
"ทรีพอดส์"ต้นไม้ฟอกอากาศ"ไม่"ธรรมชาติ
สัดส่วนประชากรต้นไม้ใบหญ้ากับจำนวนประชากรมนุษย์ในเมืองใหญ่หลายต่อหลายเมืองมักไม่ได้สัดส่วนที่สมดุลระหว่างกัน ทั้งที่มนุษย์ซึ่งทำหน้าที่ผลาญทรัพยากรธรรมชาติ จะรู้ดีว่าต้นไม้นั้นมีคุณประโยชน์หลายประการ
ทั้งให้ความร่มเย็น ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ฝุ่น ควัน ในอากาศ และเปลี่ยนเป็นก๊าซออกซิเจน ที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นใช้หายใจเข้าไปบำรุงสถานะการดำรงชีวิต อันเป็นผลจากการใช้พื้นที่ที่มีอยู่น้อยนิดในเมืองใหญ่เพื่อสร้างที่พัก หรืออาคารสำนักงาน รวมทั้งสาธารณูปโภค ให้ยานพาหนะได้ใช้สร้างมลภาวะออกมาแทนการใช้พื้นที่ว่างปลูกต้นไม้
ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดการสร้างต้นไม้เทียมที่ชื่อ "ทรีพอดส์" ที่มีลักษณะเหมือนต้นไม้ขนาดใหญ่จริงๆ มีร่มเงาไว้หลบแดด และยังทำหน้าที่ฟอกอากาศอีกทางหนึ่ง รูปทรงของทรีพอดส์ยังคล้ายกับงานศิลปะสมัยใหม่ มีการติดตั้งหลอดไฟประดับภายในลำต้นพลาสติกรีไซเคิล ทำให้ทรีพอดส์ยังทำหน้าที่เครื่องประดับพื้นที่เมืองใหญ่ๆ ได้อีกทางหนึ่ง
ทรีพอดส์ เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของนายมาริโอ กาเซเรส และคริสเทน คาโนนิโค ที่นำเอาขวดน้ำพลาสติกมารีไซเคิล ทำเป็นโครงสร้างต้นไม้ที่มีพุ่มใบด้านบน ซึ่งเป็นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ สองนักออกแบบหวังว่า ต้นทรีพอดส์นี้จะไม่เป็นแค่เครื่องกรองอากาศที่มีดีไซน์สวยหรู แต่ยังเป็นแหล่งพลังงานยั่งยืน รวมทั้งจุดนัดพบของผู้คนในเมือง โดยมันจะสามารถกรองอากาศบริสุทธิ์และให้ร่มเงาให้ทุกคนสามารถนั่งเล่นใต้ร่มเงาของต้นไม้เทียมต้นนี้ได้อย่างสบายใจและเพลิดเพลิน
ซึ่งหากมีการผลิตต้นไม้เทียมกรองอากาศขึ้นมาและใช้ได้ผลจริงในเมืองบอสตันแล้วเชื่อว่า หลายเมืองที่มีปัญหามลพิษในอากาศทั่วโลกคงต้องสนใจแน่ เพราะในเมืองมีหมอกจากมลพิษสูงมาก ต้นไม้จริงๆ จะปลูกและเติบโตได้ยาก และทรีพอดส์ยังเหมาะกับเมืองในทะเลทรายเพราะไม่ต้องอาศัยดินและน้ำ