ข่าว

กทม.สอบพิเศษ12ตึกเก่า50ปีเสี่ยง

กทม.สอบพิเศษ12ตึกเก่า50ปีเสี่ยง

26 มี.ค. 2554

กทม.หวั่นตึกเก่าสร้างก่อนปี 50 กว่า 2,000 แห่งเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว เตรียมดันร่าง พ.ร.บ.แก้ไขอาคารเก่าเสนอกรมโยธาธิการและผังเมืองพิจารณา หวังเข้าปรับปรุงตึกเก่าให้แข็งแรง

เมื่อวันที่ 25 มี.ค.นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่าและทำให้หลายจังหวัดในภาคเหนือ รวมถึง กทม.รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน เมื่อช่วงกลางคืนวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า เบื้องต้นในพื้นที่ กทม.ยังไม่ได้รับรายงานความเสียหายของอาคารต่างๆ ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารสูงบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นใน ที่มีขนาดความสูงตั้งแต่ 30 ชั้นขึ้นไป จำนวน 60 อาคาร ได้แก่ ตึกใบหยก โรงแรมดุสิตธานี ศูนย์การค้ามาบุญครอง รวมถึงอาคารพาณิชย์ในย่านสาทร สีลมและ ถ.วิทยุ เป็นต้น ยังไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด

 นายพรเทพ กล่าวว่า ปกติแล้วหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ตั้งแต่ 5 – 7 ริกเตอร์ขึ้นไป อาคารขนาดสูงจะได้รับอันตรายและเกิดความเสียหายน้อยกว่าอาคารขนาดเล็ก เนื่องจากตามหลักโครงสร้างวิศวกรรมและหลักวิทยาศาสตร์ อาคารขนาดสูงจะมีความยืดหยุ่นในการรับน้ำหนักและแรงสั่นสะเทือนมากกว่า โดยแกนกลางของตึกจะมีการเคลื่อนตัวตามแรงสั่นไหว ในขณะที่ส่วนบนและส่วนล่างอาคารจะไม่เคลื่อนตัว ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2550 ระบุชัดเจนว่าอาคารสูงกว่า 23 เมตร หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ พื้นที่มากกว่า 10,000 ตารางเมตร โครงสร้างของอาคารจะต้องสามารถรับแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากแผ่นดินไหวได้ตั้งแต่ 5 ริกเตอร์ขึ้นไป รวมทั้งตัวอาคารจะต้องมีสิ่งยึดกับกระจกหรือโครงสร้างภายนอก เพื่อป้องกันการปลิวจากแรงลม

 นายพรเทพ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบอาคารเก่าที่มีการก่อสร้างก่อนประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ รวมถึงไม่มีใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร พบว่ามีอาคารที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบหากเกิดแผ่นดินไหว ประมาณ 2,000 แห่ง ซึ่ง กทม.จะส่งเจ้าหน้าที่ประสานกับวิศวกรรมสถานฯ เข้าตรวจสอบอย่างละเอียด พร้อมขอความร่วมมือให้เจ้าของอาคารทำการปรับปรุงโครงสร้างอาคารให้แข็งแรงขึ้น ทั้งนี้ กทม.จะเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การแก้ไขอาคารเก่า โดยจะต้องมีการยึดติดโครงสร้างอาคารให้แข็งแรงและยืดหยุ่น รวมทั้งเพิ่มโครงสร้างอื่นๆ เช่น กระจก ไฟสำรองและทางหนีไฟ เพื่อสามารถเคลื่อนย้ายประชาชนได้หากเกิดกรณีฉุกเฉิน โดยขณะนี้ กทม.ดำเนินการร่างเสร็จแล้วและเตรียมเสนอกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงหมาดไทย (มท.) พิจารณาอนุมัติต่อไป

 นายพรเทพ กล่าวอีกว่า ในส่วนของป้ายโฆษณาที่อยู่บนอาคาร กทม.จะเร่งดำเนินการรื้อป้ายโฆษณาที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าในกรุงเทพฯ มีป้ายโฆษณาประมาณ 1,100 ป้าย โดยในจำนวนนี้มีป้ายบนอาคาร จำนวน 800 ป้าย ซึ่งมีป้ายผิดกฎหมาย 750 ป้าย

 นายจุมพล สำเภาพล ผอ.สำนักการโยธา (สนย.) กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ กทม.เดิมทีไม่ได้เป็นพื้นที่ระวังภัยเหตุแผ่นดินไหว แต่เนื่องจากเหตุการณ์ในช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้านและ กทม.ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งส่วนตัวแล้วยังเชื่อมั่นว่าตึกที่ก่อสร้างใหม่หลังปี 2550 มีการป้องกัน รวมทั้งสร้างให้ตึกมีความยืดหยุ่นต่อภาวะเกิดการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว แต่ยังเป็นห่วงในเรื่องตึกเก่าที่อาจได้รับผลกระทบได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการป้องกันตัวในระหว่างเกิดเหตุแผ่นดินไหว สนย.เตรียมออกรณรงค์ให้ความรู้กับเจ้าของอาคารและประชาชน รวมทั้งจะมีการจัดทำคู่มือระวังภัยแผ่นดินไหวอีกหลายหมื่นเล่มหลังจากที่เคยทำมาในอดีต ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลใหม่ๆ เพื่อจัดทำหนังสือ คาดว่าจะสามารถเริ่มเดินสายให้ความรู้ พร้อมแจกคู่มือในช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้

กทม.สอบพิเศษ12ตึก

 หลังลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาคารออลซีซั่นส์ ถนนวิทยุ นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ กทม.รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ขณะนี้ยังไม่มีรายงานความเสียหาย แต่จะต้องเฝ้าระวังเนื่องในพื้นที่มีอาคารสูงกว่า 15 เมตรขึ้นไป จำนวน 2,718 อาคาร แยกเป็นตั้งอยู่ฝั่งพระนคร 2,448 อาคาร และฝั่งธนบุรี 270 อาคาร

 "จำนวนนี้มี 12 อาคาร ที่ กทม.ต้องตรวจสอบเป็นพิเศษ ได้แก่ อาคารเสริมมิตรทาวเวอร์ สูง 30 ชั้น อาคารชุดเฟิร์สทาวเวอร์ สูง 22 ชั้น ศูนย์การค้ามาบุญครอง สูง 29 ชั้น ออลซีซั่นส์ พร็อพเพอร์ตี้ สูง 53 ชั้น อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ สูง 58 ชั้น อาคารชัยทาวเวอร์ สูง 30 ชั้น อาคารเบญจจินดา สูง 36 ชั้น อาคารชินวัฒน์ 3 สูง 32 ชั้น อาคารไอทาวเวอร์ สูง 32 ชั้น อาคารธนาคารทหารไทย สูง 34 ชั้น อาคารซันทาวเวอร์ 2 หลัง คือ ตึก 40 ชั้น และตึก 34 ชั้น เพราะอาคารดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ใกล้ชุมชน ย่านธุรกิจ และที่สาธารณะ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า อาคารทั้ง 12 แห่ง จะไม่มีความปลอดภัยแต่อย่างใด" นายพรเทพกล่าว

 รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวอีกว่า กทม.ได้ทำหนังสือไปยังเจ้าของอาคารดังกล่าว ให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของตัวอาคาร และวัสดุที่ใช้ว่าเป็นอันตรายต่อประชาชนหรือไม่ถ้าเกิดเหตุ โดยอาคารส่วนใหญ่ได้จดทะเบียนการก่อสร้างอาคารก่อนปี 2550 ซึ่งไม่ได้รองรับในเรื่องของเหตุแผ่นดินไหวเอาไว้ ส่วนที่อาคารที่มีการจดทะเบียนภายหลังปี 2550 อยู่ในข่าย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี 2550 ซึ่งระบุไว้ว่าจะต้องเป็นอาคารที่รองรับแรงสั่นสะเทือนได้ไม่ต่ำกว่า 5 ริกเตอร์

 "เราจะเร่งให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น สำหรับตึกร้าง หรืออาคารร้าง บางพื้นที่ กทม.ยังไม่สามารถเข้าไปปรับปรุงแก้ไขได้ เพราะมีข้อจำกัดในเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร จึงต้องประสานความร่วมมือไปยังสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นหน่วยงานกลางในการประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขต่อไป ส่วนประชาชนที่อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมโทรสายด่วน กทม.1555 เหตุการณ์เมื่อคืนมีคนโทรเข้ามาเยอะมาก โดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยอยู่ในโรงแรม โดยส่วนใหญ่จะถามว่าเขาจะปลอดภัยไหม ซึ่งที่แจ้งมาทาง กทม.ทั้งเขตและสำนักการโยธาก็จะเข้าไปตรวจสอบให้ทั้งหมด” นายพรเทพกล่าว