ข่าว

"อาหรับราตรีVSมังกรหยก"ที่อุซเบกิสถาน(6)

"อาหรับราตรีVSมังกรหยก"ที่อุซเบกิสถาน(6)

04 มิ.ย. 2554

วันรุ่งขึ้นเป็นวันเดินมาราธอนโดยแท้ ตั้งแต่เริ่มชมสุสานแห่งซามานิดส์ ตั้งอยู่ในเขตสาธารณะซามานิ เขตเมืองเก่า ห่างจากโปโลเฮ้าส์ราว 500 เมตร ในอดีตถือเป็นสุสานโบราณนอกกำแพงเมืองชั้นใน สร้างโดยอิลซามานิ หรืออิสมาอิล ซามานิก ผู้ก่อตั้งราชวงศ์และอาณาจักรซามาน

  สุสานแห่งนี้นับเป็นสุสานแห่งแรกที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียกลาง ได้รับยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกที่มีมาก่อนสถาปัตยกรรมของอิสลาม แม้จะเป็นสุสานเล็กๆเนื่องจากสมัยนั้นมีบทบัญญัติทางศาสนาว่าห้ามสร้างสุสานสูงกว่าหลุมศพของศาสนทูต

 จะว่าเป็นความโชคดีของสุสานนี้ก็ว่าได้ ที่ถูกดินทรายกลบฝังลึกหลายเมตรเป็นเวลานานกว่า 700 ปีเหมือนกับที่อาโฟรซิยาปในเมืองซามาคานด์ จึงไม่ถูกกองทัพเจงกิสข่านเผาทำลายเป็นจุณเหมือนที่อื่น  ก่อนที่นักโบราณคดีชาวรัสเซียจะขุดพบเมื่อปี พ.ศ.2477 โดยมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ซ่อมแซมใหม่เฉพาะที่โดมเท่านั้น นอกนั้นยังเป็นของเก่าดั้งเดิมที่มีอายุกว่าพันปี

 ถ้ามองจากภายนอกจะเห็นเป็นอาคารก่อด้วยอิฐทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์หรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส ไม่มีการประดับหินสี โดยเฉพาะสีฟ้าเหมือนที่อื่น เสาทั้งสี่มุมของอาคารหนาถึง 2 เมตร ด้านบนทำเป็นโดม ด้านหน้าเป็นอิฐซ้อนเรียงเป็นลวดลายเหมือนตะกร้าสานสวยงามมากและเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ไม่ซ้ำแบบถึง 18 แบบ โดยเฉพาะสัญลักษณ์ของศาสนาโซโรแอสเตอร์ ต้นแบบลัทธิเม้งก่าในจีนก่อนจะกลายเป็นราชวงศ์เหม็งดังที่ปรากฏในมังกรหยกของกิมย้ง

 ยิ่งถ้าดูจากภายในจะเห็นภูมิปัญญาอันเหลือล้ำของคนโบราณ ซึ่งนำความรู้ทางคณิตศาสตร์มาเป็นประโยชน์ด้วยการเล่นกับตัวเลขให้เพิ่มจำนวนทีละเท่า จากฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมเป็น 8 เหลี่ยมและ 16 เหลี่ยม รับกับฐานโดมรูปวงกลมด้านบน

 ผู้เชี่ยวชาญด้านสัญลักษณ์กล่าวว่า ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ เป็นสัญลักษณ์หมายถึงโลก บ้างก็ว่าหมายถึงหินศักดิ์สิทธิ์กาบะที่เมกกะ ส่วนโดมหมายถึงท้องฟ้าหรือสวรรค์ แผ่นอิฐทรงกลมบนเสาหมายถึงพระอาทิตย์และโลก การสร้างโดมอยู่เหนือลูกบาศก์ จึงหมายถึงจักรวาลซึ่งประกอบด้วยโลกและสวรรค์ที่เป็นหนึ่งเดียว

 สำหรับอิฐที่ใช้ก่อนี้ทำด้วยไม้ไผ่บด ไข่ นมอูฐ เท่านั้น ไม่มีสูตรพิสดารที่แสนโหดร้ายโหดร้ายดังที่หวงอี้พรรณนาไว้ใน "มังกรคู่สู้สิบทิศ" ว่า"...ป้อมเฮ่อเหลียนได้ชื่อว่ามั่นคงแข็งแร็ง วิธีการก่อสร้างใช้ดินเหนียวพิเศษชนิดหนึ่ง ผสมกับเลือดวัวเลือดแพะ สร้างขึ้นทีละชั้น จากนั้นสุมฟืนเผาเมื่อสร้างเสร็จชั้นหนึ่ง  ฮั่วเหลียนปอป๋อจะสั่งให้ไพร่พลตอกเหล็กขนาดใหญ่เข้าไป หากสามารถตอกเข้าไปหนึ่งนิ้ว จะฆ่าคนงานที่สร้างป้อมค่าย หากตอกไม่เข้าก็เปลี่ยนเป็นสังหารไพร่พลทหาร ลองนึกดูสิ ป้อมค่ายเช่นนี้ใช่แข็งแกร่งกว่ามีดขวานหรือไม่"

 ความมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งของสุสานโบราณแห่งนี้ก็คือจะเปลี่ยนสีไปตามมุมของแสงแดดในแต่ละช่วงเวลาของวัน ว่ากันว่าเป็นปริศนาธรรมสะท้อนถึงจิตวิญญาณกับความเป็นนิรันดร์ เสียดายที่พวกเราได้ดูเฉพาะตอนสายเท่านั้นจึงไม่มีโอกาสพิสูจน์ว่าเป็นจริงตามนี้หรือไม่

 ใกล้ๆ กันนั้น เป็นบ่อน้ำ ชาสมา-อายุบ หรือบ่อน้ำของอายุบ สร้างโดยนักบุญอายุบในสมัยศตวรรษที่ 16 ซึ่งเดินทางมาจากเมดินาเพื่อมาเผยแพร่ศาสนาที่ดินแดนแห่งนี้และได้เป็นพระอาจารย์ของอิหม่ามคนหนึ่งในบุคาลา เมื่อนักบุญอายุบเห็นชาวบ้านใกล้จะอดน้ำตาย จึงใช้ไม้เท้ากระทุ้งพื้นดิน เกิดเป็นตาน้ำให้ชาวบ้านดื่มกิน ถือเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้อาบรักษาโรคได้ ปัจจุบันใช้ฝาสังกะสีปิด แต่ต่อท่อออกมาทำเป็นรางให้ชาวบ้านนำถ้วยมารองดื่มได้

 ฝั่งตรงข้ามชาสมา-อายุบ เป็นอนุสรณ์สถานอิหม่ามอิสมาอิล อัลบูคารี ผู้ซึ่งสามารถจดจำคำสอนของพระเจ้าได้ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ พออายุ 12 ปี ก็สามารถท่องจำคัมภีร์อัลกุรอานได้ทั้งเล่ม อายุ 16 ปีได้ไปแสวงบุญที่เมกกะ เป็นเวลาถึง 42 ปี และได้รวบรวมคำสั่งสอนที่เป็นวจนะของนะบี โมฮัมหมัดไว้เป็นหมวดหมู่ เป็นอาคารสร้างใหม่กอปรด้วยสัญลักษณ์มากมาย

 หลังจากเดินทะลุมาอีกด้านหนึ่ง พวกเราก็มาถึงจัตุรัสใหญ่ที่สำคัญที่สุดและสวยงามที่สุดของเมืองบุคารา หมู่อาคารทรงเหลี่ยมหันหน้าชนกันนี้ได้รับยกย่องว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของเอเชียกลาง สร้างระหว่างศตวรรษที่ 12-16 ยุคเดียวกับเจ็งกิสข่าน โดยอาคารหนึ่งเป็นมัสยิดประจำเมืองบุคารา อีกอาคารหนึ่งเป็นมาดราซาส์หรือวิทยาลัยเทววิทยาหรือโรงเรียนสอนศาสนาที่ยังใช้การอยู่

 อาคารแรกก็คือมัสยิดกัลยันหรือมัสยิดคาลอน ซึ่งแปลว่ายิ่งใหญ่เหมือนกันในภาษาทาจิก โดยยิ่งใหญ่ทั้งในแง่ของสถานที่ซึ่งสามารถบรรจุอิสลามิกชนให้ทำละหมาดได้ถึง 1 หมื่นคน และยังยิ่งใหญ่ในแง่ที่เป็นมัสยิดสำหรับคนใหญ่โตที่จะมาทำละหมาดโดยเฉพาะ

 อัสลาน ข่าน แห่งราชวงศ์คาราคานิด ที่ปกครองบุคาราได้บัญชาให้สร้างมัสยิดกัลยันขึ้นบนพื้นที่เดิมที่เคยเป็นมัสยิด แต่ถูกทหารเจงกิสข่านเผาทำลาย  โดยด้านตะวันตกหันไปยังนครเมกกะ มีโดมสีฟ้าขนาดใหญ่งดงามมาก มัสยิดนี้สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.1670 มีขนาดเท่ากับมัสยิดบีบีคานุมในเมืองซามาคานด์ จนเหมือนกับมัสยิดฝาแฝดในเรื่องของขนาด แต่ต่างกันในเรื่องของรูปลักษณ์ของตัวอาคาร

  รอบๆ มัสยิดประดับด้วยไม้สีอิฐเป็นกระดานหมากรุก มีประตูโค้ง ซุ้มโค้ง 280 ซุ้ม เพื่อให้มีเสียงก้องสะท้อน เนื่องจากได้กลับมาเป็นจุมมา มอสค์ หรือสุเหร่าวันศุกร์เหมือนในอดีตอีกครั้งหนึ่ง
 
 คุณปอได้เล่าตำนานว่าจาเฮอไตหรือจากะไต ลูกชายของเจงกิสข่านที่ได้ปกครองดินแดนนี้ได้สั่งฆ่าเด็กถึง 700 คนโดยให้ม้าเหยียบตรงลานขนาดใหญ่กลางมัสยิดกัลยัน ขณะนี้มีต้นไม้ต้นหนึ่งเป็นเครื่องเตือนความจำอันหฤโหดนั้น บางตำนานก็ว่าเด็ก 700 คนถูกฝังทั้งเป็น ไม่ว่าจะถูกฝังทั้งเป็นหรือถูกม้าเหยียบ แต่เด็ก 700 คนถูกฆ่าตายอย่างเหี้ยมโหดเพื่อสั่งสอนชาวอุซเบคที่บังอาจทำสงครามกับมองโกล  

 ใกล้ๆ กันนั้นเป็นหอคอยสูงเทียมฟ้าเรียกว่าหอคอยหรือหอขานละหมาดกัลยันหรือหอขานละหมาดคาลอนหรือโป-อิ กัลยัน โดยอัสลาน ข่าน ทรงให้สร้างเมื่อปี พ.ศ.1670 ถือเป็นหอขานละหมาดหรือมิเนอเรตประจำเมืองบุคาราที่เด่นตระหง่านเห็นแต่ไกล เส้นผ่าศูนย์กลางของฐานกว้างถึง 9 เมตร สามารถรองรับหอคอยที่สูงถึง 48 เมตร ได้อย่างสบายมาร่วม 900 ปี เนื่องจากมีการวางฐานรากอย่างดีเพื่อป้องกันแผ่นดินไหว โดยขุดฐานลึกลงไป 10 เมตร แล้วค่อยๆ สอบขึ้นด้านบน

 ตามตำนานกล่าวว่าครั้งหนึ่งอัสลาน ข่านได้ปะทะคารมกับอิหม่ามผู้หนึ่งจนพลั้งมือสังหารอิหม่ามผู้นั้น ซึ่งได้เข้าฝันข่านว่าจะต้องสร้างสถานที่วางศีรษะของตัวเองโดยไม่มีใครมารบกวนได้ อัสลาน ข่านจึงบัญชาให้สร้างหอคอยสูงบนหลุมฝังศพของอิหม่ามผู้นั้นเพื่อไถ่โทษ

 อย่างไรก็ดี มีร่องรอยว่าหอคอยกัลยันได้รับการปฏิสังขรณ์ 2 ครั้งในยุคสมัยต่างกัน เนื่องจากบริเวณที่สร้างเป็นดินอ่อนจึงทำให้ทรุดถึง 80 เซนติเมตร หลังสร้างเสร็จครั้งแรก รูปร่างของหอส่วนที่สูงที่สุดเป็นทรงกลม แต่ขณะนี้ส่วนสูงที่สุดด้านซ้ายได้กลายเป็นรูปทรงกรวยมีเส้นผ่าศูนย์กลางแค่ 6 เมตร ภายในมีบันไดวน 105 ขั้นจนถึงยอด ซึ่งทำเป็นช่องโค้ง 16 ช่อง

 แต่บริเวณฐานทางใต้และตะวันออกมีร่องรอยการซ่อมแซมความเสียหายจากกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงใส่หอนี้เมื่อปี พ.ศ.2463

 มิเนอเรตนี้ตกแต่งลวดลายเรขาคณิตเป็นแถบรอบรวม 14 แถบที่ไม่ซ้ำแบบกันเลย มีแถบหนึ่งเป็นกระเบื้องเคลือบสีน้ำเงิน ได้จารึกเป็นภาษาอารบิกชื่อของบาโค ผู้สร้างหอคอยนี้ พร้อมด้วยปีที่สร้าง รวมทั้งพระนามของอัสลาน ข่าน ผู้สั่งให้สร้างด้วย

 ด้วยความที่เป็นหอสูงมาก หอคอยแห่งนี้จึงยังมีหน้าที่พิเศษอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือเป็นหอสังเกตการณ์คอยดูขบวนคาราวานตามเส้นทางสายแพรไหม หรือถ้าเป็นยามศึกสงครามก็ใช้เป็นหอสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของข้าศึก ซึ่งดิฉันนึกภาพออกเลยว่ากว่าทหารจะวิ่งขึ้นถึงตอนบน คงเหนื่อยไม่ใช่น้อย เพราะนอกจากจะสูงแล้ว บันไดยังวนและเล็กแคบอีกด้วย

 ส่วนในเวลากลางคืนก็จะทำหน้าที่เป็นประภาคาร เพื่อบอกทิศทางหรือจุดหมายสำหรับกองคาราวานที่เดินทางยามค่ำคืน ต่อมาในศตวรรษที่ 18-19 ก็กลายเป็นหอประหารด้วยการโยนนักโทษลงจากชั้นบนสุดลงมาเบื้องล่างซึ่งปรากฏว่าไม่มีใครรอดแม้แต่รายเดียว ในยุคที่โซเวียตยึดครองอุซเบกิสถานอยู่นั้นก็ใช้หอคอยนี้เป็นคลังสินค้า หอคอยกัลยันเพิ่งจะกลับมาเป็นหอขานละหมาดอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2534 นี้เอง

 หอคอยกัลยันหรือคาลอนมินาเรตนับเป็นสิ่งก่อสร้างแห่งที่สองที่ไม่ถูกกองทัพเจงกิสข่านทำลายราบเหมือนที่อื่น โดยตำนานกล่าวว่าเมื่อ
เจงกิสข่านมาถึงคาลอนมินาเรต ก็เกิดลมพายุพัดหมวกปลิวหลุดจากศีรษะ เจงกิสข่านต้องก้มลงเก็บหมวกที่ฐานของมินาเรต จึงเชื่อว่ามินาเรตแห่งนี้ไม่ธรรมดาถึงกับทำให้ตัวเองต้องก้มหัวให้ เจงกิสข่านจึงละเว้นไม่ให้ทำลาย ในขณะที่มัสยิดและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ โดยรอบถูกเผาเรียบ

 ที่ตั้งประจันหน้ากับมัสยิดกัลยันโดยมีลานกว้างคั่นกลางก็คือมิริอาหรับมาดราซาส์ ซึ่งมีความยิ่งใหญ่และความงดงามพอๆ กัน มิริมาจากคำว่ามีร์หรือข่าน มิริอาหรับแปลว่ามาจากข่านแห่งอาหรับ ในที่นี้หมายถึงชีค อับดุลเลาะห์ ยามานี เจ้าชายแห่งเยเมน ที่ให้สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 มี 2 โดม โดมหนึ่งเป็นที่สวด อีกโดมหนึ่งเป็นห้องสมุด จุดเด่นคือโดมขนาดใหญ่สีเขียวอมฟ้าขนาบสองข้างประตูทางเข้า ปัจจุบันยังคงเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอยู่ จึงไม่ได้เข้าไปชมใกล้ๆ ได้แต่แลผาดๆ อยู่ด้านนอก

 หลังจากชมมัสยิดและหอคอยจนเหนื่อย พวกเราก็เดินชมตลาดโบราณแถวอับดุล มาดราซาส์ ตลาดโบราณนี้จะสร้างเป็นโดมใหญ่เรียกว่าโดมการค้า สมัยก่อนมีห้าโดมด้วยกันตามประเภทของสินค้า เช่นตลาดแลกเงิน ตลาดหมวก แต่ปัจจุบันเหลือเพียงสามโดมเท่านั้น ซึ่งล้วนแต่ขายสินค้าที่ระลึกทั้งเก่าและใหม่ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายเลนินเก่าๆ จนถึงสร้อยเงินรูปทรงโบราณ เสื้อผ้าแพรไหม หมวกและกระเป๋า ฯลฯ เห็นแล้วอยากได้ไปหมด

 พวกเรายังได้ชม "ฮัมมอน" หรือห้องน้ำสาธารณะแบบโบราณที่ใช้จนถึงทุกวันนี้ ข้างในมี 7 ห้อง เป็นห้องน้ำรวมมีทั้งห้องซาวน่า ห้องนวด ห้องอบไอน้ำ อัคบาร์ เจ้าของห้องน้ำสาธารณะนี้ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 4 แล้ว เผยว่าผู้หญิงและผู้ชายจะใช้ห้องน้ำสาธารณะนี้ในเวลาต่างกัน โดยผู้ชายจะใช้บริการระหว่างเวลา 06.00-14.00 น. จากนั้นค่อยเป็นเวลาของผู้หญิง

 ราคาค่าบริการนั้นครั้งละ 1 ชั่วโมงครึ่ง ถ้าอาบน้ำคิด 1.5 หมื่นซูม หรือราว 225 บาท ถ้าฟูลคอร์สรวมนวดด้วยคิด 5 หมื่นซูม หรือ 25 ดอลลาร์ หรือ 750 บาท มีน้ำกลิ่นกุหลาบหอมมากไว้บริการ เช่นเดียวกับน้ำชา   

 ใกล้ๆ กันนั้น เป็นคาราวานสราย หรือโรงเตี๊ยมของขบวนคาราวาน อดีตที่พักกลางทะเลทรายของบรรดาพ่อค้าที่เดินทางตามเส้นทางสายแพรไหม เป็นซากอาคารอยู่หลังร้านขายพรมซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับการบูรณะปล่อยให้ทรุดโทรมอย่างน่าเสียดาย ไม่เหมือนกับคาราวานสรายที่เคยเห็นในอาเซอร์ไบจาน ที่ได้รับการบูรณะจนเป็นแหล่งท่องเที่ยว บางแห่งก็เปิดบริการเหมือนในอดีต

 เจ้าของซากคาราวานสรายกล่าวว่าได้เช่าจากรัฐบาลแต่ยังไม่มีปัญญาบูรณะ เพราะไม่มีเงิน รัฐเองก็ไม่มีเงินที่จะบูรณะเช่นกัน หนำซ้ำยังไม่ทราบว่าถ้าบูรณะแล้วจะนำไปใช้ทำอะไร เนื่องจากยังต้องมีโครงการเพื่อปากท้องประชาชนอยู่อีกมาก

  เหนือห้องพักของซากคาราวานสรายเป็นโดมตะปุ่มตะป่ำสูงต่ำไม่เท่ากันคล้ายกับผิวมะกรูด แท้ที่จริงเป็นช่องลมสำหรับระบายอากาศ ถือเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย

 จากนั้นก็เดินมาชมสุเหร่ามาโกกิอัตตาร์ ใจกลางเขตเมืองเก่า เดิมทีอาจจะเคยเป็นวิหารในศาสนาโซโรแอสเตอร์ของเปอร์เซียโบราณ รวมทั้งอาจจะเคยเป็นวัดในพุทธศาสนามาก่อนด้วย แต่เมื่ออาหรับพิชิตดินแดนนี้ ก็ได้เปลี่ยนให้เป็นสุเหร่า

  ถือเป็นสุเหร่าแห่งแรกที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียกลาง สร้างในปลายศตวรรษที่ 8 จากนั้นก็มีการขยายต่อเติมรวม 3 สมัยด้วยกัน โดยตัวมัสยิดสร้างในสมัย ศตวรรษที่ 8 ก่อนจะมีการต่อเติมโดมในศตวรรษที่ 12 แล้วสร้างโดมเล็กข้างนอกในศตวรรษที่ 16

  สืบเนื่องจากมัสยิดนี้ถูกพายุทรายฝังกลบจมอยู่ใต้ดินลึกลงไปจากพื้นถนนประมาณ 3 เมตร จึงรอดพ้นจากการถูกกองทัพมองโกลของเจงกิสข่านเผาทำลายในศตวรรษที่ 13 นับเป็นโบราณสถานแห่งที่ 3 ที่โชคช่วยให้รอดมาได้ ก่อนที่จะขุดพบก่อนหน้าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นานนัก

 ระหว่างการขุดค้น ได้ขุดพบสัญลักษณ์พระจันทร์เสี้ยวในสุเหร่าจึงเรียกขานกันว่าสุเหร่าพระจันทร์ พลอยทำให้ตลาดโบราณเล็กๆ ที่อยู่บริเวณนั้นได้ชื่อว่าตลาดพระจันทร์ตามไปด้วย โดยพ่อค้าจะขายของทุกอย่าง เพื่อนำเงินมาสร้างมัสยิดแห่งนี้

 ว่ากันว่าชาวยิวก็เคยใช้มัสยิดแห่งนี้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา บ่งบอกว่าคนสมัยก่อนสามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติ แม้จะมีความเชื่อต่างกันก็ตาม

 พวกเราได้วกกลับมาที่ "เลียบิเฮ้าส์" หรือสระน้ำสาธารณะใหญ่เพื่อเก็บรายละเอียดอีกครั้ง รอบสระน้ำสาธารณะนี้นอกจากจะมีรูปปั้นคาราวานอูฐ ยังมีซากต้นมัลเบอรีหรือต้นหม่อนอายุกว่าพันปีอยู่หลายต้น

 ทันใดนั้น ดิฉันก็ได้พบรูปปั้นนัสรูดินขี่ลา มือขวาแตะที่อก ยกมือซ้ายโบกทักทาย เล่นเอาตกใจเพราะรู้แต่ว่านัสรูดิน เป็นตลกเอกชาวอาหรับ อยู่ในนิทานพื้นบ้านคล้ายกับศรีธนญชัยของไทยแต่มีคุณธรรมมากกว่า มีน้ำใจชอบช่วยเหลือคนอื่น ไม่เอารัดเอาเปรียบใครแต่ก็ไม่ยอมให้ใครเอารัดเอาเปรียบเช่นกัน แต่ชาวอุซเบคยืนยันว่านัสรูดินเป็นชาวอุซเบค

 โบราณสถานแห่งสุดท้ายที่เราได้ชมกันก็คือชอร์มินอร์ ชอร์แปลว่า 4 ส่วนมินอร์หรือมินาเรตหรือหอขานละหมาด ชอร์มินอร์จึงแปลว่าสี่มินาเรต นับเป็นสุเหร่าที่แปลกที่สุดเพราะมียอดโดม 4 โดม แม้จะเป็นสุเหร่าเล็กๆ ก็ตาม แต่ก็มีทุกอย่างครบ นอกจากมีโดม 4 โดมแล้ว ยังมีสระน้ำ มีลานกว้าง มีหอขานละหมาด มีโรงเรียนสอนศาสนา สุเหร่าและห้องสมุด

 เศรษฐีชาวเติร์กเมนิสถานเป็นคนสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2350 ให้เป็นส่วนหนึ่งของมาดราซาส์ซึ่งขณะนี้ไม่เหลือซากให้เห็นอีกแล้ว มีเรื่องเล่ากันสนุกว่าเศรษฐีชาวเติร์กเมนิสถานผู้นี้สร้างชอร์มินอร์แห่งนี้เพื่อหวังจะป่าวประกาศว่ามีลูกสาว 4 คนซึ่งยังเป็นโสดอยู่ เรื่องเล่านี้มีขึ้นเนื่องจากหอขานละหมาดทั้ง 4 หอนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นหอขานละหมาดจริงๆ เพราะบนยอดโดมไม่สามารถเปิดออกสู่ภายนอกได้

 ระหว่างเดินท่องชมโบราณสถานในเมืองบุคารา ดิฉันรู้สึกหงุดหงิดใจอยู่ลึกๆ เมื่อเห็นเมืองทั้งเมืองอยู่ในช่วงการก่อสร้าง มีทั้งการต่อเติมบ้าน ขุดซ่อมถนนและปูถนนใหม่ โดยไม่คิดอนุรักษ์รักษาของเก่าไว้ หรือโดยไม่คิดถึงความกลมกลืนระหว่างเก่ากับใหม่ นอกจากปูถนนด้วยอิฐใหม่แล้วยังมีการทาสีบ้าน ทั้งๆ ที่ของเก่าล้วนเป็นสีธรรมชาติ นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่ใช่น้อย


บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์