ข่าว

หัวจระเข้ ถวายเจ้าพ่อประแดง
ที่พระประแดง สมุทรปราการ

หัวจระเข้ ถวายเจ้าพ่อประแดง ที่พระประแดง สมุทรปราการ

27 เม.ย. 2554

คนสมัยหลังลงมาไม่เคยเห็นและไม่เคยรู้เรื่องขุดพบเทวรูป “พระประแดง” ในคลองสำโรง จ.สมุทรปราการ

  แต่ยังทรงจำเรื่อง ศาลพระประแดง สืบมาอีก เลยพากันบอกเล่าเป็นนิทานเพิ่มออกไปเกี่ยวข้องกับจระเข้มีใน นิราศฉลาง (เมืองถลาง จ.ภูเก็ต) ของ เสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตร กวีสมัยรัชกาลที่ 3) ดังนี้
  ถึงศาลเจ้าพระประแดงแสยงเกล้า   นึกกลัวเจ้าพระประแดงแรงหนักหนา
 บนศาลศรีมีเศียรของกุมภา     แต่พันตาพันวังหัวฝังดิน

 ต่อมาผู้ใช้นาม บุศย์ รจนา แต่งนิทานกลอน เรื่อง ไกรทอง (องค์การค้าของคุรุสภา เอามาพิมพ์ใหม่ เมื่อ พ.ศ.2521) พิมพ์จำหน่ายแพร่หลาย

 นิทานเรื่องไกรทองกล่าวถึงจระเข้แม่น้ำน่านเมืองพิจิตร ชื่อ ท้าวโคจร (เป็นจระเข้เหนือ เป็นปู่ของชาละวัน) ลงมาอาละวาดต่อสู้กับจระเข้ใต้สองพี่น้อง อยู่แม่น้ำเจ้าพระยาชื่อ ท้าวพันตา กับ พระยาพันวัง

 ท้าวโคจรฆ่าท้าวพันตาได้ก่อนแล้วฆ่าท้าวพันวังทีหลัง จึงคาบศีรษะจระเข้พันวังมาไว้ที่ ศาลพระประแดง แล้วถือเป็นประเพณีว่าต้องเอาศีรษะจระเข้มาไหว้ที่ศาลเจ้าพ่อสืบจนปัจจุบัน

 มีคำกลอนบอกไว้ว่า “ท้าวโคจรปรีเปรมเกษมสานต์  ได้ล้างผลาญพันวังสิ้นสังขาร”  ต่อจากนั้นท้าวโคจรก็คาบศีรษะท้าวพันวังไปไว้ในศาลเก่า เรียก ศาลเจ้าพ่อประแดง มีคำกลอน ว่า

คาบศีร์ษะพันวังมายังศาล  ชูถวายเทวาเป็นช้านาน    มัสการเทพไทในลำเนา  ตั้งแต่นั้นมีกันทุกวันนี้    
หัวกุมภีส์จึงได้ถวายเจ้า  จึงตั้งศาลเทวราชเป็นลาดเลา   
คือ ศาลเจ้าพ่อประแดง   ตำแหน่งมี

"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"