ข่าว

เตือนสินค้าข้าวไทยไปญี่ปุ่นรับมือมองใช้ก.ม.สอบย้อนกลับเป็นกลยุทธ์ป้องประโยชน์

เตือนสินค้าข้าวไทยไปญี่ปุ่นรับมือมองใช้ก.ม.สอบย้อนกลับเป็นกลยุทธ์ป้องประโยชน์

17 ก.พ. 2554

สถาบันอาหารเตือนผู้ส่งออกสินค้าข้าวไทย เตรียมข้อมูลแสดงที่มาสินค้า หลังญี่ปุ่นประกาศใช้กฎหมายตรวจสอบย้อนกลับสินค้าในประเทศ มองแม้ไม่กระทบมาก แต่เป็นการแบ่งชัดให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้า

 นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า การที่ประเทศญี่ปุ่นประกาศใช้กฎหมายตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) สินค้าข้าว และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวที่ผลิตภายในประเทศนั้น ในส่วนผู้ประกอบการไทยอาจไม่จำเป็นต้องปรับตัวมากนัก เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมิได้ครอบคลุมไปถึงสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ผู้ประกอบการไทยจะต้องมีการจัดเตรียมข้อมูลประกอบสินค้าว่าเป็นสินค้าที่มาจากประเทศไทย เพื่อเสนอให้แก่บริษัทนำเข้าหรือผู้ประกอบการของญี่ปุ่นในกรณีที่ถูกร้องขอ

 "เชื่อว่าการที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวนี้กับสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วยนั้น อาจเป็นเพราะต้องการสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่สินค้าข้าวที่ผลิตในญี่ปุ่นเท่านั้น เพื่อความได้เปรียบทางการตลาด ขณะเดียวกันก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรชาวญี่ปุ่นให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม และเพื่อส่งเสริมให้ชาวญี่ปุ่นหันมาบริโภคข้าวที่เพาะปลูกและเป็นผลผลิตภายในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เพราะข้าวเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวและส่งผลทางการเมืองต่อรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างสูง" นายอมรกล่าว

 ทั้งนี้ จะเห็นได้จากที่ผ่านมาญี่ปุ่นกำหนดให้การนำเข้าข้าวเป็นระบบโควตาภาษีโดยกำหนดโควตานำเข้าข้าวไว้ปีละ 1 ล้านตัน ซึ่งหากผู้ส่งออกส่งสินค้าข้าวเข้าญี่ปุ่นภายใต้โควตาจะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากส่งสินค้าข้าวเข้าญี่ปุ่นนอกโควตาต้องเสียภาษีในอัตรา 341 เยนต่อกิโลกรัม อีกทั้งการบังคับให้มีการแสดงข้อมูลแหล่งเพาะปลูกข้าวและแหล่งผลิตในประเทศญี่ปุ่นบนฉลากสินค้าและในเมนูอาหารที่จำหน่ายตามร้านอาหารและภัตตาคารต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ลูกค้าทราบถึงแหล่งที่มาของข้าวว่ามาจากแปลงปลูกใดและจากสถานที่ผลิตใดนั้น มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากข้าวและการเลือกเมนูอาหารของผู้บริโภคญี่ปุ่นมาก

 เนื่องจากคนญี่ปุ่นมักมีความรู้สึกว่าข้าวของญี่ปุ่นย่อมมีคุณภาพดีกว่าข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้ผู้ผลิตสินค้าที่ทำมาจากข้าวมีโอกาสหันกลับไปใช้ข้าวญี่ปุ่นแทนการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ส่งออกข้าวต้องได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

 สำหรับกฎหมายตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) สินค้าข้าว และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวที่ผลิตภายในประเทศของญี่ปุ่น กำหนดให้ต้องสร้างและเก็บรักษาการบันทึกข้อมูลสินค้าข้าวมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 และนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป ต้องแสดงข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้า โดยระบุไว้บนหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ กรณีภัตตาคารหรือร้านอาหารต้องแสดงข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้าไว้บนรายการเมนู หรือภายในร้าน หวังสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคต่อความสามารถในการเรียกคืนสินค้ากรณีมีปัญหา และคาดว่าจะกำหนดให้นำระบบตรวจสอบย้อนกลับไปใช้กับสินค้าอาหารชนิดอื่นๆ ที่ผลิตในญี่ปุ่นต่อไปในอนาคต