
'อภิสิทธิ์'มั่นใจ"ประกันรายได้เกษตรกร"จุดเปลี่ยนสำคัญ
"โครงการประกันรายได้เกษตรกร ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะมีเกษตรกรเป็นจำนวนมากที่ไม่เคยได้รับการประกันรายได้เช่นนี้มาก่อน"
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์พิเศษผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ ประจำทำเนียบรัฐบาล ถึงผลงานด้านเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีในการบริหารประเทศ โดยเขามั่นใจว่า ผลงาน 2 ปีที่ผ่านมาถือว่า ทำได้ โดยเฉพาะโครงการประกันรายได้เกษตรกรนั้น ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกษตรกรได้รับแบบเต็มๆ
ผลงานด้านเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่าน ขึ้นอยู่กับว่าไปถามใคร ถ้าสำหรับประชาชนที่เป็นเกษตรกรแล้ว “โครงการประกันรายได้เกษตรกร” ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะมีเกษตรกรเป็นจำนวนมากที่ไม่เคยได้รับการประกันรายได้เช่นนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวกินเอง หรือเกษตรกรที่ไม่มีความสามารถในการไปจำนำข้าว เกษตรกรที่อาจปลูกข้าวแล้วเสียหายจากภัยแล้ง น้ำท่วม ศัตรูพืช ก็ยังได้รับการชดเชย เรื่องนี้ถือว่าสำคัญต่อเกษตรกรเป็นจำนวนมาก
นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่าโครงการประกันพืชผล เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะระบบประกันถือเป็นแนวทางที่บริหารจัดการภาคเกษตรได้มากขึ้น เช่น เราใช้เครื่องมือตัวนี้บอกว่าควรทำนาปีละกี่ครั้ง มีข้าวพันธุ์ไหนบ้างที่ไม่ควรปลูกเพราะเราจะไม่ให้เข้าโครงการ หรือแม้แต่ปุ๋ยเราก็เอาตัวนี้ไปปรับพฤติกรรมการใช้ปุ๋ย ขณะที่ระบบจำนำจะตรงกันข้ามทั้งหมด เพราะเท่ากับว่าเป็นการส่งเสริมให้สั้นที่สุด เร็วที่สุดและมากที่สุดแล้วนำมาจำนำ ซึ่งไม่ยั่งยืน
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้เสียคะแนนเสียงในการเลือกตั้งหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "เดี๋ยวก็รู้"
เขาย้ำว่าโครงการประกันพืชผล ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ราคาข้าวแพงหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าเกษตรกรที่ได้เงินมีจำนวนเท่าใด การได้ราคาไม่เต็มราคาประกันก็เป็นเรื่องทางการบริหารซึ่งเราต้องปรับปรุงต่อไป แต่คำถามคือ ในระบบเดิมเกษตรกรบางคนอาจไม่ได้อะไรเลยหรือมากที่สุดเพียงแค่ 30% ของเกษตรกรทั้งหมดที่อาจได้มาก แต่ที่เหลือไม่ได้อะไรเลย
ย้ำแก้ภาพรวมเศรษฐกิจสำเร็จ
หากพูดถึงภาพรวม คิดว่าประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจก็บ่งชี้ชัดเจนว่า ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ฟื้นตัวเร็วจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ หากไปถามคนเล่นหุ้นอาจจะบอกได้ว่าเป็นดัชนีที่สูงที่สุดในรอบ 12-13 ปีที่ผ่านมา แต่ในด้านของเศรษฐมหภาคแล้ว คิดว่ารัฐบาลสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย
บางเรื่องน่าจะเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น ปีที่แล้วอัตราการขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และคิดว่าคนก็คาดว่าการฟื้นตัวโดยการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นนี้ จำนวนหนี้สาธารณะจะต้องพุ่งสูงกว่านี้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้พุ่งสูง โดยช่วงที่รุนแรงคือปี 2552 คนก็คิดว่าการว่างงานจะสูงกว่านี้ แต่ในความจริงก็ไม่ได้สูง
"แต่ก็ยอมรับว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว ก็มีปัญหาใหม่เกิดขึ้น คือพลังงานและอาหารแพง ทำให้ประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าการฟื้นตัวครั้งนี้ผลประโยชน์ยังไม่ได้ตกถึงเขา จึงกลายเป็นว่าปัญหาได้เคลื่อนตัวไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขให้กับประชาชนต่อไป แต่หากพิจารณาในภาพรวมแล้วก็มองว่าการฟื้นตัวในขณะนี้ก็คิดว่าทุกคนยอมรับว่าขณะนี้เรามั่นคงแล้ว ไม่ได้มีปัญหาตกค้างเช่นเดียวกับสหรัฐ ที่มีปัญหาเรื่องการว่างงานตกค้าง ยุโรปมีปัญหาหนี้สินตกค้าง และอีกลายประเทศยังมีปัญหาอื่นๆ แต่ของไทยไม่มีปัญหาตกค้างแต่มีปัญหาใหม่ที่แรงและกระทบกระเป๋าคน"
สำหรับปัญหาราคาน้ำมัน นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าราคาน้ำมัน และราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะคนก็จะกังวลกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และมองไปข้างหน้า แต่หากนึกย้อนกลับไปจริงๆ ก็จะพบว่าได้เผชิญปัญหานี้มาแล้วในปี 2551 และตอนนี้เราก็กำลังพิสูจน์ว่าแนวทางของเราเป็นอย่างไร เช่น การตรึงดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรได้เพราะรัฐบาลได้ตัดสินใจเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2552-2553
"การตัดสินใจไม่ให้น้ำมันดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้ค่าขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงการตัดสินใจเรื่องภาษีสรรพสามิตก็ถูกตำหนิว่ารู้ได้อย่างไรว่าราคาน้ำมันจะไม่สูงขึ้นไปอีกหรือจะไม่สูงแบบถาวร ซึ่งในขณะนั้น ยืนยันได้ว่าในขณะนั้นได้วิเคราะห์แล้วว่าไม่ใช่ มาวันนี้ราคาน้ำมันที่ลดลงมาน่าจะพิสูจน์ได้ว่าการตัดสินใจวันนั้นน่าจะถูกต้อง หากวันนั้นเราปล่อยรับรองได้ว่าข้าวของจะขึ้นราคาและแพงกว่านี้อีกแน่นอน สุดท้ายการพยายามทำให้ราคาสินค้าลดลงแล้วจะทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังต้องระมัดระวัง โดยจะยังคงเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเหมือนเดิมในช่วงที่ราคาน้ำมันลดลงมา"
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลผ่านโครงการประชาวิวัฒน์ ขณะนี้ผลยังไม่ได้ออกมาหมด ยังเป็นงานที่ต้องทำต่อเพราะในที่สุดต้นทุนสินค้าเช่น หมู ไข่ ไก่ จะไปพันกับอาหารสัตว์ ซึ่งตรงนี้เป้นงานที่เรายังทำไม่เสร็จ แต่อะไรที่ทำได้เช่นกรณีไม่ให้มีการฉกฉวยโอกาส เช่นเรื่องของไข่ ก็ดำเนินการไป ไข่เป็นโปรตีนที่ถูกที่สุดของประชาชน คิดว่าผลของมันมีความชัดเจนว่าบางเรื่องเดินแล้ว เช่นกรณีการนำแรงงานนอกระบบกว่า 4 แสนคนเข้าสู่ระบบประกันสังคมซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มากหลังจากที่พูดกันมา 20-30 ปีแล้วว่าจะทำอย่างไรให้คนมาใช้มาตรา 40
ที่ผ่านมาก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาเลยในที่สุดเราก็มาไขกุญแจตรงนี้ว่า เริ่มต้นแล้ว หากจะมองว่ายังไม่ครบเหลืออีกหลายล้านคนก็มองว่าแต่ต้องบอกว่า 20 ปีที่ผ่านมามีคนอยู่ในระบบประกันสังคมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นจึงถือว่าเป็นการเริ่มต้นครั้งสำคัญ
ส่วนมาตรการด้านอาชญากรรมที่จะให้ลดลง 20% ก็ยังเป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้นกระบวนการประชาวิวัฒน์ก็มีผลมาโดยลำดับ บางเรื่องอาจมีรายละเอียดต่อเนื่อง แต่เรื่องที่เป็นโครงสร้างเช่น ราคาค่าไฟฟ้า ราคาแอลพีจี จะมีตารางเวลา กว่าจะเสร็จครบถ้วนก็ต้องใช้เวลาหรือเลยการเลือกตั้งไปแล้ว
ในเชิงของยุทธศาสตร์ของการพัฒนาพื้นที่ ตอนนี้เป็นทางเลือกที่ชัดเจน ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลนี้ได้วางกลยุทธ์แล้วว่าในภาคใต้ก็จะมุ่งเน้นไปเรื่องของการท่องเที่ยวกับอุตสาหกรรมการเกษตร ส่วนบางพรรคที่เสนอว่าเขาจะทำเป็นอุตสาหกรรมหนัก ก็กลายเป็นทางเลือกให้กับประชาชนแล้ว เป็นต้น ส่วนเขตอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษกับการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ ก็ได้เริ่มต้นแล้ว ทั้งแม่สอด พื้นที่พิเศษแหลมฉบัง
กรณีภาคใต้ รัฐบาลนี้มีแนวคิดชัดเจนว่าจะไม่ทำโครงการแลนด์บริดจ์ เนื่องจากมีแนวคิดว่าชัดเจนว่าในที่สุดแล้วเราต้องตัดสินใจว่าเราจะเลือกเอาอุตสาหกรรมไหน การที่จะพัฒนาโดยไม่มีสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นจริงในการทำโครงการ การนำโครงการนี้เข้ามาเราได้ประเมินแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเมื่อคำนึงถึงผลกระทบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่นท่องเที่ยว ปัญหาคุณภาพชีวิตและวิถีชีวิตของคน เราเห็นว่าเป็นทางที่เป็นประโยชน์มากกว่า และข้อเท็จจริงคือว่าไม่มีความจำเป็นที่ประเทศต้องมีอุตสาหกรรมทุกประเภท อยู่ที่ว่าเราจะวางตำแหน่งของประเทศเราอย่างไร ฝั่งอันดามันส่วนหนึ่งใช้ประโยชน์จากทวาย เป็นต้น แต่เราต้องทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเรื่องถนน เรื่องรถไฟ
ส่วนกรณีของมาบตาพุด เราต้องตอบโจทย์ในเรื่องของความสามารถในการรองรับอุตสาหกรรมเพิ่มเติม ซึ่งคิดว่าหมดยุคที่จะให้คนที่อยู่กทม.แล้วบอกว่าไทยอยากได้อุตสาหกรรมประเภทต่างๆ แล้วชี้นิ้วบอกสุดท้ายก็เกิดปัญหา ซึ่งในหลักเศรษฐศาสตร์เองใช่ว่าเราจะได้เปรียบที่ต้องมีอุตสาหกรรมทุกประเภทอยู่ในไทย
นายอภิสิทธิ์ ยังมองถึงการเลือกตั้งจะไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ มีเรื่องทางเทคนิคคืองบประมาณปี 2555 ที่จะล่าช้า แต่ว่าที่ผ่านมาใช้งบประมาณโดยอนุโลมได้ ซึ่งคิดว่ายังไปได้ แต่เมื่อมองตรงกันข้ามว่าการเลือกตั้งก็คลายปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองเช่นกัน
"แม้ว่าจะฟังดูแล้วแปลก แต่เรามาอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการมืองมากมาย เอาว่ามีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา หากไม่มีการบอกว่าจะเลือกตั้ง ผมว่าอาจไม่เรียบร้อยเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งคิดว่าคนทั่วไปมองว่าเป็นกระบวนการที่บอกว่าทำให้เกิดความไม่แน่นอน แต่ก็ทำให้เกิดการผ่อนคลายหลายอย่าง จากนี้ไปก็มีหน้าที่ทำอย่างไรให้กระบวนการเลือกตั้งเรียบร้อย ขอให้คุณประชา ประสพดี เป็นกรณีสุดท้าย เราจะพยายามทำไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ส่วนเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะมาบริหารอย่างไรต่อไป"