ข่าว

ภูมิใจไทยส่ง"สาคร"สู้"ชูชาติ"เจ้าถิ่นปทุมธานี

ภูมิใจไทยส่ง"สาคร"สู้"ชูชาติ"เจ้าถิ่นปทุมธานี

24 พ.ค. 2554

หลังงจากประกาศยุบสภาอย่างเป็นทางการ ทำให้บรรยากาศทางการเมืองเริ่มคึกคักขึ้นมาโดยพื้นที่ จ.ปทุมธานีนั้น "พรรคเพื่อไทย" กวาดที่นั่ง ส.ส.เอาไว้ได้ทั้งสิ้นจำนวน 5 ที่นั่ง ไฮไลท์คอการเมืองต่างจับตาไปยังเขตเลือกตั้ง ส.ส.เขต 6 ปทุมธานี

 ซึ่งมี "ชูชาติ หาญสวัสดิ์" อดีต ส.ส.ปทุมธานี หลายสมัยตั้งแต่ ปี พ.ศ.2529, 2531, 2535, 2535, 2538, 2539 และ 2548, และยังมีตำแหน่งการันตี ทั้งกรรมาธิการการคมนาคม, กรรมาธิการงบประมาณแผ่นดิน, กรรมาธิการทบวงมหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, กรรมาธิการการปกครอง

 จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาโยธา CALIFORNIA STATE UNIVERSITY OF LONG BEACH ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มเล่นการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ในนาม "พรรคชาติไทย" ของ "บรรหาร ศิลปอาชา" อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค จากนั้นได้ย้ายเข้ามาอยู่ "พรรคไทยรักไทย" ที่มี "พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร" หัวหน้าพรรคและอดีตนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น "พรรคไทยรักไทย" ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนอย่างมากจากกระแสนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย

 จนกระทั่ง "ชูชาติ" ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอีกสมัย เมื่อพรรคไทยรักไทยเกิดประสบอุบัติเหตุทางการเมืองถูกยุบพรรค "ชูชาติ" จึงย้ายไปอยู่ "พรรคพลังประชาชน" และไม่นานเกิดการปฎิวัติเมื่อปี 2549 จึงย้ายไปอยู่ "พรรคเพื่อไทย" และได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย จนปัจจุบันนี้

 ส่วนคู่แข่งที่หาญกล้าเข้ามาช่วงชิงตำแหน่งในพื้นที่เขต 6 อันเป็นฐานพื้นที่เดิมของ "ชูชาติ"  คือ "สาคร อำภิน" รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 6 ปทุมธานี พรรคภูมิใจไทย ซึ่ง "สาคร" นั้นไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งการเมืองใหญ่มาก่อนแต่ "สาคร" ได้เล่นการเมืองท้องถิ่นมาตลอด จึงสามารถสัมผัสกับชาวบ้านได้อย่างดีประกอบกับผู้ใหญ่ของพรรคภูมิใจไทย ได้เปิดตัว "สาคร" และสนับสนุนในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยลงพื้นที่ใน จ.ปทุมธานี ตลอดจนการจัดทำนโยบายของพรรคภูมิใจไทยให้ และจัดกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ก็มักจะมีผู้บริหารของพรรคภูมิใจไทยเดินทางมาร่วมกิจกรรมแทบทุกครั้ง

 สำหรับประวัติด้านการเมืองของ "สาคร" นั้นเริ่มต้นเล่นการเมืองมาแล้วประมาณ 11 ปีโดยเล่นการเมืองท้องถิ่นดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เขต อ.ธัญบุรี มาสองสมัยติดต่อกัน และขยับขึ้นมาเป็นรองนายก อบจ.ปทุมธานี ในเวลาต่อมา โดยตลอดระยะเวลาในการทำหน้าที่ รองนายก อบจ.ปทุมธานี ได้ลงพื้นที่หาเสียงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพื้นที่ เขต 6 ที่ "สาคร" กล้าตัดสินใจลงแข็งขันกับเจ้าของตำแหน่งคนเดิม ซึ่ง "สาคร" เองได้ยืนยันอย่างมั่นใจต่อประชาชนเกิน 100% ว่า หากได้รับเลือกตั้งในครั้งนี้และได้บอกกับประชาชนในเขตเลือกตั้งที่ 6 ว่าได้เตรียมตัดชุดไว้รอเพื่อเข้าสู่สภาหินอ่อนเอาไว้แล้วอีกด้วย

 หากเปรียบเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์แล้วน้ำหนักอาจจะเทไปทาง "ชูชาติ" มากกว่า "สาคร" เพียงเล็กน้อย โดย "ชูชาติ" ได้แรงสนับสนุนและกระแสความนิยมของ "พรรคเพื่อไทย" ที่มี "พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร" เป็นตัวชูโรงประกอบกับมวลชนคนเสื้อแดงใน จ.ปทุมธานี ที่มีอยู่มากมายในจังหวัดและบรรดา ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้แก่ "น.ส.พรพิมล ธรรมสาร, นายสุทิน นพขันและ นายสุเมธ ฤทธาคนี" ที่ช่วยเดินออกเคาะประตูบ้านหาเสียงให้ "ชูชาติ" อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่ง ส.ส.อีกสมัย

 ขณะที่คู่แข่งอย่าง "สาคร อำภิน" ที่พรรคภูมิใจไทย ซึ่งหมายมั่นปั้นมือไว้อย่างดีว่าจะต้องผลักดันให้ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งนี้ให้ได้ ซึ่งจากกระแสการสนับสนุนของพรรคตลอดจนการสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นทั้ง อบจ. เทศบาล อบต. โดยเฉพาะ อบจ.ปทุมธานี สนับสนุนอย่างชัดเจน โดยการขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.คู่กับนายก อบจ.ปทุมธานี ของทุกเขต ร่วมถึงผู้บริหารหน่วยงานราชการต่างๆ ใน จ.ปทุมธานี ที่สนับสนุน ซึ่งก็ทราบกันดีว่า พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคร่วมรัฐบาลและมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยอยู่ในมือจึงสามารถควบคุมกลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้ไม่มากก็น้อย อาจทำให้สถานการณ์ที่มีการแข่งขันแบบ "เขตเล็ก" ที่ให้ความสำคัญตัวบุคคลมากกว่าพรรค อาจทำให้ "สาคร" พลิกโผเอาชนะคู่แข่งก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เหมือนกัน

 ดังนั้นการแข่งขันใน จ.ปทุมธานี เขต 6 ก็เป็นเขตที่น่าจับตาดูกันเป็นพิเศษน่าจะมีการแข็งขันที่ดุเดือดไม่แพ้พื้นที่อื่นอย่างแน่นอน


เอกฆัมพร รุจิพุฒ