ข่าว

“บทละครกรุงเก่า”...

“บทละครกรุงเก่า”...

12 พ.ค. 2554

“รู้มากอีปากกล้า มึงไปได้มาแต่ไหน พระพายพัดไป สมเพชลมพัดอีดอกทอง”

 ที่ยกมานี้เป็นบทละครชาตรีสมัยกรุงเก่า คือกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีคำด่ากันว่า “ดอกทอง” ที่ทำให้นึกถึงละครทีวีเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันเมื่อไม่นานมานี้

 ดอกส้มตามปกติจะมีสีขาว คำว่า สีทอง จึงบอกอยู่ในตัวแล้วว่าไม่ปกติ และคำว่า ดอกทองพจนานุกรมไทยก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นคำใช้ด่ากัน หมายถึงผู้หญิงใจง่ายในทางประเวณี

 ละครทีวีเรื่องนี้ก็คงจะหมายถึงอย่างนั้น

 การด่าว่ากันว่า เป็นผู้หญิงดอกทองหรือว่า อีดอกทอง จึงไม่ใช่ของใหม่ในละครไทยแต่อย่างใด เช่น บทละครชาตรีเรื่อง “นางมโนราห์” ในสมัยกรุงศรีอยุธยาดังที่ได้ยกมานั่น เป็นคำพูดของนางจันทกินรี ผู้เป็นแม่ด่าว่าลูกสาว นางมโนราห์ ทั้งที่ตัวละครทั้งสองนี้ต่างก็มียศศักดิ์สูงเป็นถึงพระมเหสีและธิดาของท้าวเจ้านคร

 ละครชาตรีนับเป็นละครเร่ หรือว่าละครนอก ของไทยประเภทหนึ่ง ที่นิยมเล่นแสดงกันมามานับตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ถือว่าเป็นละครของชาวบ้านร้านตลาดดูกันโดยเฉพาะ จึงร้องเล่นและรำกันเอาสนุกเป็นส่วนใหญ่ไม่มีแบบแผนอะไรมาก

 โรงแสดงก็ปลูกขึ้นง่ายๆ แค่ยกพื้นทำเพิงมุงหลังคาจาก ก็แสดงเล่นกันได้แล้ว ประกอบปี่ กลอง โทน ฆ้อง กรับ บอกบทให้รำร้อง บทของละครชาตรีจึงต้องสนุกถึงใจเพื่อเอาใจคนดูให้ติดตรึงอยู่กับที่ คล้ายกับละครทีวีทุกวันนี้ไม่ต่างกัน

 ในบางครั้งบางหนก็ถึงกับหยาบคายต่ำช้า ก็เพื่อที่จะสนองรสนิยมของคนดูที่ยืนดูอยู่ข้างถนน

 บทละครชาตรีเรื่องนางมโนราห์ที่จะยกตัวอย่างให้เห็นต่อไปนี้ น่าจะแจ่มชัดดีครับ

 เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า โหรทำนายดวงชะตาของนางมโนราห์ว่าจะมีเคราะห์ร้าย แม่จึงห้ามออกจากบ้านภายในเจ็ดวันตามที่โหราบอก แต่นางมโนราห์ไม่ยอมเชื่อทั้งแม่และโหร ดึงดันดื้อด้านจะออกจากบ้านหรือวังไปเที่ยวเสียให้ได้ แม่ลูกทั้งคู่ก็เลยทะเลาะกัน

 ผู้เป็นแม่เริ่มต้นว่าลูกก่อนว่าดังนี้

 “เป็นหญิงเจ้าแม่อา อย่าทำกะริกะเรียด ตัวเจ้ายังน้อยสักเท่าเขียด  เจ้ามาวอนแม่จะมีผัว เมื่อจะทอหูกไม่ถูกก้น  มันจะเอาตะกรนมาโขกหัว   เจ้ามาวอนแม่จะมีผัว  ลูกเอยจะยืนสักเท่าใด  ลูกเอยจะเลี้ยงเอาผัวแขก  ลูกเอยจะเลี้ยงเอาผัวไทย  เลี้ยงไว้ให้หนำใจ  ส่งให้อ้ายมอญมักกะสัน”...

 เมื่อแม่มากล่าวหาว่าลูกอยากจะเอาทั้งผัวแขก ไทย มอญ เจ๊กจีน และญี่ปุ่น ลูกก็โพล่งออกมาว่า “เชิญแม่เอาเองเถิด” และครั้นเมื่อถูกแม่ด่าว่าเป็น “อีดอกทอง” ลูกสาวนางมโนราห์ก็เลยย้อนแม่เข้าให้ว่าดังนี้

 “นางแม่ของลูกอา แม่มาด่าลูกไม่ถูกต้อง  ทั้งพี่ทั้งน้อง เหล่าเราดอกทองเหมือนกัน ดอกทองสิ้นทั้งเผ่า เหล่าเราดอกทองสิ้นทั้งพันธุ์ ดอกทองเสมือนกัน  ทั้งองค์พระราชมารดา”...

 คำว่า ก้าวร้าวบุพการี จึงได้มีมาแล้วในละครไทยเรา อย่างน้อยก็ในปลายกรุงศรีอยุธยานี้ และนางมโนราห์ จากบทละครชาตรีนี้ก็ไม่น่าจะต่างไปจาก “นางเรยา” ใน “ดอกส้มสีทอง” สักเท่าไหร่นัก

 นักประวัติศาสตร์ไทยบอกว่า วรรณกรรมถือเป็นหลักฐานที่สำคัญในการสะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและความประพฤติของคนในสมัยอยุธยาที่ใกล้จะเสียกรุงได้เป็นอย่างดี ว่าความหยาบคายก้าวร้าว กลายเป็นเรื่องปกติของสังคมสมัยนั้น

 ก็น่าจะใกล้เคียงกันกับสังคมไทยเราในทุกวันนี้กระมังครับ