
นาทีมอบตัว...แกนนำเสื้อแดง
ในที่สุดการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือม็อบคนเสื้อแดง ที่ยึดข้างทำเนียบรัฐบาลชุมนุมกดดันรัฐบาลมาตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน ก็ถึงเวลายุติลง หลังนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำคนสำคัญประกาศยุติการชุมนุมเมื่อก่อนเที่ยงวันที่ 14
หลังยุทธวิธีดาวกระจายก่อจลาจล "ปิดถนน-เผาเมือง" ไม่สัมฤทธิผล เพราะถูกทหารปฏิบัติการตามคำสั่งของรัฐบาล ภายหลังการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง กดดันอย่างหนัก แถมยังถูกคนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยรวมตัวต่อต้านอย่างหนัก และยิ่งนับวันยิ่งแสดงความเกลียดชังต่อคนเสื้อแดงอย่างเห็นได้ชัด
ความพ่ายแพ้ของกลุ่มคนเสื้อแดง ฉายแววเด่นชัดเมื่อใกล้พลบค่ำคืนวันที่ 12 เมษายน การปิดเส้นทางการจราจรหลายจุดทั่วกรุงเทพฯ ถูกทหารทลายด่านกั้นได้สำเร็จ
ขณะที่มวลชนรอบข้างใกล้เคียงหลายพื้นที่มีการรวมพลังจัดตั้งกลุ่มต่อต้านม็อบเสื้อแดง เช่น
นางเลิ้ง ยมราช เพชรบุรี ซอย 5 ซอย 7 และแฟลตดินแดง ที่เห็นเด่นชัดสุดคงจะเป็นชุมชนนางเลิ้ง ถึงขนาดเปิดฉากปะทะกับกลุ่มเสื้อแดงจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บเกือบ 10 คน
ระหว่างนั้นแกนนำ นปช.มีการประชุมประเมินสถานการณ์เป็นระยะ โดยบรรยากาศการประชุมเต็มไปด้วยความตึงเครียด อีกทั้ง พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส.ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน แถลงข่าวผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ประกาศ ทหารจำเป็นต้องสลายการชุมนุมโดยจะใช้ความละมุนละม่อมแต่สงวนสิทธิ์ที่จะใช้อาวุธเพื่อป้องกันตัว
หลังการออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจของ ผบ.สส. ทหารจำนวนมากเข้าโอบล้อมทำเนียบรัฐบาลทุกด้าน ปิดกั้นเส้นทางไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปบริเวณการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่อนุญาตให้บุคคลที่อยู่ภายในออกจากพื้นที่ได้เท่านั้น แถมยังตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงของกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย
วินาทีวิกฤตินี้ทำเอานายวีระและแกนนำคนอื่นๆ เคร่งเครียดและอยู่ในอาการกระสับกระส่าย อีกทั้งในเวลาต่อมาไม่นานก็มีการเผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนต่างประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีลักษณะเพลี่ยงพล้ำ ก็ยิ่งเร่งเร้าให้บรรดาแกนนำถอดใจ
อีกทั้งกระแสข่าวดังลั่นสนั่นม็อบตลอดค่ำคืนของวันที่ 13 เมษายน ว่าทหารพร้อมสำหรับการบุกสลายการชุมนุมได้ทุกเวลา ขณะที่ชาวบ้านยิ่งทวีความโกรธแค้นคนเสื้อแดงถึงกับรวมตัวกันต่อต้านอย่างหนัก
กระทั่งเที่ยงคืนวันที่ 13 เมษายน นายวีระเอ่ยปากกับบุคคลใกล้ชิดว่า "เรากำลังถูกปิดประตูตีแมว ใกล้แพ้เต็มรูปแบบเต็มที" ขณะที่ความเห็นของแกนนำ นปช.แตกออกเป็นสองกลุ่ม โดยส่วนหนึ่งยังเห็นว่า ยังพอสู้ต่อได้ ขณะที่อีกกลุ่มถอดใจยอมยกธงขาวแล้ว
เช้าวันที่ 14 เมษายน มีทหารไม่ทราบสังกัดเข้าไปเจรจากับนายวีระ โดยเสนอให้นายวีระและแกนนำ นปช.ยุติการชุมนุมไปดีกว่าจะยอมเสียเลือดเสียเนื้อ เพราะหากยังคงดื้อดึงทหารมีความจำเป็นต้องสลายการชุมนุมโดยจะใช้มาตรการตั้งแต่เบาไปหาหนัก ไล่ตั้งแต่ฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา หรือไม่ก็อาจจะหนักกว่านั้น
แหล่งข่าวใกล้ชิดนายวีระ บอก "คม ชัด ลึก" ว่า วินาทีนั้นนายวีระรู้ดีว่า ในม็อบมีอาวุธโดยเฉพาะระเบิดเพลิง หากเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมจริง กลุ่มผู้ชุมนุมอาจนำอาวุธเหล่านี้มาใช้ตอบโต้ทหาร อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายลงจำนวนมาก นายวีระ ไม่อยากได้ชื่อว่า "พาคนไปตาย" จึงตัดสินใจประกาศยุติการชุมนุม
นายวีระพร้อมด้วยนายสุพร อัตถาวงศ์ ติดต่อขอมอบตัวกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนพ.เหวง โตจิราการ เข้ามอบตัวสมทบภายหลัง ส่วนนายจักรภพ เพ็ญแข และนายจตุพร พรหมพันธุ์ รวมถึงแกนนำอีกหลายคนหายหน้าไปโดยไม่มีใครทราบว่าหายไปไหน
แกนนำ นปช. ที่เข้ามอบตัว ถูกตำรวจแจ้งข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้ที่มีหน้าที่สั่งการ และร่วมกันกระทำการให้เป็นที่ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา และร่วมกระทำการปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 215 โดยในมาตรา 116 มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี ขณะที่มาตรา 215 จำคุกไม่เกิน 5 ปี
ทั้งนี้ บุคคลที่ตำรวจออกหมายจับ ได้แก่ 1.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 2.นายวีระ มุสิกพงศ์ (มอบตัวแล้ว)
3.นายจตุพร พรหมพันธุ์ 4.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (มอบตัวแล้ว) 5.นายจักรภพ เพ็ญแข 6.นายอดิศร เพียงเกษ 7.นพ.เหวง โตจิราการ (มอบตัวแล้ว) 8.นายสิรวิชญ์ พิมพ์กลาง 9.นายพีระ พริ้งกลาง 10.นายณรงค์ศักดิ์ มณี 11.นายณัฐพงศ์ อินทนาง 12.นายชินวัฒน์ หาบุญพาด และ 13.ชายไม่ทราบชื่อ (ปรากฏตามภาพถ่าย)