ข่าว

เครียดตร."มะเขือเผา"พุ่งทั่วประเทศ

เครียดตร."มะเขือเผา"พุ่งทั่วประเทศ

07 มิ.ย. 2554

พบตัวเลขตร. "มะเขือเผา" พุ่งทั่วประเทศสาเหตุจากเครียด เฉพาะรพ.ตำรวจเข้าคิวรักษาถึง 30 รายต่อเดือน จนรพ.ผลิตยารักษาไม่ทัน ส่วนใหญ่อายุ 40 ขึ้นไป

 ความเครียดจากการทำงานเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ตำรวจไทยจำนวนไม่น้อยป่วยด้วยโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เฉพาะที่เข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลตำรวจมีสถิติที่ค่อนข้างสูงเฉลี่ย 20-30 คนต่อเดือน ซึ่งปริมาณผู้ป่วยดังกล่าวส่งผลให้ยาจำพวกไวอากร้าค่อนข้างขาดแคลน ทำให้แพทย์โรงพยาบาลตำรวจต้องผลิตยารักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศขึ้นมาใช้สำหรับการรักษาผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำรวจโดยเฉพาะ

 "ดาบตำรวจวัย 47 ปี" สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ป่วยด้วยโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจมานานกว่าครึ่งปี เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปลายปี 2553 ไม่สามารถมีกิจกรรมทางเพศกับภรรยาได้ เนื่องจากอวัยวะเพศไม่แข็งตัว จนมีปัญหากระทบกระทั่งกันบ่อยครั้ง จึงตัดสินใจเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ

 ดาบตำรวจรายเดิม เปิดเผยว่า แพทย์ได้วิเคราะห์อาการแล้ว แจ้งว่า สาเหตุที่ทำให้ป่วยด้วยโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นเพราะความเครียดจากการทำงานด้านสืบสวนติดตามจับกุมคนร้ายที่ทำอยู่ ประกอบกับพักผ่อนน้อยและดื่มสุราในปริมาณมาก จึงทำให้หลอดเลือดบริเวณอวัยวะเพศฝ่อ แพทย์ให้ยาขยายหลอดเลือดจำพวกไวอากร้ารักษาอาการ ซึ่งอาการก็ดีขึ้น แต่ระยะหลังเกิดปัญหายาจำพวกนี้มีราคาแพงและเริ่มขาดแคลนเนื่องจากมีตำรวจป่วยด้วยโรคนี้ค่อนข้างมาก ปัจจุบันแทบต้องเข้าคิวรอรับยา

 “ขณะนี้ตำรวจป่วยด้วยโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเยอะ โดยเฉพาะวัยใกล้เกษียณ ผู้หลักผู้ใหญ่ระดับนายพลหลายรายก็มีปัญหากัน อาการนี้ต้องใช้ยาจำพวกไวอากร้ารักษา แต่ผู้ป่วยที่มีจำนวนมากประกอบกับราคายาค่อนข้างแพง จึงทำให้ขณะนี้ยาจำพวกนี้ในโรงพยาบาลตำรวจค่อนข้างขาดแคลนต้องรอคิวนานกว่าจะได้” ดาบตำรวจ ซึ่งป่วยด้วยโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เปิดเผย

 เช่นเดียวกับ "นายตำรวจยศพันตำรวจโท" ซึ่งรับผิดชอบงานด้านสืบสวนสอบสวนใน จ.อ่างทอง ยอมรับว่า ป่วยด้วยโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และมีปัญหากระทบกระทั่งกับภรรยามาระยะหนึ่ง เพราะป่วยด้วยโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน ที่ผ่านมาได้เข้ารับการรักษาอาการ แต่ต้องทนแบกรับค่ายาที่ค่อนข้างสูง ไปพบแพทย์แต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 3,000 บาท และมีบ่อยครั้งที่ต้องรอยาจำพวกไวอากร้า โดยแพทย์แจ้งให้ทราบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากทำให้ยาไม่เพียงพอ

 "หลายครั้งหมอแจ้งให้ทราบว่ายาไม่พอจ่าย เพราะมีเพื่อนร่วมอาชีพของผมป่วยด้วยโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเพิ่มสูงขึ้นทุกเดือน อีกทั้งยาจำพวกนี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและราคาค่อนข้างสูง จึงทำให้ค่อนข้างขาดแคลน ผมอยากให้หายก็จำใจต้องรอ ส่วนราคาค่ารักษาพยาบาลก็ต้องทำใจยอมรับ ระยะหลังหมอแนะนำยาตัวอื่น ซึ่งก็ลองใช้ดู เพราะหวังว่าจะหายเป็นปกติ" นายตำรวจยศพันตำรวจโท กล่าว

 ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับ พ.ต.อ.นพ.ไพบูลย์ มะระพฤกษ์วรรณ แพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจ และผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ยอมรับว่า ปัจจุบันมีตำรวจป่วยด้วยโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศจำนวนมากจริง เฉพาะที่โรงพยาบาลตำรวจเพียงที่เดียวมีตำรวจเข้ารับการรักษาอาการด้วยโรคนี้สูงเฉลี่ยเดือนละ 20-30 ราย

 พ.ต.อ.นพ.ไพบูลย์ บอกว่า ตำรวจที่เข้ารับการรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในโรงพยาบาลตำรวจถือเป็นส่วนน้อยจากจำนวนตำรวจที่ป่วยด้วยโรคนี้ทั่วประเทศ ซึ่งกระจัดกระจายรักษาอาการตามโรงพยาบาลและสถานพยาบาลอื่นๆ โดยส่วนใหญ่ตำรวจที่ป่วยด้วยโรคนี้จะมีอายุระหว่าง 40 ปีขึ้นไปจนถึงวัยใกล้เกษียณ สาเหตุมาจากความเครียดจากการทำงาน ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ต่อมลูกหมากโต และดื่มสุราในปริมาณมาก ส่งผลให้มีปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเกิด ไขมันเกาะผนังหลอดเลือด อวัยวะเพศไม่แข็งตัว แพทย์จึงต้องให้ยาจำพวกไวอากร้าเพื่อบำบัดรักษาอาการ

 “จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับยาต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาที่ค่อนข้างแพง เม็ดละประมาณ 400-500 บาท จึงทำให้ยาประเภทนี้ค่อนข้างขาดแคลน ต้องหาทางออกโดยการปรุงยาซึ่งมีสรรพคุณเช่นเดียวกับยาไวอากร้าขึ้นมารักษาอาการของผู้ป่วยเอง” พ.ต.อ.นพ.ไพบูลย์ กล่าว

 สำหรับยาที่นายแพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจผลิตขึ้นใช้รักษาอาการป่วยด้วยโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศมีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดใช้ทาบริเวณอวัยวะเพศ มีชื่อว่า “เลิฟโลชั่น” และชนิดยาเม็ดใช้อมใต้ลิ้น ชื่อ “วาดีนาฟิล” ซึ่งยาทั้ง 2 มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับไวอากร้า แต่ราคาถูกกว่ามาก โดยทั้งสองชนิดราคาไม่ถึง 100 บาทต่อขวดและต่อแผง

 พ.ต.อ.นพ.ไพบูลย์ บอกด้วยว่า การรักษาอาการโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ในแต่ละครั้งที่ไปพบแพทย์ผู้ป่วยต้องเสียเงินค่ายาไม่น้อยกว่า 3-5 พันบาท ประกอบกับยาส่วนใหญ่ต้องรอนำเข้าจากต่างประเทศ ต้องใช้ระยะเวลาในการรอยา จึงทำให้ตำรวจที่ป่วยด้วยโรคนี้จำนวนไม่น้อยได้รับความเดือดร้อน แต่เมื่อมีการผลิตยารักษาอาการโรคดังกล่าวขึ้นใช้ในโรงพยาบาลตำรวจเอง ปรากฏว่าสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับที่น่าพอใจ