยายตัวของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำให้ในภาคการเกษตรเองก็ได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาปรับใช้ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด การบริหารจัดการ รวมถึงเรื่องการส่งเสริมการเกษตร โดยแนวคิดในการนำไอซีทีเข้ามาใช้เพื่อการเกษตรนั้นมุ่งถึงประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับในการทำการเกษตรในแง่ของการได้รับสารสนเทศ ความสะดวกสบายในการผลิตและดูแลรักษา การประหยัดเวลาและแรงงานที่ใช้ในการทำการเกษตร ทราบถึงสภาพดินฟ้าล่วงหน้า ความต้องการผลผลิตและราคาในตลาดล่วงหน้า ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำการเกษตร 

           โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกษตรกรสามารถใช้และเข้าถึงได้อย่างแท้จริง แต่เนื่องจากในอดีตไอซีทีเป็นเรื่องใหม่ เรื่องแปลก และเข้าถึงได้ยาก อีกทั้งการที่จะใช้งานก็ต้องมีความรู้และทักษะที่ดีพอจึงจะใช้งานได้ ดังนั้นจึงถูกมองเป็นเรื่องที่เข้าถึงยากสำหรับคนทั่วไป และถ้ายิ่งเป็นเกษตรกรด้วยแล้วยิ่งเป็นเรื่องที่ห่างไกลและจับต้องได้ยากมากขึ้นไปอีก จึงทำให้ไอซีทีถูกมองเป็นด้านลบสำหรับเกษตรกร เพราะถูกมองว่ายากต่อการใช้งาน ถึงแม้จะได้รับทราบข้อมูลในแง่ของประโยชน์ที่ได้จากการใช้งานก็ตาม

      

 

       จากจุดนี้เองจึงเป็นสิ่งที่ต้องคิดว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้การนำไอซีทีเข้ามาใช้ในภาคการเกษตรโดยเฉพาะในเรื่องของการส่งเสริมการเกษตรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร โดยที่ตัวเกษตรกรก็ยอมรับและเต็มใจใช้จากความต้องการของตนเอง และที่สำคัญต้องมีความสุขกับการใช้สิ่งเหล่านี้ด้วย สำหรับตัวผมเองแล้ว คำตอบน่าจะต้องมาจากงานวิจัย จากนั้นเป็นต้นมาก็เป็นช่วงเวลาที่ผมใช้เวลาในการหาคำตอบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะมาเล่าให้ฟังต่อในครั้งหน้าครับ !

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ