ข่าว

"มาร์ค"เปิดใจเป็นทั้งหุ่นเชิดทั้งเด็กดื้อ

"มาร์ค"เปิดใจเป็นทั้งหุ่นเชิดทั้งเด็กดื้อ

01 พ.ค. 2554

“นายกฯอภิสิทธิ์” เปิดใจรายการเชื่อมั่นฯ แย้ม รบ.หน้า พรรคไหนรวมเสียงข้างมากได้ตั้งรัฐบาล ยืนยันรัฐบาลรักษาการมีอำนาจแก้ปัญหาไทย-เขมรได้ รับเป็นทั้งหุ่นเชิดทั้งเด็กดื้อ ยันไม่ปล่อยผ่านโครงการส่อทุจริตของพรรคร่วมรัฐบาล ปชป.เปิดโผผู้สมัครส.ส.กทม.

 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี  กล่าวในการบันทึกเทปรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” ที่ออกอากาศในวันที่ 1 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งออกอากาศเป็นตอนที่ 118 ถือเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการยุบสภาและการเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยใช้ชื่อว่าช่วง“เปิดใจนายกฯอภิสิทธิ์” ซึ่งมีการเชิญบรรดาพิธีกรรับเชิญที่เคยสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีในรายการดังกล่าว จำนวน 117 ตอน มาพูดคุยซักถามนายกรัฐมนตรีในประเด็นต่างๆ

 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รายการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ที่ตนเข้ามารับตำแหน่ง มีเหตุผลสำคัญคือวันที่ตนรับตำแหน่ง บ้านเมืองไม่ได้อยู่ในสภาพที่ปกติ โดยในขณะนั้นมีนายกฯมาแล้ว 4 คน รวมถึงมีวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ตนจึงเห็นว่าจำเป็นมากที่ผู้บริหารประเทศต้องมีการสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในทิศทางการบริหารประเทศในภาพรวม แม้คนจะมองว่าผู้บริหารประเทศมีช่องทางการสื่อสารกับประชาชนในช่องทางปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าประชาชนรับฟังแต่ทิศทางประจำวัน ก็จะไม่รู้ทิศทางของประเทศ ทั้งนี้ การจัดรายการดังกล่าว ตนไม่ได้ต้องการให้รายการนี้เป็นรายการตอบโต้กันทางการเมือง แต่ให้ซักถามเรื่องที่อยากรู้ เพียงแต่ขอให้หลีกเลี่ยงการตอบโต้หรือกล่าวหาใคร

 จากนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมรายการได้ซักถาม โดยมีผู้ถามว่าหลังการเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลชุดใหม่จะมาจากพรรคที่ได้เสียงข้างมาก หรือผู้ที่รวมเสียงข้างมากได้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ เพราะโดยธรรมชาติ รัฐสภาของเราจะเลือกส.ส.และเลือกพรรคการเมือง ซึ่งตามหลักของมัน ใครที่รวบรวมเสียงข้างมากได้ก็จัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งกฎกติกาของไทยเขียนชัดเจน และยุคปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตที่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาอย่างเปิดเผยด้วยการขานชื่อ อย่างไรก็ตาม โดยประเพณีพรรคใดที่มีส.ส.มากที่สุด มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลก่อน ทั้งนี้ ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องรอดูสถานการณ์จริง และจะชัดเจนมากขึ้นเมื่อแต่ละพรรคลงสู่สนามการเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้ว่าหน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร

 เมื่อถามต่อว่าบทบาทของพรรคขนาดกลางและเล็กมีมากขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ที่ตัวแทนของพรรคเล็กบางพรรคจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อยู่ที่ส.ส. ถ้าเขายกมือให้กับคนของพรรคขนาดกลางหรือเล็ก ก็เป็นได้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้นต้องไปคุยกันก่อน ต่อข้อถามว่าถ้าได้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง จะบริหารเศรษฐกิจและสังคมให้เดินไปด้วยกันได้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนมีแนวคิดว่าปัญหาสังคมไม่ได้มีสาเหตุมากจาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มาจากปัญหาเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว สังคมยุคข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้มากที่สุด เมื่อประชาชนได้รับข้อมูลอย่างรวดเร็ว ก็อยากได้คำตอบแบบสำเร็จรูปทันที ทำให้กระบวนการการไตร่ตรองลดลง ซึ่งมีผลต่อจิตใจของคน สังเกตได้จากภาษาที่ใช้กันในอินเตอร์เน็ต ไม่ต้องเป็นประโยคก็ได้ ทั้งหมดมีผลต่อการไตร่ตรองและการตั้งสติ ซึ่งกระตุ้นต่อความรุนแรงและความขจัดแย้งได้ง่าย ปัญหาคือคนไม่สามารถตั้งรับได้ทัน ขณะที่เศรษฐกิจที่ดีไม่ได้หมายความว่าโตเร็ว แต่เป็นเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน ซึ่งตนพยายามทำให้การกำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจไม่เร่งแบบสุดโต่ง แต่ต้องเชื่อมโยงกับแนวทางความเป็นธรรมด้วย

 เมื่อถามว่าถ้าได้กลับมาเป็นนายกฯจริง ได้มีการวางแผนแก้ปัญหาและจะปฏิรูปประเทศอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รับรองว่าถ้าตนได้กลับมา ปัญหาจะเพิ่มขึ้น เพราะโลกมีความไม่แน่นอน แต่การทำงานใน 2 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ว่าจะวุ่นวายอย่างไร แต่รัฐบาลของตนสามารถแก้ปัญหาได้ และวางแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาว ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดเหตุวุ่นวาย แต่เราต้องไม่เสียสมาธิ ภารกิจหลักต้องแก้และวางนโยบายอย่างต่อเนื่อง ส่วนการแก้ปัญหาปากท้องให้กับประชาชนนั้น ตนยืนยันว่ารัฐบาลทำมาตลอด แต่ดัชนีชี้วัดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดความพอใจหรือไม่พอใจบ้าง

 เมื่อถามว่าทั้งที่รัฐบาลชุดนี้สามารถอยู่ได้ถึงเดือนธ.ค.นี้ เหตุใดจึงยุบสภาก่อน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การเข้ามารับตำแหน่งของตน มาในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้ถูกหยิบยกมาเงื่อนไขของความรุนแรง ตนพูดมาตลอดว่าไม่ต้องการอยู่ครบวาระ เพราะตนต้องการให้สภาวะแวดล้อมกลับเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่น่าแปลกที่ผู้เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง กลับพยายามยื้อเรื่องนี้ออกไป การที่ตัดสินใจยุบสภานั้นตนเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศ

 เมื่อถามว่าการยุบสภาในขณะที่มีปัญหาการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับกัมพูชา จะทำให้เกิดปัญหมากขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าแม้รัฐบาลจะรักษาการ แต่ก็ทำได้ทุกอย่าง ส่วกองทัพก็รู้ดีว่าต้องทำอะไรเมื่อถูกรุกรานเข้ามา ก็จะไม่ลังเล ไม่ใช่ว่าต้องรอการเลือกตั้ง ซึ่งแนวทางทุกอย่างก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว กรณีของมรดกโลก ตนย้ำกับนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ว่าต้องไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้

 ต่อข้อถามว่ามีสื่อบางแห่งรณรงค์การให้ประชาชนกาช่องไม่ลงคะแนนให้ใคร หรือโหวตโน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า โอกาสที่ประชาชนจะกาช่องนี้แล้วมีผลทางกฎหมายน้อยมาก แต่เป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนไม่พอใจพรรคการเมือง แต่ก็เป็นสิทธิ์ อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนชั่งใจว่าระหว่างการเลือกพรรคที่ดีที่สุดหรือเลวน้อยที่สุด อะไรมีความสำคัญมากกว่ากัน ส่วนตัวรู้สึกเสียดายเพราะคะแนนจะหายไปเฉยๆ เป็นการเสียโอกาส ไม่ได้ทำในสิ่งที่คืดว่าดีที่สุด ส่วนที่ถามว่าตนจะกลับไปสอนหนังสือเมื่อใดนั้นก็อยู่ที่การเลือกตั้ง แต่ตนพูดหลายครั้งแล้วว่าจะอยู่ในวงการเมืองอีกไม่นาน และจะกลับไปทำอย่างอื่น ซึ่งการสอนหนังสือเป็นสิ่งที่ชอบที่สุด แต่ทั้งหมดอยู่ที่การเลือกตั้ง

รับเป็นทั้งหุ่นเชิดทั้งเด็กดื้อ

 นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาที่ตนถูกกล่าวหาว่าเป็นเด็กดื้อนั้น ก็เหมือนกับเหรียญ 2 ด้าน เวลาที่ทำอะไรตามใจคนที่ต้องการ ก็บอกว่าตนเป็นหุ่นเชิด แต่เวลาที่ทำอะไรไม่ตามใจ ก็บอกว่าตนเป็นเด็กดื้อ ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ใครเสนออะไรมา ตนก็รับฟังแต่ไม่จำเป็นต้องเชื่อฟัง สำหรับบทเรียน 2 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ถ้าเลือกได้ ก็จะไม่เลือกเข้ามาบริหารประเทศที่ต้องเผชิญกับปัญหาทุกด้าน แต่ตนเป็นนักการเมืองอาชีพ ตั้งใจและอาสาเข้ามา ไม่มีสิทธิ์เลือก ต้องทำหน้าที่ ไม่มีสิทธิ์โอดครวญอุทธรณ์ฎีกาใคร ไม่ชอบก็ออกไป แต่เมื่อตั้งใจทำแล้วก็ต้องสู้ ไม่มีทางยอมแพ้ และพร้อมรับผลที่จะตามมา

 “ไม่สนุกหรอกครับ เพราะบางสถานการณ์มันหนักหน่วง แต่เป็นความรับผิดชอบก็ต้องทำหน้าที่สู้ต่อไป บทเรียนที่ได้รับคือความอดทน ถือป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะบ้านเมืองมีความขัดแย้งมาก สิ่งที่ผมพยายามทำคือไม่เพิ่มความขัดแย้งจากการกระทำหรือคำพูด บางวันต้องกัดฟันนับหนึ่งไปถึงเลขอะไรก็ไม่รู้ กว่าจะยิ้มออกมาได้เมื่อเจอคำถามของสื่อ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

 เมื่อถามว่าจะประกาศเป็นสัตยาบันหรือเจตนารมณ์ว่าให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาล หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคหนึ่งได้คะแนนมาก เขาก็มีสิทธิ์จัดตั้ง แต่ถ้าตั้งไม่ได้ พรรคอันดับ 2 ก็มีสิทธิ์ แต่ไม่ใช่ว่าตนทำลายประเพณีตรงนี้ เพราะเมื่อแต่ละพรรคหาเสียงกับประชาชนแล้วบอกว่าจะสนับสนุนให้พรรคอันดับ 2 ตั้งรัฐบาล แต่เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น จะมาบอกว่าจะเป็นพรรคที่ได้เสียงอันดับ 1 อย่างนี้ก็เท่ากับหักหลังประชาชน จึงเป็นเจตนารมณ์ของแต่ละพรรคที่รับปากประชาชนไว้

 เมื่อถามว่าถ้าได้กลับมาเป็นรัฐบาล จะแก้ปัญหาผลประโยชน์และอำนาจที่เชื่อมโยงกับการทุจริคอร์รัปชั่นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า มีการทุจริตหลายระดับ เดี๋ยวนี้ไปที่ท้องถิ่นมาก รวมถึงตำรวจทางหลวงและตำรวจจราจร ทั้งนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ตนยืนยันว่าสิ่งใดที่เป็นที่สงสัย ตนไม่ปล่อยผ่าน แม้จะเป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงใด แต่ตนยอมรับว่าไม่สามารถเอื้อมเข้าไปดูได้ทุกเรื่อง อย่างไรก็ตาม ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องของราคากลาง กับการใช้ที่ปรึกษา จะทำให้การทุจริตในโครงการหรือการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆลดลงได้มาก ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ อำนาจต่อรองเป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่า แต่ถ้ารัฐบาลที่ปล่อยปละละเลยเรื่องแบบนี้ต่อให้มีเสียงข้างมาก ก็อยู่ไม่ได้ แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับนักการเมืองด้วยว่าคนที่ไปเรียกรับผลประโยชน์บางครั้งก็ไม่ได้บอกว่าเอาเข้ากระเป๋าตัวเอง แต่กลับอ้างว่าเอาไปให้นักการเมือง เพราะแม้แต่ตนก็ยังเจอเรื่องแบบนี้ ซึ่งทั้งหมดนักการเมืองทุกคนต้องยอมรับกับกรรมเก่าที่เคยทำร่วมกันมา

ปชป.เปิดโผผู้สมัครส.ส.กทม.

 นพ.บุรณัชย์กล่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์มีปัญหาความขัดแย้งในการพิจารณาผู้สมัครส.ส.ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทับซ้อนของเขตเลือกตั้งที่ลดลงนั้น กระบวนการและขั้นตอนเหล่านี้จะได้ข้อยุติในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 2 พฤษภาคมนี้
 รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์แจ้งว่า ขณะนี้มีรายชื่อผู้สมัครส.ส.กทม.ที่มีแนวโน้มจะลงสมัครครั้งนี้ ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 1 ได้แก่ เขตพระนคร ป้อมปราบฯ สัมพันธวงศ์ นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ เขตเลือกตั้งที่ 2 ได้แก่ เขตปทุมวัน บางรัก สาทร ม.ล.อภิมงคล โสณกุล เขตเลือกตั้งที่ 3 ได้แก่ เขตบางคอแหลม ยานนาวา นายอนุชา บุรพชัยศรี เขตเลือกตั้งที่ 4 ได้แก่ เขตคลองเตย และวัฒนา นายณัฐ บรรทัดฐาน(ลูกชายนายบัญญัติ บรรทัดฐาน) เขตเลือกตั้งที่ 5 ได้แก่ เขตดุสิต และราชเทวี มี น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี เขตเลือกตั้งที่ 6 ได้แก่ เขตดินแดง และพญาไท นายธนา ชีรวินิจ เขตเลือกตั้งที่ 7 ได้แก่ เขตห้วยขวาง วังทองหลาง(บางส่วน) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หรือนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เขตเลือกตั้งที่ 8 ได้แก่ เขตลาดพร้าว และวังทองหลาง นายสรรเสริญ สมะลาภา

 เขตเลือกตั้งที่ 9 ได้แก่ เขตจตุจักร นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เขตเลือกตั้งที่ 10 เขตบางซื่อ นางบุษกร คงอุดม เขตเลือกตั้งที่ 11 ได้แก่ เขตหลักสี่ และดอนเมือง(เฉพาะแขวงสนามบิน) นายสกลธี ภัททิยกุล เขตเลือกตั้งที่ 12 ได้แก่ เขตดอนเมือง(ยกเว้นแขวงสนามบิน) นายแทนคุณ จิตต์อิสระ เขตเลือกตั้งที่ 13 ได้แก่ เขตสายไหม นายก้องศักดิ์ ยอดมณี เขตเลือกตั้งที่ 14 ได้แก่ เขตบางเขน นายวิทเยนทร์ มุตตามระ เขตเลือกตั้งที่ 15 ได้แก่ เขตบางกะปิ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เขตเลือกตั้งที่ 16 ได้แก่ เขตบึงกุ่ม และคันนายาว (เฉพาะแขวงรามอินทรา) นายเกรียงยศ สุดลาภา เขตเลือกตั้งที่ 17 ได้แก่ เขตมีนบุรี และคันนายาว(ยกเว้นแขวงรามอินทรา) นายชาญวิทย์ วิภูศิริ

 เขตเลือกตั้งที่ 18 ได้แก่ เขตคลองสามวา นายสมัย เจริญช่าง เขตเลือกตั้งที่ 19 เขตหนองจอก นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ เขตเลือกตั้งที่ 20 ได้แก่ เขตลาดกระบัง นายมงคล กิมสูนจันทร์ เขตเลือกตั้งที่ 21 ได้แก่ เขตสะพานสูง และประเวศ(ยกเว้นแขวงหนองบอน และแขวงดอกไม้) นางนาถยา เบ็ญจศิริวรรณ เขตเลือกตั้งที่ 22 ได้แก่ เขตสวนหลวง และประเวศ(เฉพาะแขวงหนองบอน และดอกไม้)นายสามารถ มะลูลีม  เขตเลือกตั้งที่ 23 ได้แก่ เขตพระโขนง และบางนา นายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์ เขตเลือกตั้งที่ 24 ได้แก่ เขตธนบุรี(ยกเว้นแขวงดาวคะนอง) และเขตคลองสาน นายสุรันต์ จันทรพิทักษ์ เขตเลือกตั้งที่ 25 ได้แก่ เขตจอมทอง และธนบุรี(เฉพาะแขวงดาวคะนอง) นางนันทพร วีรกุลสุนทร

 เขตเลือกตั้งที่ 26 ได้แก่ เขตราษฎร์บูรณะ และเขตทุ่งครุ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เขตเลือกตั้งที่ 27 ได้แก่ เขตบางขุนเทียน นายสากล ม่วงศิริ เขตเลือกตั้งที่ 28 ได้แก่ เขตบางบอน และหนองแขม (เฉพาะแขวงหนองแขม) พ.ต.อ.นพ.สามารถ ม่วงศิริ เขตเลือกตั้งที่ 29 ได้แก่ เขตทวีวัฒนา และเขตหนองแขม(ยกเว้นแขวงหนองแขม) มี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ (ลูกบุญธรรมนายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เขตเลือกตั้งที่ 30 ได้แก่ เขตบางแค นางอรอนงค์ คล้ายนก หรือนายโกวิท ธารณา เขตเลือกตั้งที่ 31 ได้แก่ เขตภาษีเจริญ และบางกอกใหญ่ นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ เขตเลือกตั้งที่ 32 ได้แก่ เขตตลิ่งชัน และเขตบางกอกน้อย (เฉพาะแขวงบ้านช่างหล่อ และแขวงบางขุนศรี) นายชนินทร์ รุ่งแสง และเขตเลือกตั้งที่ 33 ได้แก่ เขตบางพลัด บางกอกน้อย (ยกเว้นแขวงบ้านช่างหล่อ และแขวงบางขุนศรี) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก