ข่าว

มาร์คไฟเขียวตัดงบพีอาร์ช่วยแรงงานลิเบีย

มาร์คไฟเขียวตัดงบพีอาร์ช่วยแรงงานลิเบีย

02 มี.ค. 2554

รมว.แรงงานเผยงบพีอาร์ 5 ล้านช่วยแรงงานไทยในลิเบียเข้าถึงสิทธิประโยชน์ พร้อมเตรียมตำแหน่งงานว่าง 5,000 ตำแหน่งรองรับ นายกฯไฟเขียวตัดงบพีอาร์หากไม่สมเหตุสมผลก็ตัดได้ แจงครม.แค่อนุมัติหลักการ ก.แรงงาน-เอกชนจับมือเร่งขนแรงงานไทยเต็มที่

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวระบุว่ากระทรวงแรงงานใช้งบช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบีย 344ล้านบาท โดยนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการออกสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุ วงเงิน 5 ล้านบาท นั้น ว่า เป็นงบการประชาสัมพันธ์เบอร์โทรศัพท์ ของกระทรวงแรงงาน ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อให้ญาติได้รับทราบเบอร์โทรศัพท์ช่วยเหลือ จะได้แจ้งข้อมูลและความเดือดร้อนของแรงงานไทยในลิเบียกลับมาที่กระทรวงแรงงาน รวมทั้งใช้เพื่อแจ้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาแล้วด้วย ซึ่งงบนี้เป็นงบฉุกเฉิน ที่ต้องเร่งดำเนินการภายใน 5 วัน  

“งบที่ครม.อนุมัติจำนวน 344 ล้านบาทนั้น เป็นการดำเนินงานของกรมการจัดหางาน ที่เสนอนขอไป แต่ในรายละเอียดตนยังไม่ทราบ เพียงแต่รู้ว่ากรมการจัดหางานต้องการอยากจะประชาสัมพันธ์ให้ญาติพี่น้องของผู้ใช้แรงงานได้รับทราบถึงสิทธิประโยชน์ รวมทั้งต้องการให้คนที่เดือดร้อนได้ติดต่อกับกระทรวงแรงงานโดยตรง เพื่อที่จะดูแลในเรื่องของการหางานให้ทำในเมืองไทย ”

ทั้งนี้ กระทรวงได้จัดเตรียมตำแหน่งงานในภาคก่อสร้างไว้ประมาณ 5,000 อัตราไว้แล้ว อีกทั้งได้ประสานกับประเทศกาตาร์ และไต้หวัน เพื่อจัดหาตำแหน่งงานว่างไว้รองรับในส่วนของแรงงานที่ต้องการจะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ตลอดจนแรงงานที่ต้องการจะกลับไปทำงานลิเบียหลังจากเหตุการณ์สงบแล้ว

กระทั่งการทวงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่แรงงานไทยควรได้รับจากบริษัทนายจ้างหรือบริษัทที่จัดส่งแรงงานไป ซึ่งตนคิดว่าประเด็นเหล่านี้คือหลักใหญ่ๆ ที่กรมการจัดหางานต้องการสื่อไปยังกลุ่มเป้าหมาย ว่าจะต้องทำอย่างไรที่จะประชาสัมพันธ์ให้รับทราบทั่วถึงและรวดเร็ว

เมื่อถามว่างบการประชาสัมพันธ์ 5 ล้านบาทจะมีการเผยแพร่ผ่านสื่อช่องทางใดบ้าง นายเฉลิมชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ตนยังไม่ได้ทราบในรายละเอียด เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เพิ่งเสนอเข้า ครม. และโดยหลักการจริงๆ นั้น ครม.ยังไม่ได้อนุมัติในเม็ดเงินทั้งหมด เป็นเพียงอนุมัติในหลักการว่า ให้สำนักงบไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงแรงงาน ในการที่จะจัดสรรงบประมาณตรงนี้

แม้กระทั่งเงินที่เราขอไป 300 ล้าน เพื่อเป็นเงินชดเชยให้กับแรงงาน ก็เป็นการประมาณการจากตัวเลขแรงงาน 20,000 คน ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าแรงงานกลับมาแค่ 18,000 คน งบประมาณก็จะลดลงตามลำดับอยู่แล้ว

“เรื่องนี้ต้องไปคุยกับทางสำนักงบอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะดำเนินโครงการอะไรก็ต้องคุยกับสำนักงบฯ ซึ่งทางสำนักงบเขาไม่ปล่อยเงินออกมาส่งเดชอยู่แล้ว อะไรที่ไม่สมควร ไม่คุ้มค่า และไม่มีประโยชน์ ผมเชื่อว่าทางสำนักงบเขาไม่ปล่อยแน่นอน ” นายเฉลิมชัย กล่าว

รมว.แรงงาน กล่าวต่อถึงกรณีการใช้เงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ว่า วันนี้เรามีเงินกองทุนฯอยู่ 700 ล้านบาท แต่ต้องดูแลแรงงานประมาณ 5 แสนคน ถ้าเกิดกรณีฉุกเฉินเงินก็จะถูกใช้หมดไป เราก็จะไม่มีเงินมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ละครั้งเวลาเกิดปัญหาแบบนี้ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 30-40 ล้านบาท ในการเตรียมคน อพยพ การส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือ

“ในวันนี้รัฐบาลอนุมัติงบกลางมาให้เป็นเงินชดเชยจะทำให้เงินกองทุนส่วนนี้ยังคงอยู่ ไม่ได้ไปอยู่ในกระเป๋าใคร ทั้งนี้ยืนยันว่าคนที่เป็นสมาชิกกองทุนฯยังไงก็ต้องได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุน แม้รัฐบาลจะไม่อนุมัติงบกลางให้กองทุนฯก็ต้องจ่ายอยู่ดี ทุกคนต้องได้รับเหมือนกันหมด และในส่วนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กองทุนฯเราก็จะดูแลในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย” นายเฉลิมชัย กล่าว

สำหรับยอดการเดินทางกลับประเทศไทยของแรงงานไทยในลิเบียรวม 5 วัน (26 ก.พ.-2 มี.ค.54 )มีแรงงานไทยเดินทางกลับมาแล้ว 1,299 คน ซึ่งในวันนี้เดินทางกลับมาจำนวน 160 คน ในช่วงเช้าที่ผ่านมา และในช่วงบ่ายจะเดินทางกลับมาอีกจำนวน 26 คน ส่วนเครื่องบินเช่าเหมาลำ เพื่อรับแรงงานไทยจำนวน 200 คน ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเช็คเวลาในการเดินทางกลับมาประเทศไทย อย่างไรก็ตามขณะนี้มีแรงงานไทยเดินทางออกจากประเทศลิเบียไปยังที่ปลอดภัยแล้ว 5,742 คน

มาร์คไฟเขียวตัดงบพีอาร์ช่วยแรงงานลิเบีย

 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จริงๆแล้ววันที่นำเรืองเข้ามาพิจารณาในครม.นั้น มติครม.ยังไม่ได้อนุมัติรายละเอียด เป็นการอนุมัติรับทราบกรอบวงเงินซึ่งมีสองส่วน ส่วนแรกคือการอำนวยการความสะดวกในการเดินทางกลับซึ่งเป็นในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ และส่วนที่สองเป็นการดูแลโดยกระทรวงแรงงาน แต่ว่ารายละเอียดทั้งหมดต้องผ่านการกลั่นกรองของสำนักงบประมาณก่อน

 “ก็ไม่ได้อมุนัติตามที่มีการระบุตัวเลขตรงนั้นมาเพราะยังไม่มีเวลาในการกลั่นกรอง ผมยังไม่ทราบเลยครับว่ามีรายการว่าอย่างนี้ เพราะเราบอกว่าให้สำนักงบประมาณให้เข้าไปช่วยดู เพราะการช่วยเหลือมีหลักเกณฑ์ของมันอยู่ แต่ถ้างบนั้นไม่มีความสมเหตุสมผลก็สามารถตัดออกได้ เพราะถ้าไม่มีเหตุผลก็ต้องตัดอยู่แล้ว สำนักงานงบประมาณยุคนี้ผมยืนยันนะครับว่าเข้มข้นพอสมควรในการกลั่นกรอง”นายกฯ กล่าว

 ผู้สื่อข่าวถามว่า ครม.ไม่ได้ผ่านตากับข้อเสนอนี้เลยหรืออย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีรายละเอียด  แต่เราบอกว่าตรงนี้ทางครม.ไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ เราพิจารณาในหลักการว่าความจำเป็นที่จะเข้าไปช่วยคืออะไร แและให้สำนักงบประมาณเป็นผู้กลั่นกรองซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน

ก.แรงงาน-เอกชนจับมือเร่งขนแรงงานไทย

                ขณะที่นายสุธรรม นทีทอง โฆษกกระทรวงแรงงาน ในฐานะหัวหน้าคณะช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบีย เปิดเผยข้ามทวีปเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ว่า ขณะนี้ได้ทยอยอพยพแรงงานไทยในทุกช่องทางออกจากประเทศลิเลียได้แล้วกว่า 5 พันคน โดยคณะทำงานได้แบ่งกำลังเข้าไปช่วยเหลือใน 2 ประเทศที่มีพรหมแดนติดกับประเทศลิเบีย คือทางตูนีเซียและทางอียิปต์ โดยในวันที่ 2 มี.ค.ได้ใช้เรือเช่าเหมาลำอพยพแรงงานไทยจากกรุงทริโปลีไปยังตูนีเซีย 2 เที่ยวรวมแรงงานกว่า 2 พันคน

 อย่างไรก็ตามรู้สึกเป็นห่วงแรงงานไทยในเมืองมิซูราต้าที่ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน พ.อ.โมฮัมมาร์ กัดดาฟีกำลังมีการต่อสู้ปะทะกันอย่างดุเดือด ซึ่งทางสถานทูตไทยประจำกรุงทริโปลีไม่อนุญาตให้มีการเคลื่อนไหวแรงงานและสั่งห้ามไม่ให้ทีมงานเข้าไป เนื่องจากหวั่นเกรงความไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ในส่วนเมืองอื่นๆที่ไม่มีเหตุการณ์การประท้วงเราไม่มีเหตุจำเป็นในการอพยพออกมาและแรงงานไทยก็ยังทำงานได้ตามปกติ พร้อมยืนยันกระทรวงแรงงานกับบริษัทเอกชนได้ร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มที่ในการอพยพแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ และการช่วยเหลือทุกอย่างยังเป็นไปด้วยความปลอดภัย

ขณะที่นายจักรกฤษณ์ สุวรรณสาร ตัวแทนบริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัด ที่ร่วมคณะเดินทางไปช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบีย ยืนยันว่าทางบริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนาฯจะเร่งช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบียออกมาทั้งหมดกว่า 4-5 พันคนโดยทางบริษัทไปผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด โดยวันที่ 3 มี.ค.ได้เช่าเครื่องบินเหมาลำ 4 เที่ยวบิน เพื่อนำแรงงานไทยของบริษัทกว่า 1,500 คนเดินทางกลับถึงประเทศไทย พร้อมยืนยันจะให้การสนับสนุนกระทรวงแรงงานอย่างเต็มที่และอยู่ช่วยเหลือแรงงานไทยทุกคนให้ได้รับความปลอดภัยอย่างดีที่สุด  

แกนนำฝ่ายต่อต้านกัดดาฟี่อยากให้ตะวันตกช่วย

บรรดาแกนนำฝ่ายต่อต้านพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี่ ของลิเบีย กำลังหารือกันอย่างเคร่งเครียดกันถึงความเป็นไปได้ที่ต้องอาศัยการแทรงแซงทางทหารจากนานาชาติ โดยเฉพาะการใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ

หนังสือพิมพ์นิวยอร์ค ไทม์ส และวอชิงตัน โพสต์ ต่างรายงานจากที่มั่นของฝ่ายต่อต้านในเมืองเบนกาซี ที่มั่นสำคัญของฝ่ายต่อต้านในพื้นที่ทางตะวันออกว่า ฝ่ายต่อต้านต้องการให้นานาชาติเข้าแทรกแซงด้านการส่งกำลังบำรุง , การกำหนดเขตห้ามบิน หรือไม่ก็โจมตีทางอากาศต่อฐานทัพอากาศ และศูนย์กลางการคมนาคม รวมถึงควบคุมพื้นที่ชายฝั่งด้วย

การหยิบยกประเด็นการแทรกแซงของนานาชาติ ขึ้นมาหารือกันในครั้งนี้ ได้สะท้อนถึงความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้นของบรรดาแกนนำฝ่ายต่อต้าน ที่พันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี่ ยังคงกุมอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น และยังยืนกรานต่อผู้สื่อข่าวต่างชาติด้วยว่า ไม่มีฝ่ายต่อต้าน มีแต่ประชาชนที่รักเขา
 
ฝ่ายต่อต้าน บอกว่า พันเอกกัดดาฟี่ ทำลายกองทัพ มีเครื่องบินเหลือแค่ 2-3 เท่านั้น ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคง ที่ออกมาเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ ไม่ได้รวมถึงการไฟเขียวให้ใช้กำลังทางทหารด้วย นางฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศ ได้เตือนว่า ลิเบียอาจเข้าสู่สงครามกลางเมือง เมื่อฝ่ายต่อต้านก็ลงมือกันเองในนามของประชาชนชาวลิเบีย ที่ไม่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากกองกำลังภายนอก

ผู้สื่อข่าว CNN รายงานว่า แกนนำฝ่ายต่อต้านต้องการโค่นอำนาจพันเอกกัดดาฟี่ ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยต่างชาติ แต่ต้องการให้สหประชาชาติสนับสนุนด้วยการกำหนดเขตห้ามบิน ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางทหารของสหรัฐ ระบุว่า ไม่มีการตัดสินใจเลือกใช้ปฏิบัติการทางทหาร และการใช้กำลังใด ๆ มักจะเต็มไปด้วยความซับซ้อน ทั้งยังจำเป็นต้องได้รับฉันทามติจากประชาคมนานาชาติด้วย

พลเอกเจมส์ แมททิส ผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการกลาง แถลงต่อสภาคองเกรสส์ว่า หนึ่งในทางเลือกที่กำลังตัดสินใจกัน ก็คือ เรื่องการกำหนดเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้าลิเบีย ที่จำเป็นต้องมีการทำลายระบบต่อต้านอากาศยานของลิเบียด้วย เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะไปบังคับไม่ให้ประเทศหนึ่งประเทศใดใช้เครื่องบิน

ยูเอ็นวอนทั่วโลกร่วมจัดการอพยพทางมนุษยธรรมครั้งใหญ่เพื่อช่วยคนที่ติดอยู่ในลิเบีย
ข่าวต่างประเทศ 2 มีนาคม 2554

ยูเอ็นวอนทั่วโลกร่วมจัดการอพยพคนที่ติดอยู่ในลิเบีย

เลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุนเปิดเผยว่า ชีวิตประชาชนหลายพันคน ตามแนวพรมแดนของลิเบียกับตูนิเซียกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง และสิ่งจำเป็นเร่งด่วนขณะนี้คืออาหาร น้ำ สุขอนามัยและที่พัก รวมถึงความพยายามในการนำผู้อพยพเหล่านี้กลับประเทศ พร้อมว่า จนถึงขณะนี้มีคนเสียชีวิตจากเหตุรุนแรงในลิเบียแล้วราว 1 พันคน

ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือ UNHCR และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นหรือ IOM เรียกร้องให้รัฐบาลชาติต่างๆ ร่วมมือในการอพยพทางมนุษยธรรมครั้งใหญ่อย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชนหลายแสนคนทั้งชาวอียิปต์ และจากประเทศอื่นๆ เช่นเวียดนาม อินเดีย ตุรกี ตูนิเซีย จีนและไทยเนื่องจากสถานการณ์ตามพรมแดนเลวร้ายลงทุกชั่วโมง โดยหน่วยงานของสหประชาชาติทั้งสองแห่งนี้ ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนด้านการเงินและโลจิสติกส์ รวมถึงเครื่องบิน เรือและผู้เชี่ยวชาญ 
 
นับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ มีประชาชนอพยพจากลิเบียกว่า 1 แสน 4 หมื่นคนแล้ว ในจำนวนนี้ อพยพจากลิเบียข้ามพรมแดนตูนิเซียกว่า 7 หมื่น 5 พันคนแล้ว และอีกกว่า 7 หมื่นคนอพยพข้ามพรมแดนอียิปต์

ด้านเอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ นรชิต สิงหเสนีบอกกับที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติว่า มีแรงงานและนักเรียนไทยในลิเบียราว 2 หมื่น 5 พันคน ในจำนวนนี้ 2 พันคนได้อพยพทางเรือเช่าเหมาลำออกจากลิเบียเมื่อวันจันทร์ พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมโลกและหน่วยงานยูเอ็น ไม่เพียงแต่ให้ความใส่ใจกับสถานการณ์ในลิเบีย แต่ควรให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างชาติด้วย 

สถานการณ์ในลิเบีย ยังมีการปะทะกันของกลุ่มต่อต้านและสนับสนุนผู้นำลิเบีย พันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี กลุ่มผู้ประท้วงสามารถควบคุมพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศไว้ได้
ขณะที่กลุ่มรัฐบาลพยายามจะรักษาฐานที่มั่นทางตะวันตก และยึดพื้นที่บางส่วนทางตะวันตกของประเทศคืนจากกลุ่มผู้ประท้วง