ข่าว

หัวคะแนนผวา"นับที่หน่วย"หลุดเป้าเจอไข้โป้ง

หัวคะแนนผวา"นับที่หน่วย"หลุดเป้าเจอไข้โป้ง

08 มิ.ย. 2554

"คม ชัด ลึก" สำรวจความเคลื่อนไหวรับเลือกตั้ง พบปัจจัยการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งหลังปิดหีบ ทำให้หัวคะแนนเกรงว่า จะได้คะแนนไม่ถึงเป้าที่รับปากเอาไว้ ประกอบกับระบบการตรวจจับที่เข้มงวดทำให้เสี่ยงต่อการถูกจับ และเสี่ยงที่จะถูกเช็กบิลในภายหลัง มีเพียงบางรายเ

 แหล่งข่าวในกลุ่มหัวคะแนน ที่ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ขณะนี้บรรดาหัวคะแนนตามพื้นที่ ได้รับการติดต่อจากสายของนักการเมืองบ้างแล้ว มีการจ่ายเป็นค่ามัดจำประมาณ 30% ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้ใช้สิทธิคูณด้วยราคาต่อหัว มีการตั้งราคาคร่าวๆ ไว้ที่หัวละ 300-500 บาท ในระดับชาวบ้านพื้นที่ห่างไกล และ 500-1,000 บาท

 กรณีที่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ สามารถกำหนดและควบคุมผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้ง่าย ผู้สมัคร ส.ส.จะจ่ายเป็นเงินค่ามัดจำเอาไว้ในวงเงินที่สูงเพื่อไม่ให้ผู้นำชุมชนรายนั้นไปรับเงินจากผู้สมัครรายอื่น

 "มีผู้นำชุมชนเลือกที่จะรับเป็นหัวคะแนนสองทาง หรือรับทั้ง 2 พรรค โดยไม่สนใจว่าจะเป็นการนับคะแนนที่หน่วย เพียงลดเป้าลงอาจเหลือ 50% ซึ่งหากคะแนนมาไม่ถึง ก็พร้อมคืนเงินให้บางส่วน" แหล่งข่าว กล่าว

 หัวคะแนนพรรคประชาธิปัตย์ ใน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ด้วยพื้นฐานทางการเมืองของคนใต้ที่ผูกพันต่อพรรคประชาธิปัตย์ รูปแบบการแข่งขันทางการเมืองจึงต่างไปจากที่อื่น แต่ในระยะหลังพบว่า เมื่อหัวคะแนนออกไปอยู่พรรคอื่นจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

 อย่างไรก็ตาม การจะใช้เงินซื้อเสียงทำได้ยาก เพราะจะเป็นการรับเงินแต่ไม่เลือกให้ ทำให้ผู้ว่าจ้างจะเลือกจ่ายเฉพาะที่ได้เสียงจริง ในกลุ่มเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องที่ต้องเข้าให้ถึง เช่น การช่วยเหลืองานแต่ง งานบวช อาจจะอยู่ในรูปช่วยเหลือ 1-2 หมื่นบาท ทำให้ได้เสียงกลับคืนเป็นกลุ่มมากกว่า 20 คนขึ้นไป

 หัวคะแนนของผู้สมัคร ส.ส.รายหนึ่งใน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ที่มีการตามเก็บหัวคะแนนส่วนมากเป็นเพราะไปหลอกเอาเงินผู้สมัครมา แต่ไม่ทำงานให้ ดูได้จากจำนวนคะแนนที่มาไม่เป็นตามเป้า

 ผู้สมัคร ส.ส.รายหนึ่งใน จ.เพชรบุรี กล่าวว่า การแบ่งเขตเล็กลงทำให้ซื้อเสียงได้ง่าย แต่ก็มีอุปสรรคคือเรื่องการนับคะแนนที่หน่วย แต่การซื้อเสียงก็ยังต้องทำเพราะคู่แข่งก็ซื้อ อย่างไรก็ดีการซื้อเสียงแบบทุ่มให้หัวคะแนนรายใหญ่คงไม่ได้ผล วิธีที่ดีที่สุดคือกระจายซื้อ แบ่งหัวคะแนนเป็นกลุ่มย่อยๆ ซื้อเฉพาะในกลุ่มญาติพี่น้อง

 "การเลือกตั้งครั้งนี้การคุมคะแนนยาก เพราะเป็นการนับคะแนนที่หน่วย อีกทั้งอุปกรณ์การสื่อสารก็ทันสมัย กกต.และองค์กรเอกชนต่อต้านการซื้อเสียงก็มีบทบาทสูง การไปแจกเงินซื้อเสียงเสี่ยงจะถูกจับ"

 ขณะที่รูปแบบการหาคะแนนที่ จ.ชลบุรี นั้นเปลี่ยนไป จากเดิมใช้หัวคะแนน ก็เปลี่ยนมาเป็นแกนนำพรรคไปทำหน้าที่แทน

 ทั้งนี้ บุคคลที่เป็นแกนนำ จะแบ่งหน้าที่กันทำงานตามโซน หรือสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ อาทิ แกนนำโซนโรงแรม โซนสถานบันเทิง โซนชุมชนและโซนท้องถิ่น

 ส่วนที่ จ.ราชบุรี หัวคะแนนรายหนึ่ง กล่าวว่า ในปีนี้มีการนับหน้าหน่วยเลือกตั้ง ทำให้หัวคะแนนทำงานลำบาก โดยเฉพาะในพื้นที่เขต 1 มีพรรคใหญ่แข่งกันถึง 3 พรรค มีการใช้อิทธิพลมาบีบบังคับว่าให้ช่วยทำคะแนน จึงเป็นเรื่องยากที่จะอมเงิน

 นอกจากนี้ประชาชนเองก็มีตัวเลือกมาก จึงยากที่จะทำคะแนนให้เข้าเป้า และถ้าใครทำไม่ได้ก็อาจจะต้องรู้อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัว

 "หัวคะแนนในแต่ละพื้นที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่กล้ารับเป็นหัวคะแนนให้ใคร แม้ว่าจะถูกทาบทามและเสนอเงินก้อนใหญ่ แต่ก็ยังไม่มีใครกล้า" หัวคะแนนรายนี้กล่าว

 ขณะที่หัวคะแนนในเขต อ.เมือง จ.ขอนแก่น รายหนึ่ง กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ หัวคะแนนต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะระยะเวลาการหาเสียงมีน้อย แต่ละเขตมีหลายหมู่บ้านทำให้หาเสียงไม่ทั่วถึง เริ่มมีกระแสการทุ่มเงินจ่ายไปบ้างแล้วคาดว่าชาวบ้านจะได้รับคนละ 200-1,000 บาท ส่วนประเด็นที่ว่าจะได้ตามเป้าหรือไม่นั้นไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นความผูกพันกันทางใจที่เมื่อรับไปแล้วก็ต้องช่วยกัน

 หัวคะแนนใน จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ถือเป็นประเพณีในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งไปแล้ว โดยจะมีการจ่ายล่วงหน้าให้ชาวบ้านหัวละ 100-500 บาท ที่นี่ก่อนหน้านี้จะคำนวณกันยกเขต เช่น ใน 1 เขตเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิประมาณ 9 หมื่นคน พรรคการเมืองแจกจ่ายเงินให้ชาวบ้าน 7 หมื่นคน โดยหวังผลว่าจะเลือก 4-5 หมื่นคน ซึ่งทำให้ต้องเตรียมเงินซื้อเสียงประมาณ 35 ล้านบาท เลือกตั้งหนนี้จึงน่าจะใช้เงินกันมากขึ้นอาจถึง 100 ล้านบาทเลยทีเดียว

ศูนย์ข่าวภูมิภาค