ข่าว

ผวาการสู้รบ..อยู่ไม่ห่าง"บังเกอร์"

ผวาการสู้รบ..อยู่ไม่ห่าง"บังเกอร์"

14 ก.พ. 2554

แม้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบตามตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา จะคลี่คลายลงไปมากแล้ว ชาวบ้านที่ศูนย์อพยพต่างทยอยเดินทางกลับบ้าน เพื่อใช้ชีวิตตามปกติ ทว่าความหวาดผวายังคงฝังลึกอยู่ในจิตใจของพวกเขา บางรายถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับ

รู้สึกตื่นตระหนกหวาดกลัว ยามเมื่อได้ยินเสียงคล้ายระเบิด ทุกคนต่างพากันวิ่งหนีลงหลุมหลบภัยกันจ้าละหวั่น ไม่เว้นแม้แต่ยามปกติกลางวันแสกๆ บางคนยังอาศัยบังเบอร์เป็นที่หลับนอน เพื่อความอุ่นใจ หรือบางรายไม่ยอมอยู่ห่างจากบังเกอร์!!

 “ชาวบ้านยังไม่ไว้ใจสถานการณ์การสู้รบ กลัวจะเกิดการปะทุขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้ บางคนยังมีอาการหวาดผวาไม่กล้าออกไปทำไร่นา หรือเอาวัวออกไปกินหญ้า และพวกเขาบ่นกันว่า ทำไมทางจังหวัดเร่งยุบศูนย์อพยพทั้งหมด” จำนง ถาวร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ บอกถึงความวิตกกังวลของชาวบ้าน

 หลังจากศูนย์อพยพถูกยุบไปแล้ว ชาวบ้านกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ยอมกลับเข้าบ้านเรือนของตนเอง แต่ยังมีชาวบ้านบางส่วนยังหวาดกลัวไม่กล้ากลับบ้าน แต่เลือกไปอาศัยอยู่บ้านญาติ ส่วนบางรายเลือกที่จะเช่าบ้านอยู่ในตัวอำเภอแทน “พงษ์ศักดิ์ คำทรัพย์” ชาวบ้าน ต.เสาธงชัย มาเช่าบ้านหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ในตัวอำเภอ เดือนละ 1,000 บาท โดยเบื้องต้นทำสัญญาเช่าไว้ถึง 3 เดือน เพื่อความปลอดภัย และความสบายใจของสมาชิกครอบครัวกว่า 5 ชีวิต

 พงษ์ศักดิ์ มองว่า สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ยังมีความคลุมเครือ ไม่มีความชัดเจน ไม่รู้ว่าจะมีใครเปิดฉากยิงกันอีกหรือไม่ ขณะที่ยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วงมีผลต่อความสัมพันธ์แนวชายแดนไทยกันอยู่ ซึ่งทางกัมพูชาอาจจะเอาประเด็นของกลุ่มผู้ประท้วงมาเปิดฉากโจมตีอีกก็ได้

 "ทุกวันนี้ผมก็ยังแวะไปที่บ้านเพื่อดูแลความเรียบร้อย แต่ก็ไปไม่นาน เพราะยังกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัย ยิ่งช่วงนี้มีข่าวลือต่างๆ นานาผ่านหูอยู่เสมอ ขณะที่หน่วยงานราชการเอง ก็ไม่มีความชัดเจน หรือบอกประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านได้รับรู้” พงศ์ศักดิ์ กล่าว

 ขณะที่ “สมถวิล วงศ์ฟัก”หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ จนทำให้บ้านทั้งหลังที่สร้างมาด้วยน้ำพักน้ำแรง เก็บหอมรอมริบจนได้เงินแสนมาปลูกบ้านเมื่อ 14 ปีก่อน ถูกไฟไหม้วอดวายทั้งหลัง ทำให้ต้องย้ายพ่อวัยชราไปอยู่กับพี่สาวที่ จ.สุรินทร์ ส่วนตนต้องอาศัยเพื่อนบ้านอยู่จนกว่าบ้านหลังใหม่จะสร้างเสร็จ

 "ฉันยังจำได้ติดตาอยู่เลย พอนึกถึงมันแล้วเจ็บแปลบหัวใจทุกครั้ง มันอึดอัดคับอกคับใจบอกไม่ถูก ฉันกินไม่ได้นอนไม่หลับ แค่เสียงจานข้าวหล่นฉันยังตกใจผวาเลย" สมถวิลบอกเล่าถึงคืนวันที่ไฟแห่งการสู้รบเผาทำลายบ้านของเธอ

 ความหวาดวิตกถึงภัยการสู้รบที่อาจจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้ กำลังลุกลามไปเกือบทุกหมู่บ้านที่เคยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หลังจากพวกเขากลับมาจากศูนย์อพยพก็ยังมีการพูดคุยถึงความหวาดหวั่นที่อาจจะเกิดขึ้นอีก อย่างที่ บ้านโดนเอาว์ ต.รุง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ชาวบ้านต่างพูดคุยกันถึงเรื่องหลุมหลบภัยที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในหมู่บ้าน

 บทเรียนจากการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ชาวบ้านหลายคนไม่มีหลุมหลบภัย มาวันนี้พวกเขาร่วมมือร่วมใจกันขุดหลุมหลบภัยเพิ่มขึ้นมา ด้วยการขุดดินลงไปกว่า 20 เมตร ใช้ไม้ขนาดใหญ่ปิดทับและกลบด้วยถุงทรายอีกชั้น โดยเป็นหลุมหลบภัยเล็กๆ เหล่านี้สามารถลงไปอยู่ได้ 10 คน  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลุมหลบภัยที่พวกเขาทำขึ้นจะไม่ได้แข็งแรง หรือป้องกันระเบิดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สร้างความอุ่นใจให้พวกเขาได้

 “ตอนนี้ทุกคนยังกลัว ครั้นจะไปรอทางหน่วยงานราชการคงไม่ทัน อะไรที่พวกเราทำได้ ก็ทำกันไปก่อน วางแผนทำกันเอง 2 ครอบครัวต่อ 1 หลุม ตอนนี้ชาวบ้าก็เริ่มทำกันได้หลายหลุมแล้ว” ชาวบ้านรายหนึ่งบอกขณะกำลังขุดหลุมหลบภัย

 ด้าน นพ.เจริญศักดิ์ อ่ำกลิ่น จิตแพทย์ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ บอกถึงผลกระทบต่อจิตใจของชาวบ้านหลังเหตุการณ์การสู้รบว่า ขณะนี้ชาวบ้านมีความเครียดอย่างมากกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากสถิติที่รวบรวมได้มีชาวบ้านกว่า 25 เปอร์เซ็นต์จาก 1.6 หมื่นคน หรือประมาณ 4,000 คน ที่มีอาการเครียดกินข้าวไม่ได้นอนไม่หลับ และในช่วงเวลาที่พวกเขาอยู่ที่ศูนย์อพยพก็ช่วยบำบัดด้วยยาคลายเครียด แต่เมื่อคนเหล่านี้กลับมาบ้านน่าจะมีความเครียดมากกว่าปกติ เพราะยังหวาดผวากลัวภัยการสู้รบอยู่ ซึ่งวิธีเยียวยาที่ดีที่สุด นอกจากการบำบัดด้วยยาแล้ว คือการให้ความมั่นใจถึงความปลอดภัยในชีวิตของพวกเขาน่าจะเป็นการดีที่สุด
         ไชยฤทธิ์ เสนาะวาที :เรื่อง         วัชรชัย คล้ายพงษ์ :ภาพ