ข่าว

ปลุกผู้ส่งออก!! ตื่นรับกฏเหล็กอาหารใหม่สหรัฐฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มกอช.ปลุกผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออก ปรับตัวฝ่ากฎเหล็กตวามปลอดภัยอาหารใหม่ของสหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้ 17 ก.ย.59 เร่งสร้างความรู้พัฒนาบุคลากร เตรียมรับการเปลี่ยนผ่าน

       นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) เปิดเผยว่า ภายหลังสหรัฐอเมริกาได้ประกาศใช้กฎหมายความปลอดภัยด้านอาหารฉบับใหม่ (FSMA) เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2554 เพื่อจัดการปัญหาด้านปนเปื้อนในอาหาร และทยอยประกาศกฎระเบียบย่อยออกมาอีก 7 ฉบับ เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา อันจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต ผู้ประกอบธุรกิจประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งไทยด้วย

       ทั้งนี้ ระเบียบย่อยสำคัญที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ คือ การควบคุมเชิงป้องกัน ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารสำหรับมนุษย์และสัตว์ ต้องดำเนินการผลิตตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) ควบคู่หลักการวิเคราะห์อันตรายและการควบคุมเชิงป้องกันบนพื้นฐานความเสี่ยง (HARPC) ผ่านการจัดทำแผนความปลอดภัยอาหารที่จัดทำและควบคุมโดยผู้ปฏิบัติงานที่ผ่านการรับรองคุณสมบัติ (Preventive Control Qualified Individual : PCQI) โดยกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้แปรรูปสินค้าเกษตรฯ ขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีสูงกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีผู้ปฏิบัติงานมากกว่า 500 คน จะต้องปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2559 เป็นต้นไป

        ขณะที่กำหนดให้สถานประกอบการขนาดเล็ก มีผู้ปฏิบัติงานน้อยกว่า 500 คน ได้รับการผ่อนปรนไปอีก 1 ปี คือจะต้องปฏิบัติตามระเบียบภายในวันที่ 17 กันยายน 2560 และสถานประกอบการที่รายได้ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งถือเป็นสถานประกอบการขนาดเล็กมาก ได้รับการผ่อนปรนไปอีก 2 ปี โดยจะต้องทำตามข้อกำหนดตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2561

       เพื่อเตรียมพร้อมรองรับเงื่อนไขทางการค้าฉบับใหม่ของสหรัฐฯ มกอช.จึงได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่ส่งออกไปสหรัฐฯ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดใหญ่

       อีกทั้ง เร่งสนับสนุนเครือข่ายทางวิชาการและหน่วยงานตรวจประเมินทั่วประเทศให้สามารถผลิตบุคลากรในการฝึกอบรม PCQI โดยเร็ว เพื่อรองรับความต้องการการอบรมในปี 2560-2561 หากเป็นไปได้จะเร่งให้เครือข่ายเริ่มอบรมตั้งแต่เดือนสิงหาคมหรือกันยายนเป็นต้นไป เพื่อลดผลกระทบทางการค้าและสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรอาหารไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในอนาคต

       ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังสหรัฐฯ ปีละกว่า 120,000  ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 10 ของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทั้งหมด  สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ ทูน่ากระป๋องมีมูลค่ากว่า 31,000 ล้านบาท รองลงมา คือ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 23,000 ล้านบาท อาหารทะเลแปรรูป 16,000 ล้านบาท และข้าว 13,000 ล้านบาท  อย่างไรก็ตาม สินค้าบางชนิดยังไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามระเบียบนี้ เช่น สินค้าประมง เป็นต้น

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ