
ถกรับมือดินไหวกทม.ปั๊มคู่มือหนีภัยแจก
วสท.เปิดสัมมนารับมือแผ่นดินไหว จี้หน่วยงานรัฐช่วยชาวบ้านซ่อมอาคาร ด้านกทม. เตรียมปั๊มคู่มือหนีภัยพิบัติ จวกวิชาชีพวิศวกรไร้มาตรฐาน แฉลายเซ็นปลอมไม่ทำตามแบบอนุญาต
(21เม.ย.) เวลา 09. 20 น. ที่อาคารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ซ.รามคำแหง 39 นายพรเทพ เตะชะไพบูลย์ รองผู้ว่ากทม.ประธานเปิดสัมมนาการเกิดแผ่นดินไหว แนวทางการป้องกันและการตรวจสอบอาคารหลังแผ่นดินไหว ว่า เหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่า กทม.ได้รับความรู้สึกจากการสั่นไหวของตึกในกทม. ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้เพื่อเกิดความกระจ่างกับประชาชนให้นำไปสู่แนวทางปฏิบัติและแก้ไข ทั้งข้อบัญญัติของกทม. หรือของกฎกระทรวง ซึ่ง กทม.จะขอร้องอาคารต่างๆ ให้ปรับปรุงความปลอดภัย และมีแผนปฏิบัติหากเกิดเหตุ ซึ่งขณะนี้แผนดังกล่าวยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้ กทม.ไม่อยากให้การควบคุมเป็นเชิงกฎหมายบังคับ แต่อยากให้เป็นการร่วมมือ
จากนั้น ผศ.ดร.อาณัติ เรืองรัศมี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวบรรยายว่า แผ่นดินไหวสามารถเตือนภัยได้ในระยะสั้นๆได้ โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดอัตราเร่งจากพื้นดินวัดค่าแรงสั่นเล็กๆ และนำมาประเมินว่าคลื่นที่มีอนุภาพแรงจะมากี่วินาที ซึ่งประเทศญี่ปุ่นก็ใช้วิธีนี้ โดยวิธีนี้จะสามารถรู้ได้ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วินาที แต่ก็เพียงพอในการเตือนภัยล่วงหน้าหยุดการทำงานของเครื่องจักร หยุดการผ่าตัด และการปิดแก๊ซได้ นอกจากนี้ บ้านที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวของประเทศไทย จากที่ตนลงพื้นที่พบว่าชาวบ้านจะจ้างผู้รับเหมาทำกันเอง จึงอยากให้หน่วยงานราชการเข้าไปดูแล การซ่อมแซมหรือปรับปรุงเพื่อให้ได้มาตรฐาน
ด้านนายพินิต เลิศอุดมธนา ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร สำนักโยธา กทม.กล่าวว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหว กทม.มักเจอคำถามตลอดว่าอาคารที่ออกแบบรับแรงสั่งสะเทือนได้กี่ริกเตอร์ โดยเฉพาะ 12 อาคารในกทม.ที่ได้มีการสอบถามเข้ามามาก ซึ่งอาคารเหล่านี้เป็นอาคารที่เคยบันทึกในบัญชีตั้งแต่ปี 2550 ที่รับรู้การสั่นไหวจากแผ่นดินไหวได้ กทม.จึงนำรายชื่อทั้ง 12 อาคารมาดูอีกครั้ง ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับรองผู้ว่าฯกทม.ที่ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง และอาคารออลซีซั่น กทม.ก็ต้องมีการประสานไป เพราะทางเจ้าของอาคารเกรงว่าผู้คนในอาคารจะแตกตื่นได้
“ ปัญหาเรื่องความปลอดภัยของอาคาร ต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาด้านการควบคุมดูแลวิชาชีพของวิศวกร ที่ยังมีความอ่อนถึงอ่อนที่สุด เช่นการปลอมลายเซ็น หรือไม่ทำตามแบบที่ไม่ได้ยื่นขออนุญาต ทำให้เกิดปัญหาเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ดังนั้นถึงเวลาแล้วต้องพัฒนาให้วิชาชีพนีมีความเข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นจะเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นใหม่จมปลักตามกัน ” นายพินิต กล่าวและว่า ขณะนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กำลังร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาควบคุมอาคารที่สร้างก่อน พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 ให้ได้มาตรฐาน และตามที่กฎหมายกำหนด
นายพรเทพ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า เป็นห่วงความปลอดภัยของอาคารเก่าที่สูงเกิน 15 ชั้น ที่ก่อสร้างก่อน พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 โดยเบื้องต้นอยากให้เจ้าของอาคารไปตรวจสอบโครงสร้างภายใน หากไม่มั่นใจให้ประสานมายัง กทม.และ วศท. เพื่อเข้าทำการตรวจสอบหรือปรับปรุงโครงสร้างให้มีความแข็งแรง โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2 หมื่นบาทในการจ้างวิศวกรตรวจสอบ นอกจากนี้ กทม.จะออกคำแนะนำให้ประชาชนระวังภัยหากเกิดเหตุแผ่นดินไหว และจะประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารสูงเกิน 15 ชั้น หรืออาคารเก่าที่สร้างก่อน พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 ให้รองรับแรงสั่นสะเทือนหากเกิดแผ่นดินไหวได้
ด้านนายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทาง วสท.จะประสานกระทรวงมหาดไทยในการเร่งออกกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้กับอาคารสูงเกิน 15 ชั้น ทั่วประเทศ และ วสท.จะมีการจัดประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการเฝ้าระวังภัย 9 ประเภทในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิศกรรม ได้แก่ พายุสตรอมเซิร์จ ภัยแล้ง ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะแผ่นดินทรุด แผ่นดินสไลด์ ไฟป่า สึนามิ ภาวะโลกร้อน และปัญหาการเพิ่มของระดับน้ำทะเล