ข่าว

หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ

หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ

01 เม.ย. 2554

การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แบ่งอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย เพื่อเอื้ออำนวยต่ออธิปไตยของปวงชนคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ กล่าวสำหรับฝ่ายนิติบัญญัติอันประกอบไปด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา รวมกันเป็นรัฐสภา ดูเหมือนจะเป็นปัญหามากที่สุดหร

 เหตุการณ์การประชุมรัฐสภา และสภาผู้แทนราษฎรล่มซ้ำซากอันเนื่องมาจากสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม ซึ่งมีคำอธิบายตามมาว่า เป็นเพราะส.ส.ต้องลงพื้นที่ช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัย พบปะประชาชนเพื่อเตรียมหาเสียงเลือกตั้งตามที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดวันเวลาไว้ค่อนข้างชัดเจน หรือกระทั่งการเล่นเกมการเมืองของสมาชิกพรรคฝ่ายค้านที่ไม่ต้องการให้ครบองค์ประชุม เหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้อแก้ตัวมากกว่าจะเป็นเหตุผลที่ปุถุชนคนทั่วไปพึงจะรับฟังได้

 กล่าวสำหรับข้ออ้างที่ว่า ส.ส.ต้องลงพื้นที่ทั้งเพื่อช่วยเหลือราษฎรหรือเพื่อหาเสียงเพราะใกล้เวลายุบสภา ล้วนแต่เป็นคำกล่าวที่น่าละอายอย่างยิ่ง เพราะถึงอย่างไร สมาชิกรัฐสภาทุกคนพึงตระหนักว่า ในเมื่อตนอาสามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ควรจะต้องจัดวางลำดับความสำคัญของการประชุมสภาเพื่อออกกฎหมายและตรวจสอบฝ่ายบริหารไว้เป็นเรื่องแรก เฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้มีร่างกฎหมายที่ค้างการพิจารณาอยู่มากกว่า 100 ฉบับ ส่วนงานรองนั้นจะว่าไป ก็มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำงานกันอย่างหามรุ่งหามค่ำกันอยู่แล้ว ซึ่งถ้าหากส.ส.หรือกระทั่งวุฒิสมาชิก ไม่รู้จักงานในหน้าที่ว่า สิ่งใดสำคัญก่อนหลังเสียแล้ว ก็ยากที่จะทำให้ประชาชนไว้วางใจฝ่ายนิติบัญญัติ เช่นนี้นี่เอง ที่นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาถึงการออกปากประชดประเทียดว่า ให้ยุบสภาไปเสียเลยหรือว่า ให้อำนาจฝ่ายอื่นเข้ามาจัดการไปจะดีกว่า

 เป็นที่ประจักษ์ว่า เหตุการณ์ชวนอัปยศอดสูเช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะความประพฤติและการปฏิบัติเฉพาะตัวบุคคลของบางคนหรือบางหมู่คณะเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับระบบหรือข้อบังคับใดๆ ทั้งสิ้น ดังเช่นที่มีตัวอย่าง ส.ส.บางท่านเสียสละงานสำคัญส่วนตัวที่สำคัญยิ่งในชีวิต เข้าร่วมประชุมสภาจนเสร็จสิ้น อันแสดงให้เห็นว่า ได้จัดความสำคัญของ "หน้าที่" โดยจรรยาบรรณเป็นลำดับแรก ถ้าส.ส.และวุฒิสมาชิกยังไม่ตระหนักก็ขอให้ลองนึกดูว่า ถ้าหากแพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ ผู้ใช้แรงงาน หรือแม้แต่คนงานที่บ้าน พากันเห็นหน้าที่หลักของตนเป็นแค่เรื่องรองเสียแล้ว บ้านเมืองจะวิบัติขนาดไหน