Lifestyle

ยินดีกับ 'นักแปลและล่าม' ผู้คว้า 'รางวัลสุรินทราชา' ปี 2562

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ชานชาลานักเขียน  โดย...  วรรณฤกษ์


 

 


          00 ขอแสดงความยินดีแด่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี นักวิชาการด้านวรรณคดี/นักวิจารณ์วรรณกรรม และกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์หลายสมัย เนื่องในโอกาส ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ เมื่อ 12 เมษายนที่ผ่านมา...

 

 

          00 ขอแสดงความยินดีกับ ทองแถม นาถจำนง (โชติช่วง นาดอน) นักเขียนนักแปลและนักหนังสือพิมพ์ชื่อดัง ในโอกาสได้รับ รางวัลคึกฤทธิ์ ประจำปี 2562 (สาขาวรรณศิลป์) ถือว่าเหมาะอีกหนึ่งรางวัล เพราะมีผลงานมากมายและหลากหลาย มากกว่า 60 เล่ม โดดเด่นด้านวรรณกรรมจีน ทั้งงานเขียน-งานแปล ไม่ว่าจะเป็น กวีนิพนธ์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา ปรัชญา ตลอดจน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง อ้อ..สำนวนแปลบทภาพยนตร์เรื่อง ‘สามก๊ก’ ทาง ช่อง 9 อสมท. อันโด่งดังดูซ้ำๆ นั่นก็ใช่! ในวันรับรางวัลเมื่อ 20 เมษายน ดู “พี่ทองแถม” สดชื่นขึ้นพวกเรามิตรน้ำหมึกก็ดีใจ นั่นแสดงว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพ ของพี่ก่อนหน้านี้ อาการดีขึ้นตามลำดับ ขอให้สุขภาพแข็งแรงคืนสู่ภาวะปกติไวๆ ครับพี่...

 


          00 นอกจาก ทองแถม นาถจำนง นักเขียนนักแปลและบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา นสพ.สยามรัฐ คนปัจจุบันแล้ว รางวัลคึกฤทธิ์ปีนี้ ยังมีผู้ได้รับอีก 3 คน 3 สาขา ได้แก่ นาวาอากาศโท ณรงค์ อรรถกฤษณ์ สาขาดุริยางค์ไทย, เกลียว เสร็จกิจ หรือ ขวัญจิตต์ ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงแสดง ที่ได้รับ สาขาคีตศิลป์ และ ปกรณ์ วิชิจ สาขานาฎศิลป์/โขน/ละคร ขอแสดงความยินดีกับทุกท่านถ้วนหน้าครับ...

 


          00 ประกาศแล้ว รางวัลสุรินทราชา พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติคุณที่ สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ตั้งขึ้นเป็นอนุสรณ์แด่ พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) หรือ “แม่วัน” ผู้แปลนวนิยายเรื่อง “ความพยาบาท” (Vendetta) โดยมอบให้ ‘นักแปล’ และ ‘ล่าม’ ผู้มีผลงานดีเด่นเผยแพร่เป็นเวลานาน และสร้างคุณูปการแก่วงวรรณกรรม สังคม และประเทศ สำหรับปีนี้เป็นปีที่ 13 ของการมอบรางวัล และผู้ที่สมควรแก่รางวัลสุรินทราชามี 13 คน ดังนี้...

 

 


          00 1.กานดา วรดิลก (นารียา) 2.ดร.คริส เบเคอร์ 3.ศ.กิตติคุณ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร 4.ชะเอม แก้วคล้าย 5.ชาญ ธนประกอบ 6.บัณฑิต ประดิษฐานุวงษ์ 7.ผศ.พรรณศักดิ์ สุขี 8.ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล 9.ปิยะภา ริ้วพิทักษ์ (ปิยะภา) 10.วรวดี โมนาฮาน (วรวดี วงศ์สง่า) 11.ศ.ดร.สมภาร พรมทา 12.อนิรุธ ณ สงขลา 13.อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี มีพิธีมอบรางวัลจะมีขึ้น ในงานวันนักแปลและล่าม ครั้งที่ 13 ณ ห้องประชุมใหญ่ หอสมุดแห่งชาติ เทเวศร์ กรุงเทพฯ ใน วันอาทิตย์ 28 เมษายน ใครสนใจเชิญนะครับ ม.ล.วีรอร วรวุฒิ นายกสมาคมนักแปลและล่ามฯ ท่านฝากเชิญชวนมา...

 


          00 สุจิตต์ วงษ์เทศ กวี/นักเขียนอาวุโสผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดี เจ้าของผลงานเด่นอย่าง “ขุนเดช” และอีกหลายสิบเรื่อง ได้เรียบเรียง “สุนทรภู่ มหากวี ผู้ดีบางกอก” เป็นสูจิบัตรเล่มบางๆ แต่มีประโยชน์สำหรับผู้สนใจ ประวัติสุนทรภู่ อีกแง่มุมหนึ่ง โดยมอบให้ มูลนิธิสโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากล ที่มี ทองแถม นาถจำนง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ จัดพิมพ์แบ่งปันความรู้มาต่อเนื่องแก่ผู้สนใจต่อเนื่องทุกปี และปีนี้ก็จัดพิมพ์ 2,000 เล่มเช่นเคย ปรับปรุงเนื้อหาใหม่ หากสถานศึกษาใดต้องการใช้เผยแพร่ ติดต่อ ขอรับฟรี ได้ที่เฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต รองเลขาธิการมูลนิธิ ได้เลยครับ...

 


          00 ซีไรต์มาแล้วจ้า! คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ ประกาศรับ หนังสือวรรณกรรม เพื่อเข้า ประกวดรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2562 ปีนี้ว่าด้วยวรรณกรรม ประเภทกวีนิพนธ์ โดยมีกติกามารยาทคร่าวๆ คือ ต้องเขียนด้วยภาษาไทย, เป็นผลงานริเริ่มของผู้เขียนเอง มิใช่งานแปลหรือแปลงจากของผู้อื่น, ผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ขณะส่งผลงานเข้าประกวด ที่สำคัญ ต้องเป็นผลงานที่พิมพ์เผยแพร่เป็นเล่มครั้งแรกย้อนไปไม่เกิน 3 ปี ภายในวันสิ้นกำหนดส่งผลงาน และ ต้องมีเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (ISBN) ที่ถูกต้อง เป็นต้น ส่งหนังสือ จำนวน 16 เล่ม ไปยังฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล บางรัก กรุงเทพฯ ภายใน 15 กรกฎาคม 2562...

 


          00 พูดถึง เรื่องซีร้งซีไรต์นี่ ณ ขณะนี้ ไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไรแล้ว และไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่เมื่อ มีความเคลื่อนไหว ก็นำบอกกล่าวเล่าสู่ตามประสาคนเขียนข่าว ‘ซุบซิบวรรณกรรม’ คอลัมน์เล็กๆ ที่มีอยู่ จะว่าไป “วรรณฤกษ์” ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับ ‘ซีไรต์’ ตั้งแต่ปี 2536 ปีที่รวมเรื่องสั้น “ครอบครัวกลางถนน” ของ ศิลา โคมฉาย คว้ารางวัลโน่น! ทั้งในฐานะ ‘คนทำข่าว’ และในฐานะกรรมกร..เอ๊ย! ‘กรรมการ’ บางปีก็ทำหน้าที่ ร่วมสรรหาผู้เข้าเป็นกรรมการบ้างไรบ้าง นับว่า มีความผูกพันกับซีไรต์พอสมควร เพราะ ‘รักและผูกพัน’ นี่แหละ เมื่อซีไรต์เกิดอาการสะดุดจึงรู้สึกไม่สบายใจ และพยายามเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา...

 


          00 ตอนนี้ คนวงการวรรณกรรม คนติดตามข่าวคราวซีไรต์ต่างรู้กันว่า ผู้ได้รับการประกาศ ‘สมควรได้รางวัลซีไรต์’ แต่ทว่า...ยังไม่ได้รับรางวัล 3 ปีติดๆ ตั้งแต่ปี 2559 พลัง เพียงพิรุฬห์ จากผลงาน กวีนิพนธ์ ชุด “นครคนนอก” ปี 2560 จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท จากผลงาน รวมเรื่องสั้น ชุด “สิงโตนอกคอก” และปี 2561 วีรพร นิติประภา จากผลงาน นวนิยาย เรื่อง “พุทธศักราชอัสดง กับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ครบ 3 ปี...ซีไรต์ 3 ช่า! จะว่าไป นักเขียน-กวีซีไรต์ในนาม เขาไม่ออกมาทวงถามโดยตรง คงอายและเจียมเนื้อเจียมตัว ที่สำคัญเขา ‘ให้เกียรติกองประกวด’ และ ‘ให้เกียรติรางวัล’ นั่นแหละ แต่มีบ้างก็ เพื่อนนักเขียนอาเซียน ที่กระมิดกระเมี้ยนถามมาด้วยความเกรงใจ “วรรณฤกษ์” ได้แต่ส่งยิ้มพร้อมบอกให้อดใจรอ...

 


          00 เราตัวเล็กๆ ทำได้เพียงกระตุ้นให้ผู้จัด ดำเนินการเรื่องรางวัลนักเขียน-กวีให้เรียบร้อย แต่ไม่เป็นผล..ปีแรกที่สะดุด (2559) ก็เข้าใจอยู่ ว่าติดขัดบางประการ ปีถัดมาน่าจะกระตือรือร้นดำเนินการ ก็ไม่เป็นผล ราวต้นปี 2561 ก่อนที่จะ ประกาศรับผลงานรอบใหม่ จึงเสนอไปว่า ควรเคลียร์รางวัล 2 ปีที่ค้างเสียก่อน แต่ข้อเสนอไม่ได้รับการตอบสนอง เขาดำเนินการประกวดต่อ โดยให้เหตุผลว่า จะมอบรางวัล 3 ปีพร้อมกันทีเดียว ฟังดูดีเหมือนมีความหวัง แต่ “วรรณฤกษ์” คิดๆ ดูกลับมองว่า ไม่มีอะไรเป็นหลักประกัน หรือเป็นเครื่องยืนยันว่าจะทำได้ตามนั้น ออกจะเลื่อนลอย จึงตัดสินใจถอยออกมาเงียบๆ และพยายาม ไม่พูดถึงซีไรต์ ใครถามก็บอกเพียงว่า ไม่ทราบๆ ด้วยประการฉะนี้แล...

 


          00 ถึงบรรทัดนี้..ได้แต่หวังหว่า นักเขียน-กวีผู้ได้ (โลโก้) ซีไรต์ใน 3 ปีหลังสุดทั้ง 10 ประเทศอาเซียน! และ รวมถึงปีนี้ที่กำลังจัดประกวดด้วย คงได้รับรางวัลอย่าง สมศักดิ์ศรีซีไรต์ ตามที่ควรจะเป็นในเร็ววัน หากวันนั้นมาถึง “วรรณฤกษ์” ขอสาธุงามๆ แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “รักดอกจึงบอกกล่าว”...
พบกันใหม่เสาร์-อาทิตย์หน้า สวัสดีครับ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ