
ส่งสัญญาณปล่อย3สินค้าขึ้นราคา"น้ำมันถั่วเหลือง-ปุ๋ย-นม"วางเงื่อนต้นทุนลดต้องลง
พาณิชย์เปิดไฟเขียว 3 สินค้าปรับขึ้นราคา "น้ำมันถั่วเหลือง-ปุ๋ย-นมกล่อง" รอคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาฟันธง พร้อมเรียกทำความเข้าใจและเซ็นเอ็มโอยูวางเงื่อนไขต้องลดราคาหากต้นทุนปรับลง
นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในคงไม่มีความจำเป็นต้องเชิญผู้ประกอบการสินค้ามาหารือ หลังจากสิ้นสุดมาตรการขอความร่วมมือในวันที่ 31 มีนาคม 2554 เนื่องจากกรมมีการติดตามดูแลราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคในทุกกลุ่มสินค้าอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว และรายการสินค้าที่ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นได้ ก็ทำเรื่องขอปรับราคาสินค้ามายังกรมเรียบร้อยแล้ว
โดยขณะนี้คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาสินค้าในแต่ละรายการสินค้าอยู่ระหว่างการพิจารณาต้นทุนสินค้าที่ยื่นขอปรับราคามายังกรมการค้าภายใน โดยเฉพาะ 3 รายการหลัก ได้แก่ ปุ๋ยเคมี น้ำมันถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์นมสด ซึ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความผันผวนของราคาในตลาดโลก ซึ่งคาดว่าคณะอนุกรรมการแต่ละชุดจะพิจารณาแล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เพื่อนำเสนอต่อนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้พิจารณาต่อไป
"สินค้าที่กรมจะอนุมัติให้ปรับขึ้นราคา จะเป็นการปรับขึ้นที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น ปุ๋ยเคมี นมสด ส่วนน้ำมันถั่วเหลือง ที่ขอปรับราคาขวดขนาด 1 ลิตร ในอัตรา 19 บาทจากขวดละ 46 บาท เป็นขวดละ 65 บาท ถือเป็นตัวเลขที่กรมการค้าภายในรับไม่ได้ และเป็นการปรับขึ้นค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงต้องพิจารณาต้นทุนแท้จริงของน้ำมันถั่วเหลืองก่อน ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ชัดเจนว่าจะขึ้นกี่บาท" นางวัชรีกล่าว
นอกจากนี้ ในส่วนของปุ๋ยเคมีก็มีหลายชนิด หลายสูตร คาดว่าจะให้มีการปรับขึ้นเฉลี่ยอย่างน้อยตันละ 4-10% ขณะที่ผลิตภัณฑ์นมสด หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ปรับขึ้นน้ำนมดิบในราคา 1 บาทต่อกิโลกรัม ก็จะพิจารณาให้นมสดบรรจุกล่องปรับขึ้นตามต้นทุน แต่เป็นสัดส่วนเท่าไรนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด
อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายในจะเชิญสินค้าที่จะให้ปรับขึ้นราคามาประชุมหารือ เพื่อทำความเข้าใจแม้จะมีการอนุมัติให้ปรับขึ้น เน้นให้ปรับตามต้นทุนที่แท้จริง และเมื่อปรับราคาขึ้นแล้ว จะต้องมีปริมาณสินค้าเพียงพอในตลาด ไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนเหมือนกรณีของน้ำมันปาล์ม และกลุ่มสินค้าที่ปรับขึ้นราคาจะต้องมาลงนามในสัญญาความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู เมื่อต้นทุนวัตถุดิบในตลาดโลกปรับลดลง ก็จะต้องปรับราคาสินค้าลงทันทีเช่นกัน เพื่อไม่ให้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
ด้านนายอนุกูล แต้มประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า กล่าวว่า เท่าที่มีการสำรวจน้ำมันปาล์ม ขณะนี้สถานการณ์เริ่มกลับมาเป็นปกติ แต่ยอมรับว่าบางพื้นที่อาจจะซื้อหาน้ำมันปาล์มยังไม่เต็มที่ แต่เชื่อมั่นว่า ปริมาณที่นำเข้ามา 3 หมื่นตัน และผลผลิตภายในประเทศกำลังออกสู่ตลาด น่าจะทำให้น้ำมันปาล์มมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการได้ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป