ข่าว

นิยายโกหกสู่สงครามหฤโหด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

5 กุมภาพันธ์ 2546 พล.อ.โคลิน พาวเวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ขณะนั้น ได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ว่ามีข้อมูลปฐมภูมิเกี่ยวกับโรงงานอาวุธชีวภาพอิรักที่อยู่บนล้อและราง

อันหมายโรงงานที่ออกแบบมาให้เคลื่อนย้ายได้ง่าย และยากแก่การถูกผู้ตรวจสอบอาวุธของยูเอ็นตรวจจับ โรงงานที่ว่านี้มีสมรรถนะผลิตอาวุธชีวภาพร้ายแรงได้ในปริมาณที่มากพอในเวลาไม่กี่เดือน ไม่ใช่เป็นปีอย่างที่เข้าใจกัน
 
       แหล่งข่าวที่วีรบุรุษสงครามอ่าวเปอร์เซีย นำมาใช้อ้างต่อยูเอ็นเอสซี คือวิศวกรเคมีอิรักในชื่อรหัส "เคิร์ฟบอลล์" ที่เคยดูแลหนึ่งในโรงงานเหล่านั้น และยังเป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ช่างเทคนิค 12 คนตายเพราะถูกสารชีวภาพร้ายแรง เมื่อปี 2541
 
        ฟังแล้วช่างเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือและจับต้องได้ เพราะมาจากคนวงในจริงๆ

          ทว่าในวันนั้น เคิร์ฟบอลล์ ชื่อที่หน่วยข่าวกรองของเยอรมนี (บีเอ็นดี) และของสหรัฐ (ซีไอเอ) เรียกขาน ได้เฝ้าชมการปราศรัยของพล.อ.พาวเวลล์ อยู่ที่แฟลตเล็กๆ ในเมืองแอร์ลังเงน ประเทศเยอรมนีอยู่เช่นกัน พร้อมกับความรู้สึกช็อกสุดขีด นึกไม่ถึงว่าข้อมูลที่ตัวเองบอกกับบีเอ็นดีเมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น ถูกรัฐบาลสายเหยี่ยวของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ยกไปใช้สร้างความชอบธรรมบุกอิรัก บ้านเกิดที่ตัวเองหลบหนีออกมาเมื่อปี 2538 เพราะล้วนแต่เป็นเรื่องที่กุขึ้นมาทั้งเพ  
   
      ราวหนึ่งเดือนเศษ หลังคำปราศรัยที่ตั้งอยู่บนข้อมูลเท็จของชาวอิรักแปรพักตร์คนหนึ่ง สหรัฐอเมริกานำทัพพันธมิตรบุกโค่นอำนาจซัดดัม ฮุสเซน สำเร็จ ตามด้วยการเข่นฆ่าฟาดฟันระหว่างชาวอิรักต่างนิกายต่างศาสนาและเหตุไม่สงบไม่จบสิ้น
 
         8 ปีผ่านไป มีผู้เสียชีวิตราว 1 แสนคนตามตัวเลขขององค์กรอิสระ ขณะที่พล.อ.พาวเวลล์ยอมรับว่าการปราศรัยต่อยูเอ็นเอสซีในวันนั้น เป็นรอยด่างอันน่าเจ็บปวดในชีวิตการทำงาน ส่วนนายโดนัลด์ รัมสเฟลด์ รัฐมนตรีกลาโหมขณะนั้น ยอมรับเช่นกันว่า อิรักไม่มีอาวุธทำลายล้างสูง    

          เคิร์ฟบอลล์ มีชื่อจริงว่า ราฟิด อาห์เหม็ด อัลวาน อัล จานาบี ได้ออกมายอมรับเป็นครั้งแรกผ่านการให้สัมภาษณ์ต่อนสพ.เดอะ การ์เดียน ในอังกฤษ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รถบรรทุกอาวุธชีวภาพและโรงงานลับ เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา เพราะอยากกำจัด ซัดดัม ฮุสเซน   
 
       "ผมอาจผิด หรือถูกก็ได้ พวกเขาให้โอกาสกุเรื่องบางอย่างเพื่อโค่นซัดดัม ผมและลูกชาย รู้สึกภูมิใจที่เราเป็นเหตุผล ทำให้อิรักได้ประชาธิปไตย แต่อย่าลืมว่าพาวเวลล์ไม่ได้บอกว่า ผมเป็นเหตุผลเดียวของสงครามนี้ พาวเวลล์พูดสามเรื่อง คือ ยูเรเนียม อัล-ไกดา และเรื่องของผม ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมแหล่งข่าวสำหรับสองเรื่องแรก ถึงไม่มี แต่พูดชื่อผมออกมา"

       การ์เดียนระบุว่า การให้สัมภาษณ์ของจานาบี อาจมาจากหลายเหตุผล ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความรู้สึกผิดชอบ หรือพยายามให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่ทำลงไป หรือเพื่อพยายามกอบกู้ชื่อเสียงของตัวเองกลับคืน หากสำเร็จ อาจทำให้เขากลับไปเริ่มต้นชีวิตได้อีกครั้งในบ้านเกิด
  
    หลังซัดดัม ฮุสเซนล่มสลาย มีความพยายามค้นหาตัวตนของเคิร์ฟบอลล์ ในที่สุด นักข่าวก็แกะรอยจนถึงที่อยู่ในปัจจุบันคือ ที่เมืองคาร์ลสรูห์ ติดกับชายแดนฝรั่งเศส เมื่อปลายปี 2550 แต่จานาบีต้องพยายามเก็บตัวเงียบตามคำสั่งของบีเอ็นดี อย่างไรก็ดี จานาบีเคยให้สัมภาษณ์ต่อซีเอ็นเอ็นในปีเดียวกันว่า ตนเองถูกบีเอ็นดีจัดฉากให้เป็นแหล่งข่าวในสุนทรพจน์ของพาวเวลล์

        จานาบีย้ำว่า ไม่ได้เป็นนักฉวยโอกาส แต่งเรื่องอาวุธชีวภาพอิรักขึ้นมาเพื่อขอลี้ภัยในเยอรมนีตามที่เคยมีเจ้าหน้าที่บางคนอ้าง เพราะตนได้รับอนุญาตลี้ภัยตั้งแต่ 13 มีนาคม 2543 หลังไปถึงเยอรมนีไม่ถึง 6 เดือน และเมื่อได้ลี้ภัยราว 3 สัปดาห์แล้ว ถึงได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธทำลายล้างสูงเยอรมนีนามว่า ดร.พอล ติดต่อไปหา เพราะสนใจประวัติของจานาบีที่ระบุว่าเคยเป็นวิศวกรเคมีในอิรัก และอยากช่วยเหลืออิรักที่มีผู้นำเผด็จการ

       นาทีนั้นเองที่จานาบีเกิดความคิดว่า โอกาสมาถึงแล้ว ปล่อยจินตนาการให้โลดแล่น เล่าเป็นฉากๆ ให้ดร.พอลฟังว่าระบอบซัดดัมมีอาวุธชีวภาพชั่วร้ายอย่างไรบ้าง

        จานาบีเข้าใจว่าเรื่องทุกอย่างคงจบสิ้นในปีนั้น เพราะเจ้าหน้าที่ของบีเอ็นดี ได้เดินทางไปยังดูไบ เพื่อสัมภาษณ์ ดร.บาซิล ลาติฟ อดีตเจ้านายของตนที่ทำงานในเขตอุตสาหกรรมทหารอิรัก ดร.ลาติฟยืนยันว่า เรื่องที่อดีตลูกน้องเล่าให้ฟัง อย่างโรงงานอาวุธชีวภาพเคลื่อนที่นั้น ไม่มีอยู่จริง โดย ณ เวลานั้น มีเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอังกฤษ ร่วมฟังอยู่ด้วย

         เจ้าหน้าที่บีเอ็นดีไม่ได้สนใจพูดคุยกับจานาบีอีกเลยนับจากนั้น กระทั่งสองปีต่อมาจึงได้รับการติดต่ออีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการตั้งถามคำถามอื่นๆ เช่น สัญลักษณ์ต่างๆ ชื่อของสถานที่  รู้จักคนคนนี้หรือไม่ บีเอ็นดีพูดเป็นนัยด้วยว่าหากไม่ให้ความร่วมมือ ภรรยาของตนที่กำลังตั้งครรภ์เวลานั้น และพยายามขออพยพจากสเปนไปอยู่เยอรมนี อาจมีปัญหาได้
 
        ตลอดการพบปะซักถามราวๆ 12 ครั้งในปี 2545 ไม่มีการซักถามเรื่องโรงงานที่จานาบีอ้างว่าเป็นที่ตั้งโครงการอาวุธชีวภาพอีกเลย เพราะอีกฝ่ายน่าจะรู้แล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริง

         แต่แล้วในเดือนมกราคม 2546 ไม่กี่สัปดาห์ก่อนพล.อ.พาวเวลล์ปราศรัยที่ยูเอ็น การซักถามกลับมาที่เรื่องโรงงานอาวุธชีวภาพเคลื่อนที่อีกครั้ง ตอนนั้น จานาบีเริ่มรู้สึกแล้วว่าสงครามเริ่มใกล้เข้ามา แต่ยังคิดว่าจินตนาการเรื่องโรงงานอาวุธเคลื่อนที่ของตัวเอง คงไม่เกี่ยวข้อง ประกอบกับบีเอ็นดีรับปากกว่า สิ่งที่ตนเล่าให้ฟังจะอยู่ที่เยอรมนีเท่านั้น จึงรู้สึกช็อกมากเมื่อได้ฟังพล.อ.พาวเวลล์นำเสนอข้อมูลต่อประชาคมโลก ที่มาจากเรื่องโกหกของตัวเอง

         เมื่อโทรศัพท์ไปถามเจ้าหน้าที่บีเอ็นดีที่ติดต่อกันตลอด กลับได้รับแจ้งว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ก่อนสั่งให้จานาบีย้ายไปอยู่โรงแรมแห่งหนึ่ง เพราะเวลานี้ไม่ปลอดภัย จะให้กลับบ้านอีกที 9 เมษายน สองเดือนนับจากนั้น จานาบีตกอยู่ในสภาพเหมืองถูกกักบริเวณ ถูกห้ามดูทีวี และจำกัดการติดต่อกับโลกภายนอก แต่ก็ได้รู้ว่าสงครามอิรักได้เริ่มขึ้นแล้วจากการแอบถามคนแปลกหน้า

        คำถามที่หลายคนอยากรู้คือว่า รู้สึกเสียใจกับสงครามที่คร่าชีวิตเพื่อนร่วมชาติไปนับแสนคน เคิร์ฟบอลล์แสดงอาการอึดอัด ก่อนตอบว่า รู้สึกเศร้าใจมาก แต่ทุกสงครามมีคนตาย เสรีภาพมีราคาที่ต้องจ่าย แต่ไม่มีทางไหนอีกแล้วที่จะโค่นซัดดัม ฮุสเซน ลงได้

บายไลน์ อุไรวรรณ นอร์มา
ที่มา : เดอะ การ์เดียน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ