
สแกน"ทีมอารักขา"นักการเมือง!!
ข่าวฮือฮาที่มีผู้สมัคร ส.ส. โดยเฉพาะ "ส.ส.เขต" ที่ร้องขอ "กำลังคุ้มกัน" ผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึง 123 ราย แสดงให้เห็นว่า การแข่งขันครั้งนี้ดุเดือดเลือดพล่านแค่ไหน เพราะการแข่งขันในระบบเขตเดียว-เบอร์เดียว มีที่ยืนให้ผู้ชนะเพียงคนเดียวเท่านั้น
นั่นคือความเคลื่อนไหวในทางเปิด แต่ใน "ทางลับ" ผู้สมัคร ส.ส.จากทุกพรรคต่างก็ยอมควักกระเป๋าจ้าง "ทีม รปภ.ส่วนตัว" กันทั้งนั้น โดยเฉพาะทีมอารักขาบุคคลสำคัญฝีมือเยี่ยมทั้งสีกากีและสีเขียว
โดยเฉพาะกลุ่มสีเขียว-สีน้ำเงิน-สีฟ้า ที่เป็นหน่วย "อารักขาบุคคลสำคัญ" ของแต่ละเหล่าทัพ จะได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ ฉะนั้น จึงมีทหารทั้งในและนอกราชการของทุกเหล่าทัพตบเท้า "รับจ็อบ" ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก !!
แม้ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะมอบนโยบายให้ พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ กำชับไม่ให้กำลังพลเข้าไปข้องแวะกับการเมือง
การยื่นคำขาดของ รมว.กลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ ที่สั่งห้ามไม่ให้กำลังพลทุกระดับชั้นเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองอย่างเด็ดขาด เพราะจะถูกมองว่า กองทัพเข้าข้างพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นพิเศษดูเหมือนจะได้ผลไม่น้อย
เพราะก่อนหน้านี้กองทัพมีการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" ไปแล้วในกรณีที่มีสารวัตรทหารบก (สห.) สังกัดมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) "ยศพันเอก" เดินตามนักการเมืองในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่เมื่อข่าวล่วงรู้ไปถึงหูของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้สั่งการให้ "ตั้งคณะกรรมการสอบสวน" ขึ้นมาสอบสวนพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว พร้อมกับสั่งการให้มีการ "สำรองราชการ" นายทหารยศพันเอกดังกล่าวทันที ทำให้นายทหารคนอื่นออกอาการหนาวๆ ร้อนๆ ไปตามๆ กัน
ขณะที่ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กองบัญชาการกองทัพไทย ที่อยู่ในสายการบังคับบัญชาของ พล.อ.ทรงกิตติ ก็ไม่อนุญาตให้กำลังพลของ ศรภ. ออกไปปฏิบัติงานนอกภารกิจแต่อย่างใด
มีเพียงการสนับสนุนกำลังพลในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เท่านั้น แต่จะรักษาความปลอดภัยให้ในเวลาราชการ และภารกิจที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น
ส่วนการลงพื้นที่หาเสียง ซึ่งเป็นการปฏิบัติภารกิจส่วนตัว และในนามพรรคประชาธิปัตย์จะใช้กำลังพลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จัดให้เท่านั้น
โดย ผบ.ตร.จัดทีม รปภ.จากหน่วย "อรินทราช" หรือ 191 จากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และตำรวจสันติบาลอีก 1 ชุดปฏิบัติการ
ขณะที่รูปขบวนก็มีการปรับขนาดให้เล็กลงให้เหลือรถยนต์เพียง 5 คัน และรถจักรยานยนต์อีก 2 คันเท่านั้น จากเดิมที่เคยมีถึง 5 ชุดปฏิบัติการ คือ
1.ชุด "ทหารเสือราชินี" จากกองพันทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) 2.ชุดคอมมานโด จากหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน 3.ชุด "อรินทราช" หรือ 191 จากกองบังคับการกองปราบปราม 4.ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) และ 5.ตำรวจสันติบาล
ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ได้มีการขอกำลังตำรวจมาช่วยคุ้มกัน และมีข่าวว่ามีการจัดกำลังพลจากหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (อย.) ที่มี พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (อย.) เป็นผู้จัดมาดูแลเป็นกรณีพิเศษ โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละท้องที่คอยทำหน้าที่เสริมในการอารักขาอยู่วงนอกอีก 1 ชั้น
ส่วนชุดรักษาความปลอดภัยของ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มี นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย เป็นคนจัดหาทีม รปภ.มาดูแลเป็นพิเศษ
ทว่า นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคกิจสังคม รวมทั้ง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ไม่ได้ว่าจ้างทีม รปภ.ชุดใดเป็นพิเศษ สำหรับ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ หัวหน้าพรรครักษ์สันติ มีเพียงทีมของ "อดีตลูกน้องคนสนิท" มาคอยรปภ.ให้เท่านั้น
ขณะที่ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ที่แม้จะไม่ค่อยโดดเด่นเหมือนกับยุคที่ร่วมอุดมการณ์ชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง แต่ก็มีกลุ่ม "การ์ดพันธมิตร" ที่แยกตัวมาอยู่กับพรรคการเมืองใหม่ มาคอย รปภ.ให้
ปิดท้ายที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ซึ่งมีบารมีเหลือล้นในกองทัพ ทั้งในฐานะอดีตประธาน คมช. อดีต ผบ.ทบ. อดีตผู้บัญชาการหน่วยสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) แต่ก็ไม่ได้จัดทีม รปภ.มาคุ้มกันดูแลเป็นพิเศษแต่อย่างใด
โดยทีม รปภ.ของ พล.อ.สนธิ มีเพียงทหารที่เคยติดตามมาจากหน่วย "รบพิเศษ" ในสมัยที่ พล.อ.สนธิ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และอดีตประธาน คมช. เพียงแค่ 3 คนเท่านั้น โดยคนหนึ่งเป็นพลขับ อีกคนถือกระเป๋าเอกสาร และอีกคนเป็น รปภ.ส่วนตัว
ทั้งหมดนั้น คือ ภาพรวมของการจัดทีม รปภ.ของ ส.ส. และหัวหน้าพรรคการเมืองแต่ละพรรค ซึ่งจัดระดับความเข้มข้นในการ รปภ.ลดหลั่นกันไปตามความรุนแรงของแต่ละพื้นที่ และความสำคัญของผู้นำพรรคการเมือง
แต่ที่เหมือนกันประการหนึ่งก็คือ ทุกคนล้วน "กลัวตาย" กันทั้งสิ้น จึงทำให้ทีม รปภ. "มีสี" เดินสายรับทรัพย์กันสนุกมือ !!
ทีมข่าวความมั่นคง