ข่าว

ธาริตส่งDSIตรวจโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มสุราษฎร์

ธาริตส่งDSIตรวจโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มสุราษฎร์

21 ก.พ. 2554

"ธาริต"ส่งดีเอสไอตรวจ 3 โรงงานผลิตน้ำมันปาล์มใน จ.สุราษฎร์ หลังข่าวลือสะพัดเชื่อมโยงรองฯสุเทพ ลั่นตรวจสอบตามข้อเท็จจริง ไม่ละเว้นหรือเลือกปฏิบัติ ส.ว.พัทลุงกระทุ้งรัฐแก้ปัญหาปาล์ม แฉนักธุรกิจ รวมหัวนักการเมืองหาประโยชน์บนความเดือดร้อนประชาชน

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผย ว่า ในวันนี้ ( 21 ก.พ.) ตนได้มอบหมายให้พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนกรณีกักตุนน้ำมันปาล์ม ประสานกับเจ้าพนักงานพาณิชย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสนธิกำลังเข้าตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม ในพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ 3 บริษัท คือ บริษัท ปาร์โก้เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท ทักษิณปาล์ม (2521) จำกัด และบริษัท นิว ไบโอ-ดีเซล จำกัด เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าดีเอสไอไม่กล้าตรวจสอบบริษัททั้ง 3 แห่งดังกล่าว ที่มีสายสัมพันธ์กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดังนั้นดีเอสไอจึงเข้าตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส แม้ว่าบริษัททั้ง 3 จะไม่ได้รับการจัดสรรโควตาการผลิตน้ำมันปาล์ม 30,000 ลิตร ที่สั่งนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย แต่จำเป็นต้องตรวจสอบไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ถึงแม้รัฐบาลจะเป็นคนสั่งการให้ดีเอสไอตรวจสอบ หากพบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคนในรัฐบาลทุกอย่างต้องดำเนินการตามขั้นตอน ไม่ได้ละเว้นหรือเลือกปฏิบัติ

 นายธาริต กล่าวอีกว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ ที่นายสุเทพเป็นประธานการประชุม ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ ดีเอสไอจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าสังเกตการณ์ประชุม เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ว่า เหตุใด 10 บริษัท จึงผ่านการคัดเลือกได้รับโควต้าการผลิตน้ำมันปาล์มจำนวน 30,000 ตัน เพราะมีอีกหลายบริษัทที่ประกอบกิจการผลิตน้ำมันปาล์มแต่ไม่ผ่านการคัดเลือก

 นายธาริต กล่าวอีกว่า การตรวจสอบของดีเอสไอจะมองมติของข้อกฎหมาย ว่ากระทำได้หรือไม่ ซึ่งบางครั้งมุมมองอาจแตกต่างจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องปกติ ทำกันมานาน เช่น การแบ่งโควต้าที่ได้รับการจัดสรรไปให้บริษัทอื่น โดยความเป็นจริงผิดกฎหมาย หรือการกีดกันทางการค้าชัดเจน เพราะประเทศไทยมีบริษัท ที่ประกอบกิจการ ผลิตน้ำปาล์มกว่า 30 แห่ง ดังนั้นจึงเกิดคำถามตามมาว่าทำไมต้องเป็น 10 บริษัท และเหตุใดองค์การคลังสินค้า (อคส.) ไม่สามารถจัดซื้อปาล์มได้ด้วยตนเอง จึงต้องนำโควต้ากว่า 30,000 ตัน ไปให้บริษัทเอกชน 10 แห่ง รวมลงทุนนำเงินเพื่อชื้อปาล์มจากต่างประเทศ ทั้งๆที่อคส.เป็นหน่วยงานของรัฐ

ส.ว.พัทลุงกระทุ้งรัฐแก้ปัญหาปาล์ม
 
 ในการประชุมวุฒิสภา นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง ได้ตั้งกระทู้ถามนายกฯเรื่องปัญหาสินค้าราคาแพงและขาดแคลนว่า รัฐบาลประมาทไม่หาทางป้องกันปัญหาแต่เนิ่นๆ ทั้งที่มีสัญญาณเตือนภัยมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ที่เกิดภัยธรรมชาติน้ำท่วม ภาวะเงินเฟ้อ น้ำมันขึ้นราคา การปรับขึ้นค่าแรง รวมถึงสัญญาณวิกฤติภัยธรรมชาติทั่วโลก ที่รัฐบาลควรหาทางรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ท่าทีรัฐบาลไม่ชัดเจนดีพอ ขณะนี้มีสัญญาณค่อนข้างชัดว่ามีนักธุรกิจบางคน กักตุนสินค้า โดยมีนักการเมืองบางคนร่วมกันหากินบนความเดือดร้อนประชาชน ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคอีกร่วม 204 รายการจ่อขยับราคา ตนให้ผู้ปฏิบัติงานส.ว.ไปลงสำรวจตลาดในพัทลุง พบว่าสินค้าทุกตัวปรับราคาขึ้น กลายเป็นยุคข้าวยากหมากแพงซึ่งจะเป็นจุดบ่อนทำลาย หากแก้ไม่ดีจะเป็นความล่มสลายของรัฐบาล ขณะที่สินค้าสำคัญอีกตัวที่ส่อวิกฤติคือน้ำตาล ซึ่งมีสัญญาณจากภัยธรรมชาติที่รัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยใหญ่สุดพื้นที่เกษตรถูกทำลายเกือบหมด ขณะที่อินนีเซียและรัสเซีย ที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลก็ไม่ยอมเพิ่มโควต้า นี่คือความเดือดร้อนของประชาชนทั้งสิ้น จึงอยากถามว่ารัฐบาลจะมรแนวทางจัดการกับคนที่กักตุนสินค้า และนักการเมืองที่เอาเปรียบประชาชนที่กำลังเดือดร้อนแสนสาหัสอย่างไร

 นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ชี้แจงว่า นายกฯมีความเป็นห่วงต่อปัญหาดังกล่าว จึงได้สั่งการ รมว.พาณิชย์ และกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องให้หาทางแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยใช้กระบวนการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด กับคนที่ถือโอกาสกักตุนสินค้า โดยมอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เข้ามาตรวจสอบแล้ว และในวันที่ 22 ก.พ.จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ พ.ศ..เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหา ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ซึ่งมั่นใจว่าปัญหานี้จะได้ข้อยุติโดยเร็ว เรื่อ่งนี้รัฐบาลจะนิ่งนอนใจไม่ได้ ดดยตนจะนำข้อห่วงใยของส.ว.ไปเรียนต่อนายกฯ ซึ่งจะต้องพิสูจน์ว่าการให้ข่าวอักษรย่อ ของบุคคลต่างๆเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงก็มีความผิดสถานเดียวคือไล่ออก ขณะนี้ยังเป็นเพียงข้อกล่าวหาที่ต้องการรอพิสูจน์