ข่าว

"อาหรับราตรีVSมังกรหยก"ที่อุซเบกิสถาน(1)

"อาหรับราตรีVSมังกรหยก"ที่อุซเบกิสถาน(1)

14 พ.ค. 2554

ถ้าจะว่าเป็นเรื่องบังเอิญ ก็ออกจะเป็นความบังเอิญที่แปลกประหลาดไม่ใช่น้อย หรืออาจจะเป็นเรื่องของลิขิตฟ้าที่กำหนดไว้ก็ได้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เส้นทางการเดินทางเยือนต่างประเทศของดิฉันจึงมักจะวนๆ เวียนๆ

 อยู่ในประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับเส้นทางสายแพรไหมที่มีความยาวเกือบ 1.2 หมื่นกิโลเมตรเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่บังเอิญมากกว่านั้นก็คือมักจะเป็นเส้นทางที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมและหนังสือกำลังภายในของจีนด้วย

 ไม่ว่าจะเป็นอาเซอร์ไบจาน ดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโบราณเติร์กสถาน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นกำหนดของลัทธิบูชาไฟโซโรแอสเตอร์ ที่อาจจะกลายพันธุ์มาเป็นลัทธิเม้งก่าในจีน ดังปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง "มังกรหยก" ของกิมย้ง หรืออาจจะข้ามสายพันธุ์กลายเป็นนิกายรุ่งโรจน์ดังปรากฏในหนังสือเรื่อง "มังกรคู่สู้สิบทิศ" ของหวงอี้

 อีกแห่งหนึ่งก็คือ ซินเกียง เมืองชายแดนสุดทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน อันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายแพรไหมช่วงแรกนับเนื่องจากนครฉางอาน หรือซีอาน เมืองหลวงของแดนมังกรจีนในอดีต ถือเป็นแหล่งกำเนิดและแหล่งชุมนุมยอดยุทธ์หลายต่อหลายคน รวมทั้งฮุ้นปวยเอี๊ยง แห่ง "กระบี่ไร้เทียมทาน" ของอึงเอ็ง เง็กล้อซัวะ หรือนางพญาผมขาว เพ็กฮ้วยเกี่ยม อุ้ยเสี่ยวป้อ และคัมภีร์กระบี่ หรือจอมใจจอมยุทธ์ ของกิมย้ง เป็นต้น

 นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางผ่านของพระถังซัมจั๋งระหว่างมุ่งหน้าไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่อินเดีย ดังปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง "มุ่งตะวันตก" หรือ "ไซอิ๋ว" ช่วงที่ต้องผ่านฝอเยี่ยนซาน หรือภูเขาเพลิง ระหว่างนั้น เห้งเจีย ศิษย์เอกต้องต่อสู้กับปีศาจกระทิง อดีตเพื่อนเก่า รวมทั้งองค์หญิงพัดเหล็ก เมียจอมหึงและอั้งไฮ่ยี้ ลูกของปีศาจกระทิง จนเจ้าแม่กวนอิมต้องทรงมาช่วย ถึงผ่านเส้นทางนี้ได้

 ล่าสุด ดิฉันมีโอกาสไปฝากรอยเท้าที่เมืองทาชเคนท์-ซามาร์คานด์-บุคารา-คีว่า ใน อุซเบกิสถาน ดินแดนแห่งความมหัศจรรย์พันลึกที่เปรียบเสมือน "หัวใจ" ของเส้นทางสายแพรไหมแท้ช่วงกลาง ไม่ใช่แพรไหมเทียมที่พ่วงเข้ามาภายหลังเพื่อหวังผลด้านการท่องเที่ยว โดยไม่สนใจว่าจะทำให้ประวัติศาสตร์บิดเบือนไปมากน้อยเพียงใด

 ทางการอุซเบกิสถานได้คุยนักคุยหนาว่าเป็นดินแดนแห่ง "อาหรับราตรี" หรือ "1001 ทิวา" เป็นอาณาจักรโบราณที่กว้างใหญ่ไพศาลมีอายุกว่า 2,500 ปี ซึ่งเคยมั่งคั่งแม้จะตั้งอยู่กลางทุ่งหญ้าอันแสนแห้งแล้ง แต่ถ้าดูจากประวัติศาสตร์แล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรต้องสาปมากกว่า เพราะถูกต่างชาติยึดครองมาเกือบทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่อดีตจนถึงศตววรษที่ 20 กว่าจะได้เอกราชเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.1991 หรือเมื่อ 20 ปีนี้เอง

 เริ่มตั้งแต่เป็นสนามการชิงชัยระหว่างลัทธิโซโรแอสเตอร์ หรือลัทธิบูชาไฟ กับพุทธศาสนาก่อนที่อิสลามจะเป็นผู้ชนะในที่สุด ตามด้วยการเป็นสนามประชันความยิ่งใหญ่ของ 2 มหาราชผู้พิชิตโลกแม้จะต่างยุคต่างสมัยกันก็ตาม ได้แก่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ผู้พิชิตดินแดนแห่งนี้ ครั้งที่ยังเป็นอาณาจักรโบราณซ็อกเดียนาเมื่อ ปี 367 ก่อนคริสตกาล กับ เจ็งกิสข่าน มหาราชันแห่งมหาราชายุคโบราณ ผู้ผนวกดินแดนแห่งนี้ ซึ่งในยุคนั้นตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเปอร์เซียมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมองโกลในศตวรรษที่ 12

 และกิมย้งได้จินตนาการภาพของยุทธการยึดเมืองซามากานด์ เมืองหลวงใหม่ของอาณาจักรฮัวชื่อจือม่อ หรืออุซเบกิสถานอย่างสนุกสนานว่าเป็นฝีมือการวางแผนของอึ้งย้ง เพื่อจะช่วยให้ก๊วยเจ๋งสร้างความดีความชอบจะได้บอกเลิกสัญญาหมั้นหมายกับวาเจ็งกงจู๊ ลูกสาวสุดสวาทของเจ็งกิสข่าน โดยใช้วิธี "โดดร่ม" จากภูเขาสูงร่อนลงในเมือง เลียนแบบอาวเฮี้ยงฮงที่เอาตัวรอดจากการถูกหลอกให้ติดอยู่บนยอดเขาหิมะด้วยการมัดขากางเกงให้แน่นแล้วเป่าลมเข้าทางขากางเกงให้โป่งพองแทนร่มบินร่อนลงมาโดยปลอดภัย

 จากนั้นเจ็งกิสข่านซึ่งโศกเศร้าเมื่อต้องสูญเสียมอถูเกิน บุตรชายของโจจิ หลานชายคนโปรดที่ถูกเกาทัณฑ์ยิงทะลุสมองเสียชีวิตระหว่างบุกตีเมืองนั้น ก็สั่งฆ่าล้างเมืองสังเวยแค้นไม่เว้นแม้กระทั่งเด็ก ผู้หญิง และคนแก่ "ผู้คนสิบกว่าหมื่นจบสิ้นชีวิต เลือดเนื้อกระเซ็นซ่านไปทั่วบริเวณ..." รวมทั้งยังสั่ง "ทำลายปราการกำแพงเมืองของพวกมัน เผาผลาญบ้านเรือนของพวกมัน เข่นฆ่าบุรุษของฮัวชื่อจือม่อ ฉุดคร่ากวาดต้อนสัตว์เลี้ยงของพวกมันมา" 

 อย่างไรก็ดี ในศตวรรษที่ 13 อามีร์ ติมูร์ ขุนศึกผู้แกร่งกล้าตามชื่อที่แปลว่า "เหล็ก" ผู้มีเชื้อสายมองโกลเร่ร่อน หรือที่ชาวรัสเซียเรียกว่าตาตาร์ ผู้ประกาศจะวัดรอยเท้าเจ็งกิสข่านก็ได้สถาปนาอาณาจักรเติร์กสถานของตัวเองขึ้นมาโดยมีเมืองซามาร์คานด์เมืองหลวง และได้แผ่ขยายอาณาจักรจนทอดยาวจากตะวันออกจรดตะวันตก จากแคชเมียร์ไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และจากเหนือจรดใต้ จากทะเลอารัลไปถึงอ่าวเปอร์เซีย

 อามีร์ ติมูร์ ซึ่งดิฉันแผลงเป็น "ตีหม้อ" เหมือนกับที่ฝรั่งแผลงจาก "ติมูร์ เดอะ เลม" หรือ "ติมูร์ผู้พิการ" กลายเป็น "เทเมอร์เลน" ได้บุกไกลไปถึงอินเดียจนเป็นบรรพบุรุษของราชวงศ์โมกุล โดยเป็นปู่ทวดของพระเจ้าบาบูร์ต้นราชวงศ์โมกุล ซึ่งได้นำสถาปัตยกรรมของติมูร์ไปเป็นแบบอย่างในการสร้างทัชมาฮาล อนุสรณ์สถานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ของชาห์ชะฮานที่มีต่อมุมตัส มเหสีคู่ทุกข์คู่ยาก 

 แต่พอถึงศตวรรษที่ 19 อุซเบกิสถานก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย และเพิ่งจะได้รับเอกราชเมื่อ 20 ปีที่แล้วนี้เอง จากนั้นก็เปลี่ยนระบอบการปกครองจากสังคมนิยมเป็นเผด็จการประชาธิปไตย

 หลังอุซเบฯ เป็นไทแก่ตัวแล้ว ติมูร์ผู้นี้เองก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างชาติใหม่ โดยรัฐบาลได้เร่งรณรงค์สร้างภาพของนักรบผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ให้เป็น "มหาราช" ให้ได้ ทุกที่ที่ไปจึงมีแต่เรื่องราวและภาพรวมทั้งอนุสาวรีย์ของติมูร์ จนแม้กระทั่งเวลานอนก็ยังฝันแต่ติมูร์

 ตลอดช่วง 11 วันของการเดินทางเยือน 4 เมืองใหญ่น้อยในอุซเบกิสถาน ดิฉันได้เห็นแต่ซากโบราณสถาน รวมทั้งสุสานทั้งเก่าและใหม่เกลื่อนไปทั่วทะเลทราย สะท้อนภาพสมัยก่อนว่ามีคนตายจากสงครามมากน้อยแค่ไหน จนอดหวนนึกไปถึงบทกวีโบราณของจีนที่ปรากฎในหนังสือเรื่อง "เจาะเวลาหาจิ๋นซี" ของหวงอี้ไม่ได้ ที่ว่า "หนึ่งวีรบุรุษแลกมากับหมื่นศพ"

 ท้ายสุดก็อยากจะตั้งชื่อเส้นทางนี้ว่าเส้นทางแห่งน้ำตาและความพลัดพรากเสียเหลือเกิน ซึ่งคงจะเพราะกว่าการตั้งชื่อว่าเช็งเม้งทัวร์ หรือสุสานทัวร์เป็นไหนๆ

บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์