ข่าว

“ลำน้ำพรม” แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ในชัยภูมิ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย – บรรพต พิลาพันธ์

          “ วิวทิวทัศน์ของภูเขา การทำสวนส้มโอ และการพายเรือแจวที่เคยปฏิบัติในการดำรงชีวิต แต่ได้นำมาเป็นจุดขายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน” 
           บ้านบุ่งสิบสี่ ต.โนนทอง อ.เกษตรสมบูรณ์ เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ของจังหวัดชัยภูมิ มีพื้นที่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ซึ่งมีพืชพันธุ์นานาชนิดและยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอีกมากมายหลายสายพันธุ์

            นอกจากนี้ยังมีวิวทิวทัศน์ของทุ่งหญ้าที่สวยงามบนยอดภูคิ้ง ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตรที่หลากหลาย ทั้งปลูกอ้อย มะพร้าว ข้าว ที่สำคัญนั้นคือส้มโอพันธุ์แดงภูคิ้ง ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของที่แห่งนี้ รวมถึงวิถีชีวิตที่ติดสองฝั่งลำน้ำพรม ทำให้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ จนนำมาสู่การเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในจังหวัดที่ชื่อว่า “ท่องเที่ยวเชิงเกษตรลำน้ำพรม” ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนในชุมชุนร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาผ่านความเป็นวิถีชีวิตของชุมชน
           โดยที่มาของโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรลำน้ำพรม เกิดขึ้นจากที่ชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ รวมตัวกันเมื่อปี2557โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์ด้วยตนเอง ไม่หวังพึ่งงบประมาณจากหน่วยงานรัฐเน้นให้นักท่องเที่ยวชมธรรมชาติ เช่น วิวทิวทัศน์ของภูเขา การทำสวนส้มโอ และการพายเรือแจวที่เคยปฏิบัติในการดำรงชีวิต แต่ได้นำมาเป็นจุดขายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เมื่อโครงการผ่านไป 2 ปี ทางหน่วยงานของจังหวัดได้เข้ามาร่วมส่งเสริมได้แก่พัฒนาการจังหวัดชัยภูมิและสหกรณ์เกษตรชัยภูมิ เข้ามาร่วมกันพัฒนาชุมชนจนเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
            พื้นที่หมู่บ้านบุ่งสิบสี่อุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติ ดินดี น้ำดี มีแม่น้ำพรมล้อมรอบที่มีต้นกำเนิดมาจากแม่น้ำป่าสักจังหวัดเพชรบูรณ์ และยังเป็นแม่น้ำที่มาหล่อเลี้ยงคนในชุมชน โดยบริเวณรอบ ๆ แม่น้ำพรมนั้น จะมีแหล่งอาหารทางธรรมชาติ เช่น ผักหวาน หน่อไม้ เห็ดโคก ปลา และสัตว์น้ำอีกหลากหลายชนิด ที่เป็นแหล่งอาหารอันมีค่าของชาวบ้าน
            นอกจากนี้ยังมีประเพณีที่น่าสนใจ คือ สาวบ้านแต้ ซึ่งเป็นวิธีการเรียกสาวหรือผู้หญิงในชุมชน อีกทั้งเป็นเอกลักษณ์ของชาวอำเภอเกษตรสมบูรณ์ ที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อมีกิจกรรมในชุมชนต้องมีสาวบ้านแต้มาเปิดงาน ดังเช่นงานเปิดโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรลำน้ำพรม ก็จะเห็นได้ว่ามีขบวนจักรยานของสาวบ้านแต้มาต้อนรับนายสมเกียรติ ศรีษะเนตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ที่มาเป็นประธานในการเปิดงาน
            โครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรลำน้ำพรม ยังแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นของที่ระลึกจากกลุ่มแม่บ้าน เพื่อเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน อาทิ เรือแกะสลัก วัตถุดิบที่ทำมาจากไม้ส้มโอ แปรรูปน้ำส้มโอปั่นเพื่อบรรจุจำหน่าย ครีมขัดรองเท้าที่ทำมาจากผงถ่านต้นส้มโอ ไม่เพียงเฉพาะผลิตภัณฑ์จากต้นส้มโอเท่านั้น แต่ยังมีผลผลิตอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น กล้วย ลูกยอ มะพร้าว ฯลฯ
            นันทวิทย์ ดวงมณี ผู้ใหญ่บ้านบ้านบุ่งสิบสี่ ต.โนนทอง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ เล่าว่า ในชุมชนมีเอกลักษณ์ที่เป็นวิถีชีวิตริมน้ำพรมและพื้นที่การเกษตร เหมาะแก่การปลูกพืชหลากหลายชนิดทั้ง ส้มโอ กล้วย ทุกอย่างที่เป็นพืชผลทางการเกษตร ซึ่งการก่อตั้งโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้คนนอกพื้นที่เข้ามาท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์วิถีเกษตรให้เห็นถึงความสวยงามของธรรมชาติและการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาปรับใช้ในชุมชน
              เกษตรกรผู้ที่ปลูกส้มโอขายอย่าง อินตอง พิมพ์ดีด ชาวบ้านบุ่งสิบสี่ ต.โนนทอง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ พูดถึงการปลูกส้มโอในชุมชนของตนว่า มีการปลูกมาหลายสิบปี ส้มโอของหมู่บ้านบุ่งสิบสี่มีหลายพันธุ์ คือ ส้มโอพันธุ์ทองดี ขาวแตงกวา แต่เป็นที่ขึ้นชื่อคือส้มโอแดงภูคิ้ง ที่มีรสชาติหวานเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ จะมีผู้คนจากต่างอำเภอหรือต่างจังหวัดเข้ามาซื้อ เพื่อนำไปขายต่อหรือส่งออกไปยังต่างประเทศรวมถึงสามารถนำส้มโอมาแปรรูปได้ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เข้ามาอีกทาง ซึ่งการปลูกส้มโอนั้นสามารถปลูกได้ตลอดเวลาขอให้มีน้ำที่เพียงพอต่อการดูแล เพราะส้มโอเป็นผลไม้ที่ขาดน้ำไม่ได้และต้องใส่ปุ๋ยคอกอย่างสม่ำเสมอ โดยทางชุมชนได้น้ำมาจากเขื่อนจุฬาภรณ์ที่ไหลลงมาลำน้ำพรม
               อินตอง  ผู้ปลูกส้มโอขาย ยังเล่าต่ออีกว่าโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนี้ทำมาได้สักระยะหนึ่ง แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งถึงปี2560ที่ทางจังหวัดเข้ามาส่งเสริม จนเกิดเป็นโครงการที่สมบูรณ์แบบได้ในปี2561ซึ่งทำให้ชาวบ้านมีความร่วมมือ สามัคคีกัน และที่สำคัญคือชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
               ด้าน ประจวบ ใสดี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบุ่งสิบสี่ราษฎร์บำรุง เล่าว่า โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันหลากหลายภาคส่วน โดยทางโรงเรียนได้เป็นที่ปรึกษาแนะนำให้กับชาวบ้านในชุมชน ใช้ รวมถึงวางแผนงานให้เป็นระบบขึ้น และยังช่วยชาวบ้านเป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งโรงเรียนให้พื้นที่กับชุมชนตั้งศูนย์การเรียนรู้ภายในโรงเรียน และยังสอดแทรกเข้ากับการเรียนการสอนของเด็กนักเรียนในชุมชุนคือ การสร้างรายได้ การตั้งสหกรณ์โรงเรียน ให้เด็กๆได้ฝึกหัดการหารายได้ด้วยตนเอง ซึ่งทางโรงเรียนเป็นโรงเรียนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่นำ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เข้ามาใช้ในชุมชน ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
              อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า โครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรลำน้ำพรมที่จังหวัดชัยภูมิ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือร่วมใจคนชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งแสดงถึงความสามัคคีและต้องการพัฒนาหมู่บ้านที่มีแหล่งทรัพยากรอันล้ำค่านำมาสร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมไปถึงนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาหรือเชิญชวนให้ผู้คนสนใจในการท่องเที่ยวแบบที่ใกล้ชิดธรรมชาติที่มีลำน้ำและภูเขาล้อมรอบ เป็นเอกลักษณ์ในการดำรงชีวิตและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวจากต่างพื้นที่เข้ามาเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวลำน้ำพรม
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ