
เอดีบีหั่นเป้าเศรษฐกิจไทยเหลือ4.1%ห่วงราคาน้ำมันพุ่ง-ภัยพิบัติญี่ปุ่น-น้ำท่วมใต้ฉุด
เอดีบีลดคาดการณ์จีดีพีเศรษฐกิจไทยเหลือ 4.1% จากเดิมมองว่าจะเติบโต 4.5% ชี้ราคาน้ำมันพุ่ง ภัยพิบัติญี่ปุ่นและน้ำท่วมใต้เป็นปัจจัยลบ ห่วงราคาน้ำมันกดดันเงินเฟ้อ ด้าน ม.หอการค้าไทยประเมินน้ำท่วมใต้ฉุดจีดีพี 0.29% เสียหาย 2.6 หมื่นล้าน ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภ
นางลักษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรสำนักงานผู้แทนธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประจำประเทศไทย แถลงรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียและไทยของเอดีบีประจำปี 2554 ว่า เอดีบีได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในปี 2554 ลดลงเฉลี่ย 0.4% มาอยู่ที่ระดับ 4.1% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 4.5% ซึ่งอัตราการขยายตัวดังกล่าว อยู่บนสมมติฐานที่ว่าการเลือกตั้งทั่วไปเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีเหตุวุ่นวายทางการเมือง
สำหรับปัจจัยลบที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลง มาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อเนื่อง และผลกระทบจากภัยพิบัติในญี่ปุ่นต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมในภาคใต้ที่กระทบถึงพื้นที่การเกษตรและทำให้การท่องเที่ยวชะลอตัว นอกจากนี้ การที่จีดีพีไทยลดลง เป็นผลจากการเติบโตมาจากฐานที่สูงในปีที่ผ่านมา และอุปสงค์นอกประเทศเกิดการชะลอตัว ทั้งเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมสำคัญ ส่วนปีหน้าจีดีพีไทยน่าจะขยายตัวเพิ่มอยู่ที่ 4.8%
"มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพและการควบคุมราคาสินค้า น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อได้ และไทยโชคดีกว่าหลายประเทศในเอเชีย ราคาอาหารมีเปอร์เซ็นต์ต่ำ อีกทั้งยังเป็นผู้ส่งออกอาหาร จึงมีแรงกดดันน้อยกว่าเพื่อนบ้าน แต่ราคาน้ำมันสำหรับไทยแล้วน่าเป็นห่วงกว่า" นางลักษมณกล่าว
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังมีมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในทิศทางบวก แม้ว่าจะมีเหตุการณ์อุทกภัยภาคใต้จะสร้างความเสียหายคิดเป็น 0.24-0.29% ของจีดีพีประเทศ แต่เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย กำลังซื้อของประชาชนในทั่วทุกภาคอยู่ในระดับสูง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวที่ระดับ 4-5% แต่ยังต้องติดตามปัจจัยอื่นๆ
สำหรับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2554 นั้น ดัชนีความความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 71.0 ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ดัชนีอยู่ที่ระดับ 72.2 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันนับแต่เดือนมกราคมที่ดัชนีอยู่ที่ระดับ 81.5 ซึ่งมีปัจจัยลบจากเรื่องราคาสินค้าแพง สถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจภาคใต้คิดเป็นมูลค่า 2.1-2.6 หมื่นล้านบาท ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นที่กระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะที่ปัจจัยการเมืองยังเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคยังกังวลใจอยู่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประชาชนระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น