
เตะหมูเข้าปากหมา
สิ่งหนึ่งสะท้อนความเอือมระอาของคนไทยต่อสภาพการเมืองไทยในเวลานี้ ก็คือการเกิดความคิด โหวตโน ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในปีนี้ พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือการเสนอให้ ไม่เลือกทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ด้วยเหตุผลว่าไม่มีพรรคใดดีไปกว่ากัน
ความคิดเช่นนี้ ถ้าพูดเล่นๆ เพื่อความสะอกสะใจก็ไม่กระไรนักหรอกครับ แต่ถ้าพูดแล้วเกิดมีคนเห็นดีเห็นงามลงมือทำตาม เมื่อถึงวันเลือกตั้งก็ไปเลือกตามสิทธิหน้าที่ แต่ไม่ลงคะแนนให้ใคร ก็จะกลายเป็นการเตะหมูเข้าปากหมา ซึ่งจะยิ่งก่อให้เกิดความวุ่นวายหนักขึ้นไปอีก เพราะอาจเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดๆ ได้ เนื่องจากยังไงก็ต้องมีพรรคใดพรรคหนึ่ง (ซึ่งแม้เราจะไม่ชอบทั้งคู่) ได้คะแนนมากกว่าอีกพรรคหนึ่งอยู่ดี ไม่ว่าคะแนนนั้นจะได้มาด้วยวิธีใดก็ตาม และพรรคนั้นย่อมมีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาล การไม่ออกเสียงจึงเท่ากับเป็นการตัดโอกาสของเราเองในการแสดงสิทธิทางการเมือง และประการที่สอง ต่อให้มีคน “โหวตโน” เยอะขนาดไหน ก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับผลของการไม่โหวต ส่วนการจะหวังให้เกิดปฏิกิริยาอะไรบางอย่าง ก็เป็นสิ่งที่อยู่นอกครรลอง
ดังนั้น หากจะใช้มาตรการ “โหวตโน” เพื่อคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ก็ควรต้องมีฐานมารองรับการกระทำเช่นนั้นเสียก่อน เช่น มีกฎหมายกำหนดว่าหากผลการเลือกตั้งปรากฏว่ามีคน “โหวตโน” มากกว่าคนที่โหวต ให้ถือว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนส่วนใหญ่ และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่ง กกต.จะต้องศึกษาหาเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้เกิดเรื่องเช่นนั้นขึ้น หากเกิดจากการที่ประชาชนไม่พอใจพรรคการเมือง ก็เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองจะต้องพิจารณาตัวเองว่า การที่ประชาชนไม่สนับสนุนการเลือกตั้งนั้น เป็นเพราะนโยบายของพรรคไม่ตรงกับใจของประชาชน หรือเป็นเพราะตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และหาทางแก้ไขข้อบกพร่องต่อไป ซึ่งหากมีการเลือกตั้งซ้ำดังกล่าวสักครั้งหรือสองครั้ง ผมคิดว่าพรรคการเมืองก็จะต้องปรับตัวเข้ากับความต้องการของประชาชนโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าในสิ่งที่ไม่ดียังไงก็ย่อมจะต้องมีส่วนที่ดีอยู่ และในส่วนที่ดีก็อาจจะมีส่วนที่ไม่ดีอยู่ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การจะปล่อยให้ปลาเน่าตัวสองตัวทำให้ปลาตัวอื่นเสียไปทั้งข้อง จึงอาจจะเป็นการด่วนตัดสินอะไรเร็วไปหน่อย ทั้งๆ ที่ยังมีหนทางอื่นที่จะทำได้ดีกว่านั้น เช่น การลงคะแนนให้พรรคการเมืองนอกกระแสซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองและสังคม หรือเลือกลงคะแนนให้เฉพาะผู้สมัครที่เป็นคนดีมีคุณภาพโดยไม่คำนึงถึงพรรคที่บุคคลนั้นสังกัด ซึ่งหากเป็นเช่นที่ผมว่านี้ ก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองในมิติใหม่ขึ้นในเมืองไทยได้ นั่นก็คือ การที่พรรคการเมืองนอกสายตาหรือพรรคที่เป็นทางเลือกใหม่มีที่นั่งในสภา เช่นเดียวกับที่พรรค "กรีน” ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเยอรมันเคยทำมาแล้วในยุค 1970 หรืออาจส่งผลให้คนดีๆ ในพรรคที่ไม่ค่อยดีก้าวขึ้นมามีบทบาทในพรรคนั้น แทนคนรุ่นเก่าที่ตกยุคตกสมัย ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ ย่อมดีกว่าการที่เราจะงอมืองอเท้าปล่อยให้คนที่เราไม่ได้เลือก ครองเมืองอย่างแน่นอน
การเมืองก็เหมือนกับการตัดเสื้อผ้าตามสั่ง ซึ่งต้องมีการวัดตัว เลือกผ้า เลือกสไตล์และลองตัว ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ใช้ความคิดพินิจสร้างและความอดทน แต่เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้ชุดที่สวยงาม เหมาะกับรูปร่างของผู้สวม ซึ่งแตกต่างไปจากเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่วางจำหน่ายทั่วไป ต่อให้เป็นยี่ห้อดังของต่างประเทศ ก็ยากนักที่จะพอดีตัว บางทีก็แขนยาวหรือคอกว้างเกินไป หรือเนื้อผ้าและสีสันอาจไม่ถูกใจสักเท่าไหร่ ดังนั้น ถ้าต้องการเห็นการเมืองที่มีรูปแบบเหมาะเจาะกับคนไทยก็คงต้องใช้เวลาและความอดทนหน่อยครับ ซึ่งย่อมดีกว่าการประชดชีวิตด้วยการไม่ยอมใส่เสื้อผ้าเป็นไหนๆ
ท้ายคอลัมน์วันนี้ ผมขอขอบคุณคุณ “ลูกแม่โดม 2515” จาก จ.ราชบุรี ที่เมื่อได้อ่านเรื่อง “หนูหล่อกับนกกางเขน” ของผมใน “วันเว้นวันฯ” แล้ว ได้กรุณาส่งหนังสือ “นกกางเขน” ของคุณย่า ฉบับ พ.ศ.2483 ราคา 19 สตางค์ มาให้ ขอบคุณมากๆ เลยครับ
"ประภัสสร เสวิกุล"
psevikul.com