ข่าว

"รอยอดีต" ที่ไม่อยากจำ

"รอยอดีต" ที่ไม่อยากจำ

04 มี.ค. 2554

มุมมองประวัติศาสตร์ต่างกัน กรณีปราสาทพระวิหาร และชายแดนไทย-กัมพูชา ยังเป็นเรื่องวิวาทะระหว่าง "ชาตินิยม" กับ "โลกไร้พรมแดน"

 สำหรับผมแล้ว ยังให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์คำบอกเล่าของชาวบ้าน ซึ่งทีมงานข่าวของ "เอฟเอ็มทีวี" ได้ลงพื้นที่สืบค้นความจริงจากชายแดน

 เช้าวันหนึ่ง ทีมงานเอฟเอ็มทีวีเดินทางไปที่ "บ้านแปดอุ้ม" ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี

 หมู่บ้านแห่งนี้อยู่ติดเขตอุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย ซึ่งพื้นที่อุทยานฯ อยู่ในท้องที่ อ.บุณฑริก อ.นาจะหลวย และอ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี มีอาณาเขตติดต่อกับลาวและกัมพูชา

 ในยุคสงครามแย่งประชาชน บ้านแปดอุ้มตกเป็นเหยื่อของ "ทฤษฎีบังคับปฏิวัติแบบเขมรแดง" เมื่อปี 2521-2522

 "เขาบอกไปเดชอุดม ก็วิ่งตามผู้ใหญ่ไป" หญิงวัยกลางคนเล่า และเวลานั้นเธอยังเป็นเด็ก ไม่รู้ประสีประสาอะไร นึกว่าจะพวกคนถือปืนจะพาไป อ.เดชอุดม  

 คนบ้านแปดอุ้มไม่คิดไม่ฝันหรอกว่าพวกเขาจะถูกทหารเขมรแดงกับทหารคอมมิวนิสต์ไทยกวาดต้อนออกจากหมู่บ้าน เดินข้ามเขาเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านร้างของชาวเขมร ในพื้นที่ อ.จอมกระสาน จ.พระวิหาร

 ก่อนหน้านี้ เรื่องเล่าของคนบ้านแปดอุ้มมีการบันทึกไว้ในหนังสือ "ศึกลำโดมเลือด" โดย คงเจตน์ พร้อมนำพล หรือ "สหายทิว" อดีตผู้ปฏิบัติงาน พคท.อีสานใต้ เขต 11 (อุบลฯ-ศรีสะเกษ)

 "ชาวบ้านแปดอุ้มดำรงชีพอยู่ด้วยการล่าสัตว์และหาของป่ามาขาย อาทิ หน่อไม้ จับนกขุนทอง และด้วยความสามารถพิเศษในการเดินป่านี้เอง จึงได้รับการดูแลจากหน่วยงาน กอ.รมน.เป็นพิเศษ ที่มอบภารกิจในการหาข่าวคราวความเคลื่อนไหวของพวก "คนป่า” ให้ทางการรับทราบ แลกกับเศษเงินเล็กน้อยที่ได้รับ..."

 ดั่งที่ทราบกัน ชาวคอมมิวนิสต์ไทยได้รับการช่วยเหลือจาก "พรรคพี่น้อง" ทั้งพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง), พรรคประชาชนปฏิวัติลาว (แนวลาวอิสระ) และพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (พรรคคนงานเวียดนาม)

 เมื่อเขมรแดงยึดครองกัมพูชา ก็เปิดทางให้ พคท.อีสานใต้ใช้ "แผ่นดินเขมร" ตลอดแนวชายแดนตั้งแต่อุบลฯ จรดสระแก้ว เป็นโรงเรียนการเมือง-การทหารบ่มเพาะผู้ปฏิบัติงาน ก่อนจะถูกส่งกลับเข้าไปปลุกระดมมวลชนฝั่งไทย

 ต่อมาสหายเขมรแดงเสนอให้ดำเนินการจัดตั้ง "กองทหารรบร่วมไทย-กัมพูชา" ภายใต้ชื่อ “กองพิเศษ” มีภาระหน้าที่บังคับจับเกณฑ์ผู้คนตามเถียงไร่ปลายนาให้เข้าร่วมการปฏิวัติ โดยจัดส่งไปอบรม "หลักสูตรระยะสั้น" ที่แนวหลัง (ดินแดนเขมร) ของแต่ละเขตงาน

 นั่นเป็นการปลุกระดมมวลชนแบบรายย่อย ทหารเขมรแดงเห็นว่า มันยังขยายตัวช้าไป จึงเสนอให้บังคับไปปฏิวัติแบบ "ยกหมู่บ้าน" ซึ่งฝ่าย พคท.เองเรียกยุทธศาสตร์นี้ว่า "ขอเชิญไปร่วมปฏิวัติ" เพื่อความชอบธรรม

 "ดูเหมือนว่า บ้านแปดอุ้มจะกลายมาเป็นเหยื่อถูกเช็กบิลเป็นบ้านแรก ตามทฤษฎีบังคับปฏิวัติแบบเขมรแดง"

 บันทึกของสหายทิวได้ฉายภาพให้เห็น "ประวัติศาสตร์การเมืองไทย" ช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งคนชายแดนเป็น "หนูลองยา" ทฤษฎีปฏิวัติสูตรเขมรแดง

 ชาวบ้านแปดอุ้มหลายคนบอกผ่านเอฟเอ็มทีวีว่า ผ่านการศึกษาวิชาการเมือง ก็มีบางคนที่ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติไทย แต่ส่วนใหญ่เลือกที่จะกลับบ้านเกิด หลังจากทหารเวียดนามยกพลนับแสนยึดกรุงพนมเปญ ไล่เขมรแดงกลับเข้าป่าอีกครั้ง

 "เคยเล่าเรื่องนี้ให้ลูกหลานฟังบ้างมั้ย" นักข่าวภาคสนามของเอฟเอ็มทีวีถามหญิงแม่บ้านแปดอุ้มรายหนึ่ง

 เธอตอบสั้นๆ ว่า "บ่...มันเป็นเรื่องบ่อยากจำ"

 แคน สาริกา