ข่าว

'มะมุด'แก้ท้องร่วง สมานลำไส้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'มะมุด'แก้ท้องร่วง สมานลำไส้

 
                     “มะมุด”หรือส้มมุด  เป็นพืชในสกุลเดียวกับมะม่วง ผลไม้พื้นเมืองภาคใต้ของไทย  มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เรียกต่างกันออกไป นราธิวาสเรียกมะม่วงป่า มาแซอูแต เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ใบเดี่ยว สีเขียวเข้ม เรียบเป็นมัน ดอกเป็นดอกช่อ สีชมพูอมแดง หอมเย็น เปลือกต้นแตกเป็นสะเก็ดเปลือกนอกสีน้ำตาลคล้ำ เปลือกในสีน้ำตาลแดง ผลอ่อนสีเขียวเข้ม ผลสุกสีเหลืองแกมเขียว เมื่ออ่อน เนื้อสีขาวเช่นเดียวกับมะม่วง แต่เปรี้ยวกว่า เนื้อแน่น เหนียวกว่า สุกแล้วเนื้อสีเหลือง กลิ่นแรงมาก  
                    มะมุดเป็นผลไม้กินสด เนื้อผลรับประทานได้ มีกลิ่นขี้ไต้ และนำมาปรุงรสเปรี้ยวในอาหาร เช่น น้ำพริก นำมากินเป็นผักแกล้ม นำมายำกับปลาใส่มะพร้าวคั่ว หรือใส่ในแกงส้ม แกงเหลือง ผลดิบใช้เป็นผักหรือดองโดยเฉพาะในกาลิมันตันตะวันออกนิยมนำไปใช้แทนมะขาม ในมาเลเซียใช้ทำน้ำพริกและนำไปดอง ชาวโอรังอัสลีในคาบสมุทรมลายูใช้น้ำยางในการสักผิวหนัง เพื่อให้รอยสักติดลึก ใบใช้เป็นยาลดไข้ เมล็ดใช้แก้โรคติดเชื้อราบางชนิด ผลดิบมียางซึ่งทำให้ระคายเคืองในปากและริมฝีปาก ผลสุกมียางเฉพาะที่เปลือก
                      เป็นไม้ผลมีรสเปรี้ยว ให้วิตามินซีสูง ชาวใต้นิยมนำมาทำยำ แกงส้ม เม็ดรสฝาดมีสรรพคุณเป็นยา แก้ท้องร่วง สมานลำไส้ สมานแผล เป็นต้น
                    เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 30-40 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดพุ่มกลม เปลือกสีน้ำตาล มียางสีขาว 
                    ใบ เป็นใบเดี่ยว ทรงรี ออกเป็นกลุ่มเวียนเรียงสลับตามปลายกิ่ง ผิวเกลี้ยง แกมขอบขนานปลายมนกึ่งทู่ 
                    ดอก เป็นช่อ แยกแขนงตามปลายกิ่ง โคนเชื่อมติดกัน กลีบดอก 5 กลีบสีชมพูหรือสีแดง  
                   ผล เป็นผลเดี่ยว รูปไข่กึ่งกลม ผลอ่อนรสเปรี้ยว เนื้อหนามีเสี้ยน กลิ่นหอมฉุน เมื่อสุกสีเหลืองแกมเขียว ออกช่วง พ.ค.-มิ.ย.  
                    ขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด  
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ