ข่าว

"อาหรับราตรีVSมังกรหยก"ที่อุซเบกิสถาน(4)

"อาหรับราตรีVSมังกรหยก"ที่อุซเบกิสถาน(4)

28 พ.ค. 2554

ตลอดช่วงที่ชมเมืองซามาคานด์ ดิฉันพยายามสอดส่ายสายตาหาภูเขาสูง เท็กบักฮง หรือ "ยอดเขาไม้โกร๋น" แต่ก็ไม่พบสักลูก แม้กระทั่งตอนไปชม อะโฟรซียาบ เมืองเก่าทางเหนือของเขตเมืองปัจจุบัน

 ก็เป็นแค่เนินเขาไม่สูงนัก มีแต่หลักฐานชวนเชื่อว่าเมืองนี้ถูกเผาจนวอดและประชาชนถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากฝีมือของบรรดานักรบผู้เก่งกล้าทั้งหลายรวมทั้งเจงกิสข่าน หลักฐานที่ว่านั่นก็คือตลอดทั้งเนินเขาเต็มไปด้วยสุสานเก่าและใหม่ที่สร้างติดต่อกันเรื่อยมาเป็นเวลานานกว่าพันปี

  ถึงไม่บอกก็คงรู้กันดีว่าเหตุใดคนแถวนั้นจึงพร้อมใจกันย้ายไปสร้างเมืองใหม่ทางตอนใต้ที่เชิงเขาจวบจนทุกวันนี้ ปล่อยให้สุสานที่นี่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ใครอยากเห็นวัฒนธรรมการแต่งกายแบบอุซเบกที่หลากหลายออกไปก็ควรมาชมได้ที่นี่ ในฐานะเป็นศูนย์รวมของคนหนุ่มสาว เด็ก และคนชรา รวมทั้งยังได้เห็นแฟชั่นฮิตของชาวอุซเบกด้วยนั่นก็คือนิยมใส่ฟันทองกันเป็นแถว ไม่ใช่แค่ซี่สองซี่

 ดิฉันมีโอกาสเยี่ยมชมสุสานนอกกำแพงเมืองเก่าซึ่งรู้จักกันในชื่อของ ซาฮิ-ซินดา เป็นสุสานทั้งเก่าและใหม่ที่แสนงดงามถึง 11 แห่ง ข่านทามาเลนดำริให้สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 9-11 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของสุสานของบรรดาคนดัง คำว่าชาฮี-ซินดา มาจาก ชาห์- อี-ซินดา แปลว่ากษัตริย์ผู้มีชีวิต ซึ่งหมายถึงคัสเซม บุตรของอับบาส หลานของนะบี โมฮัมหมัด ที่มาเผยแพร่ศาสนาที่นี่และถูกตามล่าจนต้องหลบภัยอยู่ที่เนินเขาแห่งนี้ เมื่อเสียชีวิตศพก็ถูกฝังที่ปลายสุดของสุสาน แม้ว่าบางตำนานจะบอกว่าขึ้นสวรรค์ทั้งที่ยังมีชีวิตก็ตาม สมัยก่อน บรรดาชาวมุสลิมที่ไม่มีโอกาสไปนครเมกกะก็จะมาจาริกแสวงบุญที่นี่เพื่อขอพรจากพระญาติสายตรงของนะบี โมฮัมหมัดแทน ภายในของสุสานนี้ยังเป็นสุเหร่าด้วย โดยมีอิหม่ามนำสวดให้อิสลามิกชนผู้มาเยือน

 ด้านหน้าของสุสานของคัสเซมนี้มีสัญลักษณ์ของศาสนาโซโรแอสเตอร์ ซึ่งบูชาดินน้ำลมไฟ อันเป็นศาสนาดั้งเดิมของดินแดนแห่งนี้และเป็นต้นกำเนิดลัทธิเม้งก่าในมังกรหยกภาค 4 ของกิมย้ง หรือลัทธิรุ่งโรจน์ในมังกรคู่สู่สิบทิศของหวงอี้ สาวกของโซโรแอสเตอร์ในแถบนั้นเป็นผู้ตัดหัวคัสเซมฐานบังอาจมาท้าทายความเชื่อแต่เก่าก่อนของคนในดินแดนนี้

 ทางขึ้นสุสานเป็นบันได 36 ขั้น ไม่ทราบว่าเลขนี้มีความหมายซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ ทราบแต่ว่าชาวอุซเบกชอบเลข 8 เพราะหมายถึงสันติภาพและสุขภาพ สุดบันไดเป็นถนนเล็กๆ ทอดจากเหนือสู่ใต้ เรียกว่า "ถนนคนตาย" แต่คนเป็นเดินกันให้ควั่ก สองฟากถนนคนตายเป็นอาคารแบบอิสลามประดับประดาด้วยกระเบื้องเคลือบโมเสกสีฟ้าสวยงาม แบ่งเป็นยุคสมัยต่างๆตามทิศต่างๆ โดยเฉพาะในยุคติมูริดที่นิยมสร้างสุสานไว้ใกล้ๆ กับสุเหร่า

  อาคารแต่ละหลังมีรูปทรงเหมือนกับบ้านผู้ดีในสมัยโบราณ ชวนให้แวะเข้าไปชมแต่พอเข้าไปถึงค่อยรู้ว่าเป็นสุสาน ก็ต้องรีบขออภัยอยู่ในใจที่เข้าไปรบกวนความสงบสุข

 ถึงแม้ว่าซามาคานด์จะถูกเผาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ได้รับการชุบชีวิตให้กลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิมจากฝีมือการเนรมิตของยอดขุนพล อามีร์ ติมูร์ ชาวมองโกลแต่คนละเผ่ากับเจงกิสข่าน ผู้ซึ่งรัฐบาลอุซเบกกำลังปลุกปั้นให้เป็นมหาราชองค์แรกของประเทศให้ได้ ติมูร์ ซึ่งเกิดในปลายยุคเจงกิสข่านและโตในยุคของชาเฮอไต หรือชากะไตได้ประกาศด้วยความอหังการว่าจะขอวัดรอยเท้าเจงกิสข่านไปทุกที่ ได้เลือกเมืองซามาคานด์ให้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรติมูริดในศตวรรษที่ 14 ก่อนจะแผ่ขยายอาณาจักรไปถึงดินแดนอาหรับ อินเดีย เปอร์เซีย

  อย่างไรก็ดี ระหว่างเตรียมการบุกจีน ติมูร์กลับเสียชีวิตก่อนด้วยโรคปอดบวม ไม่เช่นนั้นคงได้เห็นกันว่าระหว่างเจงกิสข่านกับอามีร์ ติมูร์ ใครจะพิชิตดินแดนได้กว้างไกลกว่ากัน

 ปัจจุบัน องค์การยูเนสโกประกาศให้เมืองซามาคานด์ เป็นมรดกโลก ทำให้รัฐบาลอุซเบกิสถานต้องทุ่มเงินก้อนมหาศาลปลุกวิญญาณเมืองนี้ขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็คุ้มค่าไม่ใช่น้อย  

 ทันทีที่ลงจากรถไฟ พวกเราได้ตระเวนเที่ยวโบราณสถานชื่อดังทั้งๆ ที่ฝนตกพรำๆ ตลอดวัน แห่งแรกก็คือที่ กูริติมูร์ มาจากกูร์-อามีร์ สถานที่ฝังพระศพของอามีร์ ติมูร์ ถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกที่สร้างขึ้นอย่างสุดอลังการ เพื่อฝังพระศพโมฮัมหมัด สุลต่าน หลานรักซึ่งติมูร์เตรียมวางตัวเป็นรัชทายาทแต่เสียชีวิตก่อนระหว่างการรบเมื่อปีพ.ศ.1946 ขณะมีอายุแค่ 27 ปี

 ขณะที่การก่อสร้างสุสานดำเนินไปได้แค่ปีเดียวเท่านั้น ติมูร์ก็เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมในดินแดนคาซัคสถาน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทาชเคนท์ ระหว่างยกทัพไปบุกจีนเมื่อปีพ.ศ. 1948 เมื่อไม่สามารถนำพระศพกลับไปฝังที่บ้านเกิดที่เมืองชาคริซาบส์ ซึ่งติมูร์ได้เตรียมทำสุสานไว้แล้วให้ทันภายใน 24 ชั่วโมงตามหลักอิสลาม พระศพนั้นจึงถูกนำมาฝังที่นี่รวมกับหลานรักแทน

   สุดท้ายสุสานนี้ก็กลายเป็นสุสานหลวงของราชวงศ์ติมูริด โดยฝังพระศพของติมูร์ รวมทั้งพระโอรส 2 องค์คือมิรานชาห์ พระโอรสองค์ที่ 3 ที่เสียชีวิตระหว่างรบกับพวกเติร์ก กับชาห์รุก พระโอรสองค์สุดท้องซึ่งขึ้นมาเป็นข่านต่อจากติมูร์ จากนั้นได้ย้ายเมืองหลวงของจักรวรรดติมูริดไปเมืองเฮรัตในอัฟกานิสถานในขณะนี้ แล้วให้อุลุคเบค พระโอรสขึ้นมาปกครองซามาคานด์แทน

 พระศพของอุลุคเบค ซึ่งเป็นผู้สร้างสุสานนี้จนแล้วเสร็จและมีประวัติที่แสนมหัศจรรย์พันลึกพอๆ กับสมเด็จปู่คือติมูร์ก็ฝังอยู่ที่นี่เช่นกัน เช่นเดียวกับศพของเซอิด เบอร์เก พระอาจารย์ของติมูร์ ผู้คอยชี้ทางที่ถูกต้องตามหลักศาสนาให้ โดยโลงศพจะอยู่บนสุดเหนือโลงศพหินหยกเขียวของติมูร์ แสดงให้เห็นว่าติมูร์เคารพในตัวพระอาจารย์มากเพียงใด ภายในยังมีโลงศพเด็กที่เป็นพระนัดดาอีกองค์หนึ่งของติมูร์และโลงศพของสถาปนิกผู้สร้างสุสานนี้ แต่โลงศพทั้ง 7 โลงที่เห็นนี้เป็นเพียงสัญลักษณ์ เพราะโลงจริงอยู่ในสุสานใต้ดิน ป้องกันการขโมยพระศพ

  ความงามวิจิตรของ กูริติมูร์ เริ่มจากประตูทางเข้าที่เป็นรูปซุ้มโค้ง ขับเน้นความเด่นของโดมสีฟ้าผิวลอนกระดูกงูสูง 36 เมตร หรือบ้างก็ว่าเป็นโดมกลีบมะเฟืองสีน้ำทะเล มีทั้งหมด 64 กลีบ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของอุซเบฯ ตรงหน้ามีฉากลวดลายเลขาคณิตกั้นอยู่ เพื่อบังไม่ให้ใครมองทะลุตรงจนเห็นหีบพระศพและหีบศพได้ทันที 
  ภายในเป็นอาคารทรงหกเหลี่ยมเพดานโค้ง ประดับด้วยกระเบื้องอิฐเผาลงลายสีทอง สีอำพัน สีฟ้าน้ำทะเลสดใส  ปรากฏว่า วันนั้นมีชาวอุซเบกหลายสิบคนมาเที่ยวและสวดมนต์หน้าหีบพระศพจำลองด้วย

 ส่วนด้านข้างสุสานเป็นซากอ่างหินขนาดใหญ่สำหรับนับศพทหารด้วยภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน นั่นก็คือทุกครั้งก่อนที่ทหารจะไปรบ จะต้องนำถ้วยดินมาดื่มน้ำทับทิมที่อ่างนี้ จากนั้นก็วางถ้วยไว้ที่นี่ เวลากลับจากการศึก ก็ต้องมาดื่มน้ำทับทิมอีกแล้วนำถ้วยกลับบ้าน ถ้วยของใครยังอยู่ก็แสดงว่าเสียชีวิตระหว่างรบ

 ถึงจะสิ้นไปนาน แต่ติมูร์ก็ไม่วายสำแดงปาฏิหาริย์จนลือเลื่องไปเกี่ยวกับคำสาปแช่งที่เป็นจริง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นนับแสนรายยิ่งกว่าคำสาปของฟาโรห์เสียอีก โดยติมูร์ได้เขียนคำสาปแช่งไว้บนฝาหีบศพว่าถ้าใครเปิดโลงศพจะต้องพินาศจากศัตรูที่น่ากลัวกว่าพระองค์ท่าน

 แต่นักโบราณคดีรัสเซียก็ไม่เชื่อในคำสาปนั้นจึงได้เปิดฝาโลงศพเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2584 เพื่อศึกษาโครงกระดูกของติมูร์ ซึ่งได้ความจริงว่ากษัตริย์นักรบผู้นี้เป็นคนหัวโต สูงถึง 170 เซนติเมตร อีกทั้งยังพิการที่ขาขวาจากผลการรบครั้งหนึ่ง จนเป็นที่มาของชื่อเทเมอร์เลน ที่เพี้ยนมาจากติมูร์เดอะ เลม หรือติมูร์ผู้พิการ

  พอถึงวันที่ 22 มิถุนายนเท่านั้นแหละ กองทัพเยอรมนีก็บุกรัสเซีย ผู้คนล้มตายเป็นเบือ จนกระทั่งรัสเซียต้องสั่งปิดโลงศพนั้น ไม่ทันไรสงครามก็สงบราวปาฏิหาริย์

 จากนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีใครกล้าเปิดโลงศพอีกเลย

 ถึงตอนนี้คงไม่ต้องสงสัยว่าซามาคานด์เป็นเมืองของติมูร์และราชวงศ์ติมูริดจริงๆ เมืองนี้จึงเป็น 1 ใน 3 เมืองที่มีอนุสาวรีย์ติมูร์ แต่เป็นรูปนั่ง ซึ่งคงหมายถึงนั่งบริหารประเทศ ผิดกับที่ทาชเคนท์เป็นรูปขี่ม้าศึกเตรียมออกรบ

 โบราณสถานอันงามงดอีกแห่งหนึ่งที่ได้ไปสัมผัสก็คือ มัสยิดบีบี คานุม คนหูเฝื่อนอย่างดิฉันก็ฟังผิดเพี้ยนไปอีกแล้ว โดยตกสระไปตัวหนึ่งแต่ก็ทำให้จำเชื่อมัสยิดนี้ได้แม่นยำไม่ลืมเลือน อามีร์ ติมูร์ สั่งให้สร้างตั้งแต่ปีพ.ศ.1942 เพื่อประกาศศักดาที่สามารถยึดกรุงเดลี เมืองหลวงของอินเดียได้ โดยหมายใจจะให้เป็นมัสยิดประจำซามาคานด์ที่ใหญ่ที่สุดสวยที่สุดในโลก ติมูร์ได้ให้บีบี คานุม มเหสีเอกชาวรัสเซีย ผู้เป็นบุตรสาวของข่านผู้ยิ่งใหญ่ จนทำให้ติมูร์เริ่มมีอำนาจขึ้นมาในฐานะ "กูรากาน" หรือ "ลูกเขยของข่าน" เป็นคนคอยควบคุมระหว่างตัวเองไปรบ สุเหร่านี้ใช้เวลาสร้างนาน 5 ปี จากนั้นก็ตั้งชื่อตามเมียรักผู้ทรงอำนาจ   

 ว่ากันว่ามัสยิดแห่งนี้ต่างจากสถาปัตยกรรมทั่วไปในซามาคานด์ ตรงที่ใช้สถาปนิกจากอาเซอร์ไบจาน ถึงตอนนี้คุณปอก็มีตำนานมาเล่าซึ่งค้นจากที่อื่นไม่ได้เลย ตำนานมีอยู่ว่าเมื่อติมูร์กลับจากการรบมาเห็นมัสยิดเข้าก็ไม่พอพระทัยที่ประตูทางเข้าเล็กไป พอต้องออกไปทำศึกใหม่ บีบี คานุม จึงให้สถาปนิกแก้ไข

 สถาปนิกฉวยโอกาสลวนลามด้วยการต่อรองขอแลกกับจุมพิตจุมพิตเดียว บีบี คานุมคิดแล้วคิดอีกก่อนจะต่อรองโดยยกเรื่องของไข่มาเปรียบเทียบว่าแม้ว่าสีของเปลือกไข่จะไม่เหมือนกัน แต่ภายในเป็นไข่เหมือนกัน เป็นความเปรียบว่าให้ไปจุมพิตสนมคนใดก็ได้แม้หน้าตาจะไม่เหมือนกัน แต่ก็เป็นผู้หญิงเหมือนกัน แต่สถาปนิกไม่ยอมโดยยกเรื่องของไวน์ว่าถึงจะรินในแก้วไวน์เหมือนกัน แต่ดื่มแล้วก็ให้รสชาติต่างกัน

 สุดท้ายบีบี คานุมก็จำนนยอมให้จุมพิตผ่านผ้าคลุมหน้า สถาปนิกผู้นั้นจึงได้ขยายประตูทางเข้าให้ใหญ่ขึ้น โดยกว้าง 18 เมตร สูงถึง 35 เมตร นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในเอเชียกลาง สมพระเกียรติของติมูร์ อย่างไรก็ดี  พอข่าวนี้แพร่ออกไปติมูร์ก็สุดกริ้วแทบ "จะประหารเมียรักให้ตักษัย"

 บีบี คานุมจึงต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อหน้าติมูร์ด้วยการกระโดดลงจากหอขานละหมาด หรือมิเนอเรตสูง 50 เมตร โดยประกาศว่าถ้าบริสุทธิ์จริงก็ขอให้รอด ปรากฏว่าพระนางรอดตายจริงๆ เรื่องนี้มีการขยายความกันในภายหลังว่าเป็นความฉลาดของพระนางที่สวมกระโปรงสุ่มหลายชั้น จึงเหมือนกับมีร่มชูชีพกลายๆ ช่วยพยุงไม่ให้ร่วงหล่นพื้นเร็วเกินไป ส่วนสถาปนิกผู้นั้นก็หายตัวไปบ้างก็ว่าขึ้นสวรรค์ไปแล้ว

 อาจจะเป็นเพราะถูกบังคับให้ต้องต่อเติมให้ใหญ่ขึ้นเพื่อเอาใจติมูร์ หลังจากนั้นไม่นานสุเหร่านี้ก็มีรอยร้าวไปทั่วและค่อยๆ พังทลายลงทีละน้อยๆ กระทั่งถูกปล่อยให้ทรุดโทรมเป็นเวลาหลายร้อยปี ระหว่างนั้นก็กลายเป็นตลาดค้าสินค้าต่างๆ อย่างเช่นในสมัยที่เป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตรุสเซีย ก็เป็นตลาดค้าฝ้าย

 สุดท้ายมัสยิดนี้ก็พังทลายจากฤทธิ์แผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ. 2440 เพิ่งได้รับการบูรณะซ่อมแซมเมื่อปลายศตวรรษที่ 20 นี้เอง แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ยังคงเห็นร่องรอยของความชำรุดทรุดโทรมภายในอยู่มากพอควร ถึงกระนั้นก็ได้กลับมาเป็นฟรายเดย์ มอสค์หรือจุมมา มอสค์ หรือสุเหร่าใหญ่ที่ยังใช้งานอยู่ทุกวันศุกร์อีกครั้ง

 มัสยิดนี้มีโดมขนาดใหญ่ ทั้งโดมทรงกระดูกงูและโดมเรียบ ที่ฐานโดมประดับด้วยอักษรอาหรับจากพระคัมภีร์อัลกุรอาน แต่เขียนในแนวตั้ง ภายในมีแท่นหินอ่อนสูง 2 เมตรสำหรับวางพระคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งตอนนี้เก็บอยู่ที่ทาชเคนท์ ชาวบ้านเชื่อกันว่าผู้หญิงคนใดหากคลานลอดใต้แท่นนี้แล้วจะมีลูกดก ไม่รู้ว่าความเชื่อนี้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้หรือไม่

 จากนั้น ดิฉันก็แปลงร่างเป็นนางเม้ยกระเจิงอีกครั้งเดินสำรวจตลาดพื้นเมืองที่ บาซาร์ซียาบ จำหน่ายสินค้าพวกถั่วต่างๆ ผลไม้สดตามฤดูกาล อย่างทับทิมสีแดงสด กล้วยหอมลูกโตเกือบเท่าศอก ผลไม้แห้งที่ซื้อกันคนละกิโลสองกิโล ตามด้วยการชมแฟชั่นโชว์ นางแบบสาวชาวอุซเบกนำเสนอด้วยลีลาพลิ้วไหวไม่หยุดนิ่งเลย

 รุ่งขึ้น ฝนยังตกพรำๆ เหมือนเดิม พวกเราก็ไม่ย่อเดินฝ่าสายฝนไป จัตุรัสเรจิสถาน ซึ่งแปลว่า "ผืนทราย" เป็นจตุรัสกลางเมืองที่เปรียบเสมือน "หัวใจของซามาคานด์" มาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 14 เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม การค้า แหล่งรวมความรู้ของนักวิชาการและช่างฝีมือ จัตุรัสนี้รายล้อมด้วยมาดราซาส์ หรือวิทยาลัยเทววิทยาถึง 3 แห่ง

 แห่งแรกก็คือ อูลุคเบคมาดราซาส์ ตามชื่อของมีร์โซ อุลุคเคค หลานปู่ของติมูร์ อุลุคเบคซึ่งแปลว่าข่านผู้ยิ่งใหญ่ ได้สมญาว่า "กษัตริย์นักวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์" มีชื่อติดอยู่ใน 1 ใน 7 ยอดนักดาราศาสตร์โลกผู้คำนวณจำนวนวันในหนึ่งปีได้แม่นยำกว่าใครๆ โดยคลาดเคลื่อนไม่กี่นาที พระองค์ให้สร้างมาดราซาส์แห่งนี้เพื่อสอนศาสนา รวมทั้งวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์แก่บรรดาทายาทของเศรษฐี ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนราว 10-20 ปี โดยอุลุคเบคลงทุนเป็นพระอาจารย์ด้วยนอกเหนือจากนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอีกหลายคน

  ว่ากันว่าอุลุคเบคทรงมีส่วนร่วมในการก่อสร้างมาดราซาส์แห่งนี้ระหว่างปีพ.ศ.1960-1963 จนแข็งแกร่งเปรียบประดุจกระดูกสันหลังของโลกที่สั่นไหว ตัวอาคารตั้งอยู่ทางตะวันตกของจัตุรัส มีขนาดและสัดส่วนสวยงามแต่มีรูปร่างแปลกไปจากสถาปัตยกรรมอื่นๆ ในยุคติมูริด โดยประตูทางเข้าเป็นรูปโค้งสูง 15 เมตร ประดับด้วยโมเสกรูปดาว 5 แฉก และ 10 แฉก ตอกย้ำความเป็นนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของอุลุคเบค เหนือประตูสลักข้อความว่า “การเรียนรู้เป็นหน้าที่ของชาวมุสลิมทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิง” ซึ่งเป็นความคิดที่ล้ำสมัยที่สุดของคนในยุคนั้นและยุคนี้มาก 

 ตรงช่องโค้งด้านบนทำเป็นรูปหินย้อย หรือรวงผึ้ง เลียนแบบถ้ำซึ่งนะบี โมฮัมหมัดได้รับพระคัมภีร์อัลกุรอานจากพระอัลเลาะห์ ส่วนทางเข้ามีรูปปั้นอุลุคเบคและนักดาราศาสตร์หลายคน กำลังสนทนาเกี่ยวโลกและดวงดาว

 ตัวอาคารทรงสี่เหลี่ยมสูง 2 ชั้นมีห้องรวม 50 ห้อง ชั้นล่างใช้เป็นห้องเรียน ส่วนชั้นบนเป็นที่พักของนักเรียน มี 4 โดม มีสีหลัก 3 สีตามความนิยมของสกุลช่างซามาคานด์ ได้แก่ สีขาวหมายถึงพระอาทิตย์ สีน้ำเงินเข้มและฟ้า หมายถึงสีฟ้าสดใสของท้องฟ้าหรือสันติภาพ บางแห่งอาจจะเพิ่มสีดำหมายถึงพระอัลเลาะห์หรือความดี และสีเขียวหมายถึงมุสลิมหรืออิสลาม

  สำหรับประวัติของอุลุคเบค โอรสของชาห์รุก ข่าน นั้นน่าสนใจพอๆ กับประวัติของติมูร์ ถึงจะไม่ใช่กษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่เหมือนปู่แต่ก็สร้างความยิ่งใหญ่ให้ซามาคานด์และโลกไม่ใช่น้อย โดย 40 ปีที่ครองราชย์ได้แผ่ขยายอาณาจักรไปถึงมองโกเลีย ที่อยู่ทางตะวันออก ส่วนตะวันตกยึดได้โรม อียิปต์ ทางใต้เป็นอินเดีย ตะวันออกกลาง เหนือ จรดทะเลทรายในรัสเซีย

 แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเป็นกษัตริย์นักรบคือเป็นยอดนักดาราศาสตร์จนได้รับยกย่องว่าเป็นยอดนักดาราศาสตร์โลก ถึงขนาดนำชื่อไปตั้งเป็นชื่อดาวดวงหนึ่งที่เพิ่งพบเมื่อไม่นานมานี้ 

 สุดท้ายอุลุคเบคก็ถูกอับดุลลาติส พระโอรสปลงพระชนม์แล้วขึ้นครองราชย์แทน แต่ครองได้ไม่นานก็ถูกชิงบัลลังก์เช่นกัน กลายเป็นพันธุกรรมที่สืบทอดไปถึงราชวงศ์โมกุลหรือมองโกลในภาษาเปอร์เชียในแดนภารตอินเดีย ผ่านพระเจ้าบาบูร์ ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ ผู้เป็นหลานทวดของติมูร์และมีเลือดผสมเติร์กทางสายแม่ ซึ่งได้หนีการคุกคามจากขุนศึกมองโกลเชื้อสายเจ็งกิสข่านไปอยู่ที่อินเดีย เมื่อการสืบทอดบัลลังก์ของราชวงศ์โมกุลมักจะทำผ่านการลอบปลงพระชนม์เป็นส่วนใหญ่