ข่าว

ภารกิจเตะหมาออกจากปากคน

ภารกิจเตะหมาออกจากปากคน

21 เม.ย. 2554

"ผมไม่อยากให้ทุกคนไปเข้าใจว่า ทำไปเพื่อการเมือง เพราะถ้าเหตุการณ์ขึ้นเมื่อไร ก็ต้องทำเมื่อนั้น เรื่องการหมิ่นสถาบันเราให้โอกาสมาพอสมควรแล้ว ทั้งเตือน ทั้งปรามแล้ว แต่ก็ยังพูดจาหมิ่นกันอยู่"

 ถ้อยแถลงล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่ยืนยันเจตนารมณ์ของกองทัพในการปกป้องสถาบัน

 "ถ้าไม่อึดอัด ผมคงไม่ออกมาฟ้องร้อง อย่าเอาทหารไปเป็นศัตรูกับใคร ทหารจะทำหน้าที่ของทหาร ผมทำหน้าที่ในฐานะเป็นพลเมือง ไม่ใช่ในฐานะ ผบ.ทบ. เป็นคนหนึ่งที่อยากปกป้องสถาบัน จึงต้องแจ้งความดำเนินคดี แต่เขาจะผิดหรือไม่ก็แล้วแต่ศาลจะพิจารณา"

 คำยืนยันของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเช่นนี้ แต่สำหรับ จตุพร พรหมพันธุ์ ผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ก็ไม่ลังเลที่จะชี้ไปว่า นี่คือการอ้างเหตุผลเพื่อจะนำไปสู่การปฏิวัติยึดอำนาจ

 ซึ่งฟังแล้ว ดูจะค่อนข้างเลื่อนลอย ห่างไกลความเป็นจริง

 หนึ่ง จตุพร หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ไม่ได้อยู่ในฐานะที่ "มีอำนาจ"

 สอง การเมืองกำลังมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้ง อันเป็นขั้นตอนของการเข้าสู่อำนาจตามระบอบประชาธิปไตย ที่ทุกฝ่ายต่างก็ถวิลหา

 สาม หากกองทัพตัดสินใจ ครึ่งชั่วโมง 1 ชั่วโมง ไปเพื่อที่จะยึดอำนาจ ด้วยเหตุผลเพราะว่า แกนนำคนเสื้อแดงกล่าวปราศรัยมีเนื้อหาอาจเข้าข่ายที่จะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยไม่คิดถึงสภาวะบ้านเมืองเป็นอย่างไร ทหารก็จะมีแต่ตกเป็นจำเลยของสังคม

 สี่ หากกองทัพบุ่มบ่ามออกมาในจังหวะนี้ ใช่เข้าทางแกนนำคนเสื้อแดงหรือไม่ ?

 เหตุผลเหล่านี้ใช่ว่ากองทัพจะไม่รู้

 ภาพทหารสังกัด พล.1 รอ. ตบเท้ารวมพลประกาศปกป้องสถาบันกษัตริย์เมื่อวันที่ 19 เมษายน จึงเป็นความพยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพของกองทัพ

 ถึงแม้ว่า การออกมาครั้งนี้จะสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นจำเลย หรือเป็นประเด็นให้แกนนำเสื้อแดงนำไปต่อยอดให้ออกมาเป็นมุมอื่น แต่การออกมาด้วยประเด็นนี้ ก็มีมุมมองว่า นี่อาจส่งผลที่ดีต่อความเป็นเอกภาพในกองทัพ

 ต้องยอมรับว่า หลายปีที่ผ่านมา การเติบโตของกำลังพลในกองทัพนั้น บางคน บางรุ่น โตเพราะถูกการเมืองฉีดยากระตุ้น ไม่ได้ไต่เต้าตามเส้นทางเหล็กอย่างที่ครวรจะเป็น

 เพียงเพราะรุ่นเดียวกัน เพียงเพราะเป็นเครือญาตินักการเมืองก็ก้าวข้ามหัวรุ่นพี่ ที่แต่เดิมน่าจะมีอนาคตไกลได้ไม่ยากนัก

 คนเหล่านี้เมื่อเติบโตก็ย่อมมีลูกน้อง และเมื่อการเมืองถึงคราวเลือกสี ก็ไม่ลังเลที่จะเอนเอียงไปทางผู้มีพระคุณ

 แต่เมื่อเกิดเรื่องเกี่ยวกับสถาบันขึ้นมา ด้วยความที่เคยปฏิญาณตนสละแล้วซึ่งเลือดเนื้อเพื่อปกป้องสถาบัน ก็เลยทำให้น่าเชื่อว่า การออกมาตบเท้าของเหล่าทหารจะนำมาซึ่งความสมัครสมานสามัคคี เพื่อร่วมมือร่วมใจกันปกป้องสถาบันกษัตริย์ และชาติบ้านเมืองด้วยกำลังอันเข้มแข็ง

 การเคลื่อนไหวของกองทัพครั้งนี้ เป็นสัญญาณที่ส่งไปยังทุกฝ่ายอย่างชัดเจนว่า ยาวไปจนหลังการเลือกตั้ง

 การเคลื่อนไหวของการเมืองจะถูกกองทัพจับตาทุกฝีก้าว

 ใครแหลมมาเป็นเจอดี

 เหมือนอย่างที่ จตุพร และพวก โดนมาแล้ว
 แวดวงทหารเขาเรียกภารกิจนี้ว่า "เตะหมาออกจากปากใครบางคน"

 อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยนั้น ไม่ใช่ว่า "คนมีปืน" จะเดินไปสั่งให้ใครต่อใครหยุด-เลิกกันได้ง่ายๆ การประเมินสถานการณ์นับจากนี้ไปจนถึงเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลใหม่ ความวุ่นวายก็ไม่น่าจะสิ้นสุด

 หากแต่น่าจะเป็นการนับหนึ่งของโจทย์ใหม่แห่งวิกฤติประเทศอีกครั้ง

 เสื้อเหลืองก็คงจะไม่ทิ้งโอกาสนี้ ออกมาขับเคลื่อนฐานเสียงจากประเด็น "โหวต โน" เพื่อทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลใหม่

 ขณะที่เสื้อแดงก็คงจะออกมาชุมนุมใหญ่อีกหน หากว่า พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้การเลือกตั้ง

 คนสองกลุ่มนี้ น่าเชื่อว่าคงจะไม่สนใจว่า รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งแล้วจะเป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมหรือไม่

 ตรงนั้นคือสิ่งที่กองทัพจับตามอง

 เมื่อคนทั้งสองสีกลับมาอีกครั้ง ก็เท่ากับชัดเจนแล้วว่า บ้านเมืองไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้อีก

 เท่ากับว่า การเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบของประเทศ ทั้งที่การเลือกตั้งเป็นกระบวนการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

 ถามว่า นี่คือการปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่ ?

 ทั้งสองสีก็คงจะปฏิเสธว่า "ไม่ใช่" แต่ก็น่าจะยังเดินหน้าชุมนุมในประเด็นของตนต่อไป

 แต่สำหรับกองทัพแล้ว ถ้าเหตุการณ์เป็นอย่างที่ว่า ก็บอกได้เลยว่า เลยจุดที่เรียกว่า "เอือมระอา" ไปนานแล้ว

 หากสถานการณ์หลังเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้ บ้านเมืองเต็มไปด้วยความแตกแยก นั่นก็เท่ากับว่า "ประตู" ได้เปิดรับอำนาจนอกระบบอีกครั้ง

 สถานการณ์วันข้างหน้าไม่น่าจะหนีไปจากนี้ หากว่าวันนี้การเมืองยังเล่นเกมสกปรกในทุกรูปแบบ