ข่าว

ระวังละเมิดสิทธิเด็ก

ระวังละเมิดสิทธิเด็ก

24 พ.ค. 2554

ปรากฏการณ์สื่อเสนอภาพถ่าย และเรื่องราวของเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้ต้องหา เป็นเหยื่อ หรือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีอาญา

เกือบจะเป็นปรากฏการณ์ร่วมของสังคมนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อขายข่าว และตอบสนองสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นเรื่องความทุกข์โศกของเพื่อนมนุษย์ หลายครั้งข่าวที่ขายได้ มีอิทธิพลเหนือความสำนึกรับผิดชอบในเชิงจริยธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานสื่อ จนกระทั่งดูเหมือนเป็นเรื่องปกติเมื่อนักการเมืองที่ทำตัวเป็นนักสังคมสงเคราะห์ หรือพนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาที่เป็นเด็กและเยาวชนมาปรากฏตัวต่อสาธารณะ และสื่อก็พยายามที่จะถ่ายภาพเด็ก เยาวชน รวมทั้งผู้ปกครอง ผู้คนแวดล้อม มานำเสนอคล้ายเป็นเรื่องปกติธรรมดาเรื่องหนึ่ง

 การกระทำดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องที่ฝ่าฝืนกฎหมาย พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2554 ตราไว้ในมาตรา 130 ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดบันทึกภาพ แพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือบันทึกเสียง แพร่เสียงของเด็ก หรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือโฆษณาข้อความซึ่งปรากฏในทางสอบสวนของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือในทางพิจารณาคดีของศาลที่อาจทำให้บุคคลอื่นรู้จักตัว ชื่อตัว หรือชื่อสกุลของเด็กและเยาวชนนั้น หรือโฆษณาข้อความเปิดเผยประวัติการกระทำความผิด หรือสถานที่อยู่ สถานที่ทำงาน หรือสถานศึกษาของเด็กหรือเยาวชนนั้น...” มาตรา 192  ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 คำว่าเด็ก หมายความว่า บุคคลอายุยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ เยาวชน หมายความว่า บุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ แปลว่า สื่อมวลชนไม่สามารถเสนอภาพคนเหล่านี้ได้ในทุกกรณี รวมทั้งการเสนอข่าวการสอบสวน การพิจารณาคดีในศาล ที่ทำให้รู้ตัวเด็กและเยาวชน ซึ่งที่ผ่านมาแม้สื่อจะพยายามเซ็นเซอร์ภาพเด็กและเยาวชน แต่บริบทแวดล้อม เช่น พ่อแม่ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง สถานที่ ก็ทำให้รู้ได้ว่าเด็กและเยาวชนคนนั้นเป็นใคร กรณีศพเด็กที่วัดไผ่เงิน ซึ่งมีการติดตามไปสัมภาษณ์ผู้ที่ดูแลเด็กที่รอดชีวิตจากการทำแท้ง หรือกระทั่งกรณีสาวซีวิค ก็มีการเสนอภาพข่าวและเรื่องราวของเด็ก ที่ทำให้คนรู้ในทันทีว่าเด็กและเยาวชนนั้นเป็นใคร

 บทบาทที่ทับซ้อนกันระหว่างสถาบันสาธารณะ และองค์กรธุรกิจที่มีลักษณะการผลิตแบบอุตสาหกรรม อีกทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น การถือครองหุ้นส่วนใหญ่ การเข้ามามีอิทธิพลทั้งโดยตรงและทางอ้อมของนักการเมือง ทำให้สื่อในยุคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับข่าวที่ขายได้ เพื่อผลประกอบการ มากกว่าข่าวที่มีความรับผิดชอบ ซึ่งในบางกรณีทำให้สื่อเสียโอกาสในการขายข่าว และเสนอภาพที่พวกเขาคิดว่าคนจะสนใจ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ที่มีบทกำหนดโทษสื่อที่ละเมิดสิทธิเด็ก มีสภาพบังคับตามกฎหมาย อาจไม่ได้สำคัญไปกว่าจิตสำนึกเรื่องจริยธรรม