ข่าว

เร่งรัดอ่างฯน้ำปี้ขีดเส้นผู้รับเหมาต้องแล้วเสร็จภายในปี2564

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เร่งรัดอ่างฯน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขีดเส้นผู้รับเหมาต้องแล้วเสร็จภายในปี2564

 

กรมชลประทาน เร่งรัดโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา สั่งเพิ่มกำลังคน เครื่องจักร ขีดเส้นต้องแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในปี 2564  เผยหากแล้วเสร็จจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 60,000 ไร่ 

เร่งรัดอ่างฯน้ำปี้ขีดเส้นผู้รับเหมาต้องแล้วเสร็จภายในปี2564

 


 นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านปิน ตำบลเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา พร้อมด้วย นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง นายนพดล ใจธรรม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพะเยา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม   โดยมีนายวิวัธน์ชัย คงลำธาร  ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 รายงานความคืบหน้าของโครงการ ณ ห้องประชุม   โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา

เร่งรัดอ่างฯน้ำปี้ขีดเส้นผู้รับเหมาต้องแล้วเสร็จภายในปี2564
    นายประพิศกล่าวว่า  ได้มีการติดติดตามความก้าวหน้าและเร่งรัดการดำเนินโครงการ  พร้อมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ  ตลอดจนการเพิ่มกำลังคน และเครื่องจักร ในการขับเคลื่อนการทำงานให้สำเร็จเป็นไปตามแผนสัญญาที่ได้กำหนดไว้ ตามข้อสั่งการของพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้ เร่งรัดให้การดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว  โดยจะต้องมีการควบคุมการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด เป็นไปตามหลักวิศวกรรม  ควบคุมการก่อสร้างไม่ให้เกิดผล กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ 
    นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้กรมชลประทานร่วมกับจังหวัดพะเยาและประชาชนร่วมกันออกแบบภูมิสถาปัตย์ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว  
    “ผมได้เน้นย้ำให้บริษัทผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริดังกล่าว ในส่วนเขื่อนคอนกรีตให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 โดยทั้งโครงการจะต้องแล้วเสร็จภายในปี 2564 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมติไว้ เพื่อให้เกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียงได้รับประโยชน์จากโครงการได้อย่างรวดเร็วที่สุด" รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว 
    ทั้งนี้โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริมีลักษณะเป็นเขื่อนชนิดคอนกรีตบดอัด (RCC: Roller compacted Concrete) มีความกว้างสันเขื่อน 8.00 ม. ความยาวสันเขื่อน 810.00 ม. ความสูง 54.00 ม. มีระบบท่อความยาวรวม 75.00 กม. ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ 28,000 ไร่ และฤดูแล้งสามารถส่งน้ำผ่านลำน้ำปี้ลงสู่แม่น้ำยมให้กับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม (ฝายแม่ยม) จ.เเพร่ จำนวน 35,000 ไร่ ส่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ปศุสัตว์และอุตสาหกรรม ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ต.เชียงม่วน ต.บ้านมาง ต.สระ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา จำนวน 34 หมู่บ้าน 7,520 ครัวเรือน และสามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ท้ายน้ำในเขตอ.เชียงม่วน จ.พะเยาลุ่มน้ำยม รวมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งประมงสำหรับเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดให้ราษฎรได้บริโภคและเพื่อเป็นรายได้เสริม ตลอดจนเป็นแหล่งพักผ่อน ส่งเสริมการท่องเที่ยว และยังสามารถใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำได้อีกด้วย
    สำหรับ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ณ บริเวณหมู่ 3 บ้านปิน ตำบลเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9  ทรงมีพระราชดำริ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2520 ว่า “สมควรจะรีบดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำปี้นี้ โดยเร่งด่วน เนื่องจากจะใช้ค่าลงทุนทั้งโครงการเพียงประมาณ225 ล้านบาท สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองฝั่งแม่น้ำปี้จนจรดแม่น้ำยมในเขตอำเภอเชียงม่วน   ได้ประมาณ 45,000 ไร่ ตลอดปี และยังมีน้ำเหลือส่งให้กับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตโครงการชลประทานแม่ยมได้อีกประมาณ 50,000 ไร่ ด้วย” 

 

    สำหรับลุ่มน้ำปี้เป็น ลุ่มน้ำสาขาของ ลุ่มน้ำยม  ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่ยังมีปัญหาในเรื่องน้ำ ทั้งปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้งซ้ำ เพราะไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำได้มากเพียงพอที่จะใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) ทั้งลุ่มน้ำ  ซึ่งการศึกษาเบื้องต้น พบว่าลุ่มน้ำยมมีจุดที่เหมาะสมสำหรับการสร้างอ่างเก็บน้ำได้ถึง 50 แห่ง แต่เมื่อพิจารณาศักยภาพที่จะสามารถก่อสร้างได้ มีประมาณ  22  แห่ง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้งหมด และอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก็เป็น 1 ใน 22 แห่งดังกล่าว ที่สามารถดำเนินการก่อสร้างๆได้แล้ว  และถือเป็นโครงการสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี
    ทั้งนี้ถ้าหากสามารถก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำยมได้ครบทั้ง 22 แห่งตามผลการศึกษา จะสามารถกักเก็บน้ำรวมกันได้ประมาณ 380 ล้าน ลบ.ม.  และเมื่อรวมปริมาณความจุกับอ่างฯของเก่าที่มีอยู่แล้วในลุ่มน้ำยม  จะทำสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้คิดเป็นร้อยละ19 ของปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำยม   แม้จะมีปริมาณไม่มากนัก  แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาภายในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขานั้นๆได้ดีกว่าที่ไม่ได้ทำอะไรเลย   เพราะหากรอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีการต่อต้านสูง  ก็ไม่รู้ว่าจะก่อสร้างได้เมื่อไหร่ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ