
"แมงลักคา"กลิ่นฉุนแรง
21 เม.ย. 2552
"แมงลักคา" หรือบางพื้นที่เรียก แมงลักป่า อีตู่ป่า นอกจากมีสรรพคุณรักษาโรคไข้หวัดได้แล้ว ชาวอีสานหลายครอบครัวยังชอบนำไปใส่ในแกงออม เพราะกลิ่นฉุนแรงกว่าแมงลักธรรมดา หรือแรงกว่าใบกะเพราเสียอีก
เป็นไม้พุ่มเตี้ยกึ่งล้มลุก ในวงศ์ LAMIACEAE ลำต้นตรงลักษณะจะออกเหลี่ยม สูงเท่าที่พบเห็นโดยไปราว 40-80 เซนติเมตร แต่ถ้าดูแลให้ดี ใส่ปุ๋ยอาจสูงถึง 1.5 เมตร ตามลำต้นมีขนอ่อนปกคลุม
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามตามกิ่งและต้น ก้านใบสีน้ำตาลแดงยาว 1-4 เซนติเมตร ทรงรีกว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 2-7 เซนติเมตร โคนใบมนและเว้า ปลายแหลม ขอบหยัก
ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อมีดอกย่อยขนาดเล็ก 3-6 ดอก เวลาบานสีออกม่วง มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียว มีเกสรตัวผู้ 4 อัน และเกสรตัวเมีย 1 อัน
ผล เป็นหลอดหรือเป็นฝักยาว 8-12 มิลลิเมตร ด้านในมีเมล็ด 2 ลักษณะเมล็ดจะออกแบนๆ
ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด และปักชำ ชอบดินร่วน ความชื้นค่อนข้างมาก และแสงแดดเต็มวัน
"นายสวีสอง"