ข่าว

เผาอ้อย...ก่อนตัด!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - ดลมนัส กาเจ

            เผาอ้อย...ก่อนตัด!

       

            อ้อยเข้าโรงงานที่ปลูกอยู่ในประเทศไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเผาอ้อยก่อนตัด ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อ้อยเสียคุณภาพ และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

            มีผู้ศึกษาไว้อย่างน่าสนใจครับ คือ คุณศุภกร โพธิ์เอม และ ดร. สันติ แสงเลิศไสว จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้นำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 5 “การเกษตรดิจิทอลในพลวัตของเศรษฐกิจโลก” ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้วนี้

            หลายท่านคงไม่ทราบว่าอ้อยที่ปลูกส่งโรงงาน ประมาณมากกว่า 60% มีการเผาไร่เพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้น แต่ว่าการเผาอ้อยมีผลเสียหลายอย่าง ทั้งเรื่องของควันไฟและเถ้าที่ไปรบกวนคนอ่ืนอย่างมาก และคุณภาพของอ้อยที่ลดลง ทำให้เก็บรักษาไว้ได้ไม่นาน

 

เผาอ้อย...ก่อนตัด!

 

           ดังนั้น หน่วงานที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงได้พยายามสร้างแรงจูงใจไม่ให้เกษตรกรเผาอ้อย เช่นการตัดราคาอ้อยที่ผ่านการเผาตันละ 20 บาท เพื่อนำไปเพิ่มให้เกษตรกรที่ตัดอ้อยสด และเพิ่มราคาให้อ้อยสดขึ้นไปอีก

           จนปัจจุบันนี้ราคาต่างกันประมาณ 90 บาท แต่มาตรการเหล่านี้ก็ยังไม่ได้ผลเต็มที่ เหตุผลหลักที่ทำให้การเผาอ้อยไม่ได้ลดลงก็คือส่วนต่างของราคาอ้อยสดกับอ้อยไฟไหม้ แตกต่างกันไม่มากพอ

           ที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือคนรับจ้างตัดอ้อย ไม่ค่อยยินดีที่จะรับตัดอ้อยสดเท่าไหร่ เพราะว่าถึงแม้ค่าแรงตัดอ้อยสดจะสูงกว่าการตัดอ้อยไฟไหม้ก็ตาม เพราะรวมรายได้ต่อวันแล้ว การตัดอ้อยไฟไหม้ สามารถทำได้เร็วกว่ามาก จึงสร้างรายได้ต่อวันได้สูงกว่าเกือบสองเท่า

 

เผาอ้อย...ก่อนตัด!

 

            คำถามคือ ทำไม ไม่ใช้รถตัดอ้อยซึ่งสามารถทำงานได้เร็วกว่า และตัดอ้อยสดได้ดี ก็ปรากฎว่าในความเป็นจริงแล้ว เกษตรกรมีการใช้บริการรถตัดอ้อยประมาณ 10% เท่านั้น เนื่องจากลักษณะพื้นที่ไม่อำนวยให้มีการใช้รถตัด และพบว่าการใช้รถตัดทำให้เกิดความเสียหายระหว่างเก็บเกี่ยวมากกว่า

            ปัญหาอีกข้อหนึ่งก็คือ การที่เกษตรกรได้รับโควต้าจากโรงงานน้ำตาล ทำให้ต้องรีบเก็บเกี่ยวอ้อยเพื่อส่งโรงงานให้ทันเวลาที่กำหนด ดังนั้น เมื่อหาแรงงานตัดอ้อยสดไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเผาไร่อ้อย เพื่อให้ตัดได้ทันตามกำหนด หรือแม้เป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อความผิดทางกฎหมาย แต่ก็จำเป็นต้องทำ

            สรุปแล้ว เกษตรกรหลายรายก็ไม่ได้ยินดีที่จะเผาไร่อ้อย แต่ด้วยความจำเป็นต่างๆ บังคับให้ต้องทำ ถึงแม้จะมีการออกกฎหมายบังคับ แต่ไม่มีความเข้มงวด หรือแรงจูงใจในเรื่องความแตกต่างของราคาอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ที่เกษตรกรได้รับ

 

เผาอ้อย...ก่อนตัด!

 

            ทีมวิจัยได้เสนอแนะให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ทบทวนเรื่องส่วนต่างระหว่างราคาอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ ซึ่งปัจจุบันนี้ต่างกันตันละ 90 บาท หากสามารถทำให้เกิดความแตกต่างกันได้มากกว่านี้ ก็น่าจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการตัดอ้อยสดมากขึ้น

            ที่สำคัญคือ ถ้าสามารถแก้ปัญหาเรื่องแรงงานได้ ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะว่าค่าแรงตัดอ้อยสด ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะสูงกว่าการตัดอ้อยไฟไหม้เกือบ 2 เท่า แต่ก็ยังไม่จูงใจให้แรงงานเหล่านี้หันมาตัดอ้อยสด เพราะว่าเมื่อคิดเป็นรายได้ต่อวันแล้ว ก็ยังต่ำกว่าการตัดอ้อยสด

           อีกทั้ง ต้องใช้เวลาและความยากลำบากมากกว่า ซึ่งเรื่องแรงงานนี้ ทางออกที่ดีก็น่าจะเป็นเร่่ืองของการพัฒนาและส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวอ้อยที่มีประสิทธิภาพและขยายวงการใช้ให้มากขึ้น เพราะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ การใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวยังมีน้อยมาก

เผาอ้อย...ก่อนตัด!

 

            ทว่า เรื่องการนำเครื่องตัดอ้อยมาใช้นั้น คงต้องศึกษาอีกมาก เพราะถึงแม้จะมีเครื่องอยู่แล้วก็ตาม แต่การยอมรับของเกษตรกร ก็คือเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณา

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ