
ความคิดขาว-ดำ
ปัญหาอย่างหนึ่งของคนไทย คือการตัดสินเรื่องต่างๆ แบบฟันธง ว่าถ้าไม่เป็นสีขาวก็ต้องเป็นสีดำ และหากเห็นว่าเป็นสีขาวแล้วจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอ ในขณะที่สีดำจะต้องเป็นฝ่ายผิดในทุกๆ เรื่อง
วิธีคิดดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการอบรมเลี้ยงดูในวัยเยาว์ ที่ถูกผู้ใหญ่สอนให้เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ไม่มีปากมีเสียง และทำตามที่พ่อแม่ผู้ปกครองสั่งให้ทำโดยไม่ต้องคิดอะไร กับอีกส่วนหนึ่งมาจากวิธีการเรียนการสอนในโรงเรียน ที่สอนให้นักเรียนเกาะยึดกับตำราและคำสอนของครู รวมถึงข้อสอบในยุคหลังๆ ที่เปลี่ยนมาเป็นแบบประเภทกาผิด-ถูก ซึ่งกระบวนการดังกล่าว หล่อหลอมให้เยาวชนไทยที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ไม่กล้าคิดอะไรนอกเหนือกฎเกณฑ์เก่า หรือมีความคิดเชิงวิเคราะห์วิพากษ์
กล่าวตามจริงแล้ว คำตอบทุกอย่างไม่ได้เป็นเรื่องของความถูก-ผิดเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับแง่คิดและมุมมอง องค์ความรู้ วิสัยทัศน์ และทัศนคติของแต่ละคน ซึ่งปัญหาเดียวกันอาจมีคำตอบมากกว่าหนึ่งคำตอบได้ และคำตอบนั้นก็อาจจะแตกต่างกันซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้รับคำตอบจะต้องใช้วิจารณญาณในการไตร่ตรองคำตอบนั้น และสามารถมีความเห็นตามหรือเห็นต่างได้เช่นกัน
ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เรื่องบางเรื่องอาจมีพัฒนาการหรือมีข้อมูลใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งทำให้คำตอบที่เราเคยคิดว่าถูกต้องอาจไม่เป็นอย่างที่คิดอีกต่อไปได้ ตัวอย่างเช่นคนเมื่อราว 400-500 ปีมานี้ ยังเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล หรือมีความเชื่อว่าโลกแบน ซึ่งใครก็ตามที่มีความคิดขัดแย้งกับความเชื่อดังกล่าว ทางศาสนจักรถือเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นอาจถูกเผาทั้งเป็นทีเดียว จนกระทั่งนิโคลาส โคเปอร์นิคัส นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ค้นพบข้อมูลใหม่ว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล โลกและดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ หมุนรอบพระอาทิตย์ หรือการที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ออกเดินทางทางทะเลโดยไม่ตกขอบโลก ก็ทำให้ได้คำตอบใหม่เรื่องสัณฐานของโลก เป็นต้น ซึ่งผลที่ตามมาคือการทำให้ความเชื่อดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน และการรู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการตอบคำถามในเรื่องต่างๆ ขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับคำตอบก็ควรต้องตระหนักว่า คำตอบนั้นอาจเป็นเพียงข้อมูล ณ กาลเวลาหนึ่ง และเป็นความเห็นของคนคนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป และต้องทำใจเผื่อสำหรับคำตอบที่อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ในอนาคต ซึ่งหากเราสามารถทำความเข้าใจได้เช่นนี้ ก็จะทำให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อความรู้ครึ่งๆ กลางๆ ของคนอื่น โดยเฉพาะคนที่ชอบให้คำตอบแบบฟันธง และจะทำให้เลิกคิดว่าทุกอย่างในโลกนี้จะมีแค่ถูก-ผิด หรือขาว-ดำ เท่านั้น
ปัจจัยของการพัฒนาทางสังคมประการหนึ่ง คือการมีสายธารทางความคิดที่หลากหลาย และไม่ด่วนตัดสินว่าความคิดของใครถูกหรือความคิดของใครผิด หากแต่นำความคิดเหล่านั้นมาค้นหาคำตอบที่ดีที่สุด ซึ่งอาจจะได้คำตอบที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน หรือไม่เคยมีใครคิดถึงมาก่อน และไม่ตรงกับคำตอบที่มีอยู่เดิม แต่สิ่งนั้นน่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะที่สุดกับสังคมในช่วงเวลานั้น และผลักดันสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น ปัญหาที่เป็นปุ่มปมมากมายจนดูเหมือนจะไม่มีทางแก้ไขหรือคลายปมได้นั้น อาจเป็นเพราะเราวางคำตอบไว้ล่วงหน้าแล้ว และถ้าวิธีการแก้ไขไม่ตรงกับคำตอบที่มีอยู่ เราก็จะสรุปว่าวิธีเหล่านั้นเป็นแนวทางที่ผิด ซึ่งจะทำให้ปัญหากลับมาวนอยู่ที่เดิม เพราะหาคำตอบไม่ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราเปิดใจให้กว้าง และเปิดปลายทางออกของปัญหาเอาไว้ ด้วยการยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากคำตอบเดิมๆ เราก็อาจจะได้คำตอบที่ตรงกับโจทก์มากกว่าเดิม และแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้โดยไม่ยาก
โลกนี้ไม่มีคำตอบเพียงถูก-ผิด หรือมีแค่สีขาวกับสีดำหรอกครับ ถ้าเราลืมตาให้กว้างๆ และมองไปให้รอบๆ เราก็จะพบว่าโลกเต็มไปด้วยสีสันต่างๆ มากมาย และถ้าในดวงตาเราไม่มีแค่สีขาว-ดำแล้ว โลกก็จะสวยงามขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าทีเดียวครับ