Lifestyle

เตรียมประกวดเรื่องสั้นหัวข้อ มารยาทไทยและมารยาทในสังคม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เตรียมประกวดเรื่องสั้นหัวข้อ มารยาทไทยและมารยาทในสังคม คอลัมน์...  ชานชาลานักเขียน  โดย...  วรรณฤกษ์ 

 

 


          00 เริ่มศักราชใหม่ด้วยเรื่องราวดีๆ เริ่มที่เวที ประกวดวรรณกรรมต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน..เบื้องต้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เตรียมจัด ประกวดเรื่องสั้น ภายใต้หัวข้อ ‘มารยาทไทยและมารยาทในสังคม’ หลักๆ มีสามศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ (ไพฑูรย์ ธัญญา), ศักดิ์สิริ มีสมสืบ และ จำลอง ฝั่งชลจิตร เป็นกรรมการใหญ่ ร่วมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชาการ งานนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้แต่งตั้ง จำลอง ฝั่งชลจิตร (ลอง เรื่องสั้น) เป็นประธานคณะกรรมการฯ “นี่เป็นครั้งแรกที่ผมนั่งหัวโต๊ะมีวาระจริงจัง ถ้าผิดพลาดช่วยแนะนำด้วย” ประธานป้ายแดง กล่าวถ่อมตน แต่ผู้ทรงคุณวุฒิระดับนี้ในที่ประชุมดำเนินไปลื่นไหลไร้ปัญหาครับ...

 

 

          00 โลกยุคใหม่ กับหัวข้อ ‘มารยาทไทยและมารยาทในสังคม’ หลายคนฟังแล้วอาจสะดุดหู? ประธานเล่าให้ฟังว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสบอก ผมจะเปลี่ยนหัวข้อก็ได้ ผมปฏิเสธ ท้าทายดีออก “คิดว่าเชยก็เชย คิดว่าเป็นปมให้ขบคิดก็ได้” วัฒนธรรมหรือค่านิยมในสังคมมันลื่นไหลไปกับยุคสมัยและนวัตกรรม ถ้าเรามอง ‘มารยาท’ อย่างแข็งด้านตายตัวมันก็ตีบตัน หากมองมารยาทที่ เราปะทะสังสรรค์ในสังคม เราน่าจะ มีประสบการณ์อันหลากหลาย หรือ มีประเด็นหลากหลายให้จับมาเขียนในทุกระดับ” ทุกระดับในที่นี้ ‘ลอง เรื่องสั้น’ หมายถึงแบ่งการประกวดเป็น มัธยมต้น มัธยมปลาย อุดมศึกษา และ ประชาชน รวม 4 ระดับ...


          00 นอกจากนี้ จำลอง ฝั่งชลจิตร ยังฉายภาพให้เห็นว่า ประสบการณ์แต่ละช่วงวัยแตกต่างกันและน่ารับฟังเสมอ วิถีชีวิต หรือ way of live กินอยู่ หลับนอน เรียน ทำงาน เดินทาง มีมุมมอง เรื่องราว ความคิดและสภาพแวดล้อม ที่ไม่มีและมีกายภาพ คนไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว แต่ละคนผูกพันกับสิ่งอื่นคนอื่น เอกลักษณ์บ่มเพาะโดยระบบวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ จากอดีตถึงปัจจุบัน โลกของตนเอง (ตัวละคร) ที่บ่มเพาะมาปะทะกระทบกับอะไรหรือเราขัดหูขัดตาใคร อะไร คนอื่นขัดหูขัดตาเรามากน้อยเพียงไร เขาเราอยู่กันได้หรือไม่ได้ ชวนให้ขบคิดเอาประเด็นมาเขียน” นั่นหมายความว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ในข่ายที่เขียนได้ทั้งสิ้น!...


          00 “มารยาทในสังคม เป็นประตูบานใหญ่พาเราออกจากโจทย์เชยๆ” นี่คือคำตอบที่ประธาน ไม่เปลี่ยนหัวข้อ แม้ไม่ได้ตั้งเองก็ตาม! ทั้งนี้ เพื่อประตูเปิดไว้ให้ผู้เขียนสามารถก้าวออกไปได้ ในส่วนของ กติกามารยาท และ รายชื่อกรรมการรอบคัดเลือก คงเปิดเผยเร็วๆ นี้ แว่วว่ามีทั้ง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (เพิ่มเติม) นักวิชาการวรรณกรรม ตลอดจน บรรณาธิการสำนักพิมพ์ ผู้มากประสบการณ์ ทั้งหมดนี้ยังไม่ประกาศเป็นทางการผ่านสื่อใดๆ แต่ผู้สนใจลงมือบรรเลง ‘เรื่องสั้น’ ได้เลย เขียนตามมุมมอง ความคิดและฝีมือสร้างสรรค์ มีเวลาจนถึง 31 พฤษภาคม 2563 ความยาวก็ยืดหยุ่น 3-8 หน้ากระดาษเอ4 ‘แต่ละระดับ’ จะได้รับ รางวัลชนะเลิศ 20,000 บาท รองอันดับหนึ่ง 15,000 บาท รองชนะเลิศอันดับสอง 10,000 บาท ชมเชย 10 รางวัล รางวัลละ 3,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร...




          00 ทางด้านผลการประกวด วรรณกรรมรางวัลแว่นแก้ว ครั้งที่ 15 (ปี 2562) ดังนี้ ประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน : รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “ลุงทองดี ยายยุ้ย ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากาง และผม” โดย เอกอรุณ รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง “ฉัน อธิษฐาน กับมนุษย์ต่างดาว” โดย ลักษณ์ เกษมสุข รองชนะเลิศอันดับสอง “ขอบคุณที่อยู่ด้วยกัน” โดย กนก วิบูลพัฒน์ รางวัลชมเชย “เด็กชายผู้สั่งหยุดเวลา” โดย ธันวา วงษ์อุบล ขณะที่ประเภท สารคดีสำหรับเยาวชน ทั้งรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง-อันดับสอง ส่วนชมเชย ไม่มีผลงานใดควรได้รางวัล! สักรายเดียว!?...


          00 มาดูประเภท นิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม กันบ้าง รางวัลชนะเลิศ (มี 2 รางวัล) ได้แก่ “ยักษ์ใหญ่” โดย ไอริณ อิสริยะเนตร กับ “บนต้นไม้มีใครอยู่นะ” โดย ศศิวิมล สุนทรวิกรานต์ ขณะที่ รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง-อันดับสอง ไม่มีผลงานเรื่องใดควรได้รางวัล ชมเชยมี 2 รางวัล “ปุย แกะน้อยลายจุด” โดย ชลิตา สุทธิยุทธ์ กับ “ผมอยากเป็นนักมายากล” โดย ภัทรวินท์ รัศมิแพทย์ ส่วนประเภท หนังสือภาพเสริมความรู้ รางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง-อันดับสอง หรือแม้กระทั่ง ชมเชย ก็ไม่มีผลงานใดควรคว้ารางวัลเช่นเดียวกัน! แต่อย่างไรก็ตาม ขอแสดงความยินดี กับนักเขียนที่ได้รับรางวัลมา ณ โอกาสนี้ครับ...


          00 เกษียณจากงานประจำเรียบร้อยแล้ว ลุงตุ๊ จตุพล บุญพรัด บรรณาธิการคุณภาพวัย 55 ปีแห่ง แพรวสำนักพิมพ์ ในเครือ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เขาทำงาน-ทำหน้าที่ด้วยผูกพันกับแหล่งผลิต เครื่องมือทางปัญญา ที่เรียกว่า ‘หนังสือ’ อยู่ที่นี่จนถึงวันสุดท้ายปลายปี 2562 ยาวนาน 32 ปีเต็ม! ถ้าไม่นับช่วง ประจำกอง บก.นิตยสารแพรว และ แพรวสุดสัปดาห์ ก็จะพบว่า จตุพล บุญพรัด ได้สวมจิตวิญญาณ บก.แพรวสำนักพิมพ์ เป็นเวลา 28 ปี ผลิตวรรณกรรมดีๆ สู่ผู้อ่านหลากหลาย-นับไม่ถ้วน สร้างความคึกคักเข้มข้น สร้างคุณูปการแก่วงวรรณกรรมไทย จนเป็นที่ยอมรับนับถือทั่วหน้า ถือเป็น ‘บรรณาธิการระดับตำนาน’ อีกคนหนึ่ง...


          00 นอกจากงานอ่าน-พิจารณา ต้นฉบับคัดวรรณกรรมดีๆ พิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊คแล้ว “ลุงตุ๊ จตุพล” ยังคิดค้นกิจกรรมสร้างสรรค์ให้ ‘อมรินทร์’ ส่งต่อมายัง นักอ่าน-นักเขียน หลายโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ ‘เสวนามุมกาแฟ ร้านนายอินทร์’ โดยเชิญนักเขียนพบนักอ่าน (ไม่เฉพาะนักเขียนค่ายอมรินทร์เท่านั้น) จัดอย่างต่อเนื่อง กว่า 100 ครั้ง! อีกทั้งสัญจรไปจัดในต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง ที่สำคัญเขาคือ ผู้ริเริ่ม (และผู้จัดการ) โครงการประกวดงานเขียน ‘รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด’ ที่จัดประกวดต้นฉบับ 6 ประเภทวรรณกรรมอย่างต่อเนื่องทุกปี รวม 16 ครั้ง! ได้ วรรณกรรมยอดเยี่ยม-วรรณกรรมดีเด่น พิมพ์รวมเล่มเผยแพร่ให้พวกเราอ่าน ตลอดระยะเวลา 16 ปี เป็นที่ประจักษ์! โดยได้รับการหนุนส่งจาก ผู้ใหญ่ใจดี ผู้ก่อตั้งอมรินทร์อย่าง ชูเกียรติ - เมตตา อุทกะพันธุ์ เต็มกำลัง...


          00 ด้านบทบาท นักเขียน กวี ของ จตุพล บุญพรัด เราต้องไม่ลืมว่าเขาคือ ชีวี ชีวา, อาโป, ลาซัง โดยเฉพาะนามปากากา ‘ชีวี ชีวา’ มีผลงานดีๆ ออกมาหลายเล่ม ทั้งกวีนิพนพ์ รวมเรื่องสั้น นวนิยาย ฯลฯ และถัดจากนี้เขาบอกว่า จะไปทำอะไรที่อยากทำและอยากใช้ชีวิตส่วนตัวเงียบๆ เช่น อาจจะเป็นคนปลูกผักปลูกหญ้า ปลูกต้นไม้ สลับกับอ่านหนังสือเล่มที่อยากอ่าน “ลำพังเพียงเท่านี้ผมคิดว่าน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับชีวิตหลังเกษียณของคนคนหนึ่ง” แต่ “วรรณฤกษ์” ว่าไม่น่าจะพอครับ! “ลุงตุ๊” ของใครๆ หรือ “พี่ตุ๊” ของผม ต้องลงมือเขียนหนังสือต่อนะ นวนิยายขนาดสั้นเรื่อง “หญิงสาวแห่งสายน้ำไม่ไหลกลับ” ของพี่ยัง ‘ประทับใจผม’ อยู่เลย แม้วันเวลาจะผ่านไปร่วม 3 ทศวรรษก็ตาม...


          00 คารวะครับ พี่ตุ๊ จตุพล บุญพรัด นักเขียน กวี ศิลปินวาดรูป และบรรณาธิการ ‘บรรณาธิการดีเด่น’ รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ประจำปี 2560 คารวะด้วยรักและนับถือ...


          พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีปีใหม่ครับ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ