ข่าว

พม่าแผ่นดินไหว6.7ภาคเหนือสะเทือน

พม่าแผ่นดินไหว6.7ภาคเหนือสะเทือน

25 มี.ค. 2554

ระทึกแผ่นดินไหวชายแดนพม่า 6.7 ริกเตอร์ ตึกสูงภาคเหนือสั่นหนีตายวุ่น กทม.-อีสานรู้สึกด้วย พระธาตุเชียงแสนยอดหัก สาวใหญ่แม่สายโดนกำแพงโค่นทับดับ นักวิชาการชี้เกิดใกล้ไทยมากที่สุด

 สำนักงานสำรวจภูมิศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (ยูเอสจีเอส) รายงานการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ริกเตอร์ ในประเทศพม่า เมื่อเวลา 20.25 น. วันที่ 24 มีนาคม จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ความลึกลงไปใต้พื้นดิน 10 กิโลเมตร ห่างจากนครย่างกุ้ง 589 กิโลเมตร และห่าง จ.เชียงราย 89 กิโลเมตร สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริกเตอร์ ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอยู่น้อย แต่เต็มไปด้วยภูเขาชันที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินถล่ม และยืนยันว่า ไม่มีการเตือนสึนามิในฝั่งทะเล เนื่องจากแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกลจากทะเล

 ขณะเดียวกันมีรายงานว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวสร้างความแตกตื่นให้แก่ชาวพม่าเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบว่า กระแสไฟฟ้าในจังหวัดท่าขี้เหล็กดับทั่วทั้งเมือง เช่นเดียวกับระบบโทรศัพท์พื้นฐานที่ไม่สามารถใช้การได้

ศูนย์กลางพม่า 6.7 ริกเตอร์

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ใน จ.เชียงใหม่ หลายพื้นที่ทั้ง อ.เมือง อ.แม่ริม อ.สันทราย อ.สันกำแพง อ.เชียงดาว และอ.ฝาง รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนประมาณ 1 นาที ส่งผลให้อาคารหลายแห่งสั่นไหว กระจกประตูหน้าต่างเกิดเสียงดัง ประชาชนที่กำลังพักผ่อนในบ้านพักและอาคารสูงต่างตกใจ โดยเฉพาะผู้พักอาศัยในอาคารสูงย่านถนนนิมมานเหมินทื ถนนห้วยแก้ว ต่างพากันวิ่งออกมานอกอาคารกันอย่างแตกตื่น หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงใหม่เร่งสำรวจความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมสั่งการให้หน่วยดับเพลิงกู้ภัยและหน่วยกู้ภัยพิเศษเตรียมพร้อมออกปฏิบัติงานได้ทันที

 ขณะเดียวกัน เครือข่ายวิทยุของหน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.เชียงใหม่หลายแห่ง แจ้งผ่านเครือข่ายว่า "เกิดเหตุแผ่นดินไหวมีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณชายแดนพม่า วัดความแรงได้ถึง 6.7 ริกเตอร์"

 ว่าที่ ร.ต.ชยันต์ อยู่สวัสดิ์ นายอำเภอฝาง กล่าวว่า อ.ฝาง มีพื้นที่ติดชายแดนไทย-พม่า และติดกับ จ.เชียงราย ทำให้รับรู้แรงสั่นสะเทือนนานเกือบ 3 นาที โดยแรงสั่นสะเทือนเริ่มจากแรงแล้วค่อยๆ อ่อนกำลัง เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวบ้านตื่นตกใจเป็นอย่างมาก ทางอำเภอได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจความเสียหายแล้ว

 เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้การสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือติดต่อได้ยากกว่าปกติ เบื้องต้นคาดว่าเสาและระบบส่งสัญญาณอาจเกิดขัดข้องจากแรงสั่นสะเทือน

 นอกจากนี้แรงสั่นสะเทือนยังรู้สึกได้ทั่วภาคเหนือ ทั้ง จ.เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ลำพูน สุโขทัย รวมทั้งตึกสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ ก้รู้สึกได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความแตกตื่นตกใจให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในตึกสูง ที่ต่างพากันวิ่งหลบหนีออกมาจากตัวอาคาร

คนเชียงใหม่ผวาตึกสั่น-หนีวุ่น

 น.ส.จันจิรา จารุศุภวัฒน์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเนชั่น จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เกิดแผ่นดินไหวแรงสั่นสะเทือนประมาณ 3 นาที รับรู้ถึงสั่นสะเทือนได้มาก ขณะเกิดเหตุอยู่ในสำนักงานชั้น 1 ยังรู้สึกได้ ทำให้ค่อนข้างตกใจ ส่วนอาคารที่มีกระจกจะเกิดเสียงดัง หรือผู้ที่อยู่อาคารสูงจะเวียนศีรษะ ผู้ที่อยู่ในคอนโดมิเนียมย่านถนนนิมมานเหมินท์ ต่างวิ่งออกมาอยู่นอกอาคาร แม้แต่ที่ จ.ลำปาง แจ้งว่ารู้สึกได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่เกิดโทรศัพท์ไม่สามารถติดต่อได้ จากการตรวจสอบในหลายพื้นที่ยังไม่พบความเสียหาย

 ด้านนางสุวรรณา เลธัม ชาว ต.สันนาเม็ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะที่เกิดแผ่นดินไหวกำลังนั่งอยู่บริเวณสระว่ายน้ำ ขนาดยาว 12 เมตร มองเห็นว่าน้ำกระเพื่อมแรงมากจนทะลักออกนอกสระน้ำ ซึ่งตอนนั้นตกใจมาก จึงวิ่งเข้าไปหาลูกสาวในบ้าน และออกมาอยู่กันนอกบ้าน เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ตั้งแต่อยู่ที่ จ.เชียงใหม่มาเกือบ 5-6 ปี ไม่เคยรู้สึกถึงความสั่นไหวเท่ากับครั้งนี้

 น.ส.โซไรดา ซาลวาลา เลขานุการมูลนิธิเพื่อนช้าง กล่าวว่า อยู่บนอาคาร ถนนพระราม 9 รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนประมาณ 3 นาที ขณะนั้นกำลังประชุมอยู่ เกิดการสั่นสะเทือน น้ำในแก้วสั่น จากนั้นผู้ที่อยู่บนอาคารได้ออกจากตึกหมด

อาฟเตอร์ช็อกตามมาเป็นระลอก

 ขณะเดียวกันมีรายงานว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว สถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเชียงใหม่ รายงานเพิ่มเติมว่า เกิดอาฟเตอร์ช็อกรู้สึกได้ที่ จ.เชียงใหม่รวม 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเวลา 21.06 น. วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5 ริกเตอร์ เวลา  21.23 น. วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 4.8 ริกเตอร์ และเวลา 22.55 น. วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.5 ริกเตอร์ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่พักอยู่ในโรงแรมหลายแห่งได้ทยอยเช็กเอาท์ โดยเฉพาะแขกที่พักอยู่บนชั้นสูงๆ

กำแพงทับคนแม่สายดับ 1

 ที่ จ.เชียงราย เกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเกือบทุกพื้นที่ของจังหวัด โดยเฉพาะ อ.แม่สาย แม่จัน เชียงแสน แม่ฟ้าหลวง  และอ.เมือง รู้สึกได้อย่างชัดเจนนานประมาณ 10 วินาที และเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกครั้งในเวลา 21.26 น.

 เบื้องต้นเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้ไฟฟ้าใน อ.แม่สาย ดับชั่วคราว สัญญาณโทรศัพท์ขัดข้อง มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 คน คือ นางหงส์ คำปิง อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 19 หมู่ 10 ต. เวียงพางคำ อ.แม่สาย ที่โดนกำแพงล้มทับขณะหลบหนีออกมาจากบ้าน

 จากการสอบสวนทราบว่า ขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ญาติหลายคนในบ้านต่างพากันวิ่งออกจากบ้านอย่างแตกตื่น แต่นางหงษ์เข้านอนก่อน จึงไม่ได้วิ่งตามออกไปด้วย จากนั้นญาติที่วิ่งไปอยู่ที่ลานหน้าบ้านได้ยินเสียงฝาบ้านล้มลงมา จึงพากันวิ่งเข้าไปดู ปรากฏว่านางหงษ์ถูกกำแพงห้องนอนล้มทับเสียชีวิตแล้ว

ขณะเดียวกันสำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตในพื้นที่รัฐฉาน 10 ราย

นักท่องเที่ยวตื่นคืนห้องพัก

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวทำให้บรรดานักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ อ.แม่สาย และเข้าพักยังโรงแรมแถบชายแดน ซึ่งเป็นตึกสูง ต่างพากันตกใจวิ่งหนีออกจากโรงแรมมาหาที่ปลอดภัยอยู่ตามริมถนน หลังเหตุแผ่นดินไหวสงบพบว่านักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างพากันคืนห้องพักและขึ้นรถบัสออกจาก อ.แม่สาย บรรยากาศในเขตพื้นที่ อ.แม่สาย พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ต่างแตกตื่นและพากันออกมาอยู่นอกตัวอาคารบ้าน หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเจอแผ่นดินไหวที่รุนแรงขนาดนี้

 ขณะเดียวกันที่บริเวณหอระฆังบนพระธาตุวัดดอยเวาเกิดแตกร้าว ซึ่งเทศบาลตำบลแม่สายได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจความเสียหายเบื้องต้นแล้ว และยังเกิดเหตุอาฟเตอร์ช็อกตามมาเรื่อยๆ

ช็อกพระธาตุเชียงแสนยอดหัก

 นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับการประสานงานจากนายสมชัย หัตยตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวถึงความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหว เบื้องต้นพบว่าพระธาตุเชียงแสนยอดหัก พระธาตุจอมกิตติยอดเอียง บ้านเรือนประชาชนมีฝ้าหล่นลงมาหลายหลังคาเรือน โดยหลังเกิดเหตุยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง ขณะที่โทรศัพท์ในพื้นที่ไม่สามารถใช้การได้ เจ้าหน้าที่ต้องติดต่อทางวิทยุ อย่างไรก็ตาม ปภ.จังหวัดจะลงพื้นที่เพื่อเร่งสำรวจความเสียหาย

สะเทือนถึง กทม.-อีสาน

 นายบุรินทร์ เวชบันเทิง ผู้อำนวยการส่วนเฝ้าระวังแผ่นดินไหวและสึนามิ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า เกิดแผ่นดินไหวขึ้นเมื่อเวลา 20.55 น. ความรุนแรงวัดได้ที่ 6.7 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ในประเทศพม่า ห่างจาก จ.เชียงราย 56 กิโลเมตร คาดว่าจะมีความเสียหายขึ้นใน จ.เชียงราย และหลายจังหวัดในภาคเหนือรู้สึกได้ รวมถึงอาคารสูงในกรุงเทพฯ ก็รู้สึกได้ถึงความสั่นไหว หลังจากนั้นเกิดอาฟเตอร์ช็อก ความแรงประมาณ 5 ริกเตอร์

 "แผ่นดินไหวครั้งนี้มีอาฟเตอร์ช็อก 1 ครั้ง 5 ริกเตอร์ ความรู้สึกสั่นไหวถึงภาคอีสานด้วย รวมถึงผู้ที่อยู่ในอาคารสูง เหตุครั้งนี้ไม่มีสัญญาณเตือนว่าจะเกิดในพื้นที่ดังกล่าว ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ยังไม่ได้รับรายงานเข้ามา แต่แผ่นดินไหวขนาดนี้ปกติจะทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน วัด ที่อยู่ตามแนวชายแดน ส่วนจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมากี่ครั้งนั้น ไม่สามารถจะบอกได้ แต่แรงสั่นสะเทือนจะน้อยลง" นายบุรินทร์กล่าว

แจ้งระวังภัยว่อนเน็ต

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวมีการแจ้งข่าวกันทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้งเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์กันจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และแพร่ บอกว่ารู้สึกตื่นตกใจมาก เพราะไม่เคยพบแผ่นดินไหวที่รุนแรงเช่นนี้มาก่อน โดยรวมเวลาที่สั่นสะเทือนเกือบ 1 นาที นอกจากนี้ยังมีการแจ้งความเสียว่า หอพักที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ร้าวด้วย

 ส่วนในทวิตเตอร์ มีผู้ทวิตระบุว่า รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน เช่น ผู้ที่ทำงานในตึกแกรมมี่ชั้น 37 โคมไฟโยก มู่ลี่โยก ยืนขึ้นก็มึนๆ ที่ จ.นนทบุรี ผู้ที่อยู่ที่ตึก รพ.นนทเวช ชั้น 16 รับรู้ถึงแรงสั่น รวมทั้งที่ รพ.บำรุงราษฎร์ชั้น 11 ส่วนผู้ที่อยู่ชั้น 10 ตึกมาลีนนท์ ช่อง 3 ไฟห้อยบนตึกโยกอย่างแรง เห็นได้ชัดถึงการสั่นไหว และรู้สึกปวดหัวมาก รวมถึงผู้ที่อยู่คอนโดริมเจ้าพระยา ต้องอพยพลงมาชั้นล่างเพื่อความปลอดภัย ขณะที่ห้องส่งทีวีไทยพบโคมไฟโยกอย่างเห็นได้ชัด

เผยใกล้ไทยกว่าทุกครั้ง

 ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ระบุถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดว่า บริเวณจุดที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่ระหว่างรอยต่อของประเทศพม่า ไทย และลาว ซึ่งบริเวณดังกล่าวเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่หลายครั้ง มีจุดศูนย์กลางค่อนมาทางใต้ใกล้กับประเทศไทยกว่าทุกครั้ง ซึ่งห่างจาก จ.เชียงราย เพียงแค่ 89 กิโลเมตรเท่านั้น ถือว่าเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรง อาจสร้างผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว คาดว่าน่าจะอยู่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ส่วนความเสียหายจะมากน้อยเพียงใดต้องตรวจสอบในพื้นที่

 "แผ่นดินไหวครั้งนี้น่าจะปล่อยคลื่นความถี่ต่ำออกมามาก จึงทำให้หลายพื้นที่ทั้งใน จ.เชียงราย เชียงใหม่ ตลอดจนตึกสูงในกรุงเทพฯ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่บริเวณพรมแดนไทย พม่า ลาว ซึ่งบริเวณนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ หลายครั้ง ในส่วนของประเทศไทยน่าจะอยู่ในระยะที่ไม่น่าจะเป็นอันตราย แต่ถ้าเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่บริเวณพรมแดนที่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอาจได้ผลความเสียหายได้" ดร.เป็นหนึ่งระบุ

คาดเกิดจากรอยเลื่อนแม่จัน

 รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คิดว่าความรุนแรงที่วัดได้ยังไม่นิ่ง คล้ายกับที่เกิดที่ญี่ปุ่น อาจจะเป็นรอยเลื่อนแม่จัน เหนือสุดของเชียงแสน เวียงหนองล่มที่เคยเกิดในศิลาจารึก ที่เรียกว่าโยนกน่านนคร ที่คนทั้งเมืองล่มสลาย เมื่อประมาณพันปีที่แล้วก่อนสมัยสุโขทัย ซึ่งนักธรณีวิทยาคิดว่าน่าจะเป็นอิทธิพลของการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนแม่จัน

 ส่วนเหตุที่ญี่ปุ่น เกิดจากรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกที่ปลดปล่อยพลังงาน ซึ่งไทยความรุนแรงไม่เท่าญี่ปุ่นและไม่เกิดวงแหวนแห่งไฟ ความรุนแรง 6.8 ริกเตอร์ หากมีอาฟเตอร์ช็อกก็ไม่รุนแรงและไม่น่าจะเท่ากับญี่ปุ่น จุดที่ห่วงคือ ภาคเหนือ มีเจดีย์ สถูป ซึ่งเป็นจุดที่ก่อสร้างนานแล้ว ไม่ทราบว่าจะมีจุดรองรับแผ่นดินไหวหรือไม่ เพราะบางเจดีย์มีความเอนไปจากที่ควรจะเป็น

อาฟเตอร์ช็อกนับสิบครั้ง

 นางพรทิพย์ ปั่นเจริญ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ใกล้รอยเลื่อนน้ำทา รอยเลื่อนที่ห่างไปทางใต้ของประเทศเวียดนาม ยืนยันขนาดความรุนแรง 7 ริกเตอร์ อยู่ในระดับความลึกจากพื้นที่ 10 กิโลเมตร ขณะนี้กำลังเฝ้าระวังการเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมา อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้หลายจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคอีสาน อย่าง จ.ขอนแก่น รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว จนถึงขณะนี้เกิดอาฟเตอร์ช็อกในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย แล้วกว่า 10 ครั้ง

กฟผ.ยันไม่กระทบเขื่อนในไทย

 นายวีรชัย ไชยสระแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโยธา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทั่วประเทศ กล่าวว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ติดตั้งทุกเขื่อน พบว่าไม่มีแรงกระทำมาถึงตัวเขื่อน เนื่องจากอยู่ไกลจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากเขื่อนศรีนครินทร์ประมาณ 725 กิโลเมตร ห่างจากเขื่อนภูมิพลประมาณ 428 กิโลเมตร และห่างจากเขื่อนสิริกิติ์ประมาณ 352 กิโลเมตร ขอให้วางใจว่า ทุกเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่าง สำหรับประชาชนที่ห่วงความปลอดภัยของเขื่อนศรีนครินทร์ หากต้องการเห็นสภาพเขื่อนศรีนครินทร์ในปัจจุบัน สามารถเข้าชมจากกล้องซีซีทีวีได้ที่ <http://cctvsnr.egat.com/>

นายกฯเกาะติด-บุญจงเลื่อนไฟลท์

 วันเดียวกัน เมื่อเวลา 22.35 น. นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กำลังเกาะติดเหตุแผ่นดินไหว โดยมีหน่วยงานที่เชียงใหม่รายงานให้ทราบเป็นระยะ

 ทั้งนี้มีรายงานว่า นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีกำหนดเดินทางมาร่วมประชุมและมอบนโยบายหน่วยงานในสังกัดที่ จ.เชียงใหม่ ได้ยกเลิกกำหนดเดินทางมายังท่าอากาศยานเชียงใหม่ในเวลา 22.40 น. อย่างกะทันหัน